ครม.ไฟเขียวต่อสัญญา4โครงการท่าเรือแหลมฉบัง-คมนาคม ยิ้ม ต่อขยายคู่ขนานลอยฟ้า-ทางด่วนภูเก็ตผ่านEIAแล้ว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม มีเรื่องสำคัญ 1.รายงานผลการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขวางทางน้ำ ตามมติ ครม. 22 ส.ค. 2560 ที่ให้กระทรวงฯดำเนินการแก้ไขก่อนฤดูฝนปี 2561 โดยกระทรวงพบว่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องแก้ไข 108 แห่ง แบ่งเป็นโครงการของกรมทางหลวง 100 แห่ง ดำเนินการแล้ว 24 แห่ง และของกรมทางหลวงชนบทอีก 8 แห่ง ได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

​ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ประเด็นถัดมา คือ การเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการท่าเทียบเรือสินค้ากอง A และท่าเทียบเรือตู้สินค้า B2-B4 บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ให้มีผลบังคับใช้ต่อไปตามสัญญา สืบเนื่องจากมติ ครม.เมื่อปี 2553 ให้กระทรวงฯตรวจสอบความถูกต้องกรณีที่ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโครงการท่าเทียบเรือในบริเวณท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 10 โครงการ

พบว่ามี 7 โครงการ ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2535) ต้องนำกลับมาศึกษาใหม่ ต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 และยกเลิกฉบับปี 2535 ไป ทำให้เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 72 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 จึงเสนอ 4 โครงการนี้เสนอให้พิจารณาต่อสัญญาให้มีผลต่อเนื่องจนสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากรัฐจะได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราขั้นต่ำ 12% ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ และตามมาตรา 72 แต่ละโครงการจะต้องมีความต่อเนื่อง

​ส่วนอีก 3 โครงการที่ยังไม่เสนอนั้น มี 1 โครงการที่ยังติดประเด็นฟ้องร้องระหว่างรัฐกับเอกชนอยู่ อีก 2 โครงการ คณะกรรมการตามมาตรา 72 เห็นว่าระยะเวลาสิ้นสุดสัญญายังอีกนาน ประกอบกับผลตอบแทนยังไม่ถึงขั้นต่ำที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยระบุไว้ที่ 12% ยังอยู่ในกระบวนการเจรจาอยู่ แต่ในอนาคตอาจจะเสนอ ครม.ให้ยุติสัญญา ซึ่งจะไม่กระทบกับการดำเนินงานของท่าเรือแต่อย่างใด และไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ด้วย

​นายไพรินทร์กล่าวอีกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รายงานในที่ประชุมครม. ว่า มี 2 โครงการสำคัญที่ผ่านการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว คือ 1. โครงการส่วนต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ระยะทาง 30 กม. เงินลงทุน 6,000-7,000 ล้านบาท มีกรมทางหลวงเป็นเจ้าของโครงการ ต่อไปจะขอบรรจุเพื่ออนุมัติในงบประมาณปี 2562 โดยคาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปีและ 2. ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. เงินลงทุน 13,916 ล้านบาท มีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นเจ้าของโครงการ ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP