แนวโน้มปี’67 บริษัทกว่าครึ่งจ้างพนักงานเพิ่ม รักษาคนโดยเพิ่มเงินเดือน

พนักงาน
Photo: JobsDB

จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) เผยผลสำรวจตลาดแรงงานไทยประจำปี 2567 ตลาดงานสดใส บริษัทกว่าครึ่งจ้างพนักงานเพิ่ม จ่ายค่าตอบแทนเพิ่มมัดใจคนทำงาน

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 JobsDB by SEEK เผยผลรายงานการจ้างงาน ค่าตอบแทน และสวัสดิการประจำปี 2567 ชี้แนวโน้มตลาดแรงงานยังคงเทรนด์ Work-life Balance มีการจ้างงานพนักงานตามสัญญาจ้าง หรือพนักงานชั่วคราวแบบเต็มเวลาเพิ่มขึ้น ขณะที่ตำแหน่งมาแรงได้แก่ ธุรการ ทรัพยากรบุคคล บัญชี ด้านบริษัทให้ความสำคัญกับการรักษาพนักงาน จ่ายค่าตอบแทน และสวัสดิการสอดคล้องอัตราเงินเฟ้อของประเทศ

นางดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ JobsDB by SEEK เผยว่า รายงานการจ้างงาน ค่าตอบแทน และสวัสดิการประจำปี 2567 เป็นการรวบรวมข้อมูลจาก 685 บริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรมและตำแหน่งงานในประเทศไทย

JobsDB by SEEK สำรวจและพบว่าแนวโน้มการจ้างงานในปี 2567 ยังคงอยู่ในเทรนด์ชีวิตแบบวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล ที่เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน รวมถึงการทำงานระยะไกล โดยร้อยละ 54 ของผู้ประกอบการมั่นใจว่าในครึ่งปีแรกตลาดงานจะมีความคึกคัก อันเนื่องมาจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ และการหางานเชิงรุกของผู้สมัครงาน

ดวงพร พรหมอ่อน
ดวงพร พรหมอ่อน

รูปแบบการจ้างงานมาแรง

ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทร้อยละ 99 มีการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 คน โดยร้อยละ 97 เป็นพนักงานประจำแบบเต็มเวลา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างบุคลากรที่มีความมั่นคงและทำงานในระยะยาว

Advertisment

ลำดับถัดมาร้อยละ 36 จะเป็นพนักงานตามสัญญาจ้าง หรือพนักงานชั่วคราวแบบเต็มเวลา เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดตารางเวลา ต้นทุนด้านสวัสดิการ ปริมาณงาน ทักษะ ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้คนที่ต้องการความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว (Work-life Balance)

“จุดที่น่าสนใจคือพนักงานตามสัญญาจ้าง หรือพนักงานชั่วคราวแบบเต็มเวลา ได้รับการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากธุรกิจทุกขนาด คิดเป็นร้อยละ 17 ในธุรกิจขนาดเล็ก ร้อยละ 22 ในธุรกิจขนาดกลาง และร้อยละ 20 ในธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่ามาจากเหตุผลข้างต้น”

ผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่องในปี 2566

ตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการสูง

ภาพรวมการจ้างงานในปี 2566 ผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบางตำแหน่งงานที่มีความต้องการจ้างงานสูงในธุรกิจยุคปัจจุบัน ดังนี้

Advertisment
  • อันดับหนึ่ง ตำแหน่งธุรการ ทรัพยากรบุคคล และตำแหน่งบัญชี ร้อยละ 42
  • อันดับสอง ตำแหน่งการขาย และพัฒนาธุรกิจ ร้อยละ 42
  • อันดับสาม ตำแหน่งการตลาด และการสร้างแบรนด์ ร้อยละ 24
  • อันดับสี่ ตำแหน่งวิศวกร ร้อยละ 20

อันดับการจ้างงานพนักงานประจำเเบบเต็มเวลา

อัตราการลดจำนวนคน

ส่วนการลดจำนวนพนักงานในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 19 โดยร้อยละ 13 เป็นพนักงานประจำแบบเต็มเวลา ในตำแหน่งการขาย/พัฒนาธุรกิจ ตำแหน่งธุรการ/ทรัพยากรบุคคล ตำแหน่งการบริการลูกค้า ตำแหน่งบัญชีและตำแหน่งการตลาด/การสร้างแบรนด์ ส่วนพนักงานตามสัญญาจ้าง หรือพนักงานชั่วคราวแบบเต็มเวลา คิดเป็นร้อยละ 7 โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงมีอัตราการลดสูงสุด คาดว่ามาจากการปรับโครงสร้างแผนก การลดขนาดและต้องการผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น

ปี’67 องค์กรร้อยละ 51 จ้างงานเพิ่ม

ในปี 2567 ผลการสำรวจพบว่า บริษัททุกขนาดร้อยละ 51 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนพนักงาน โดยพนักงานตามสัญญาจ้างและพนักงานชั่วคราวยังคงมีความสำคัญ และเป็นที่ต้องการควบคู่ไปกับพนักงานประจำ แต่ละองค์กรคำนึงถึงเป้าหมายทางธุรกิจเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจ การจัดการจำนวนพนักงานอย่างเหมาะสม รวมถึงการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน

ส่วนบริษัทขนาดเล็กร้อยละ 54 ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนพนักงาน เนื่องจากมีความมั่นใจในโอกาสการเติบโตและตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน บริษัทขนาดกลาง ร้อยละ 59 แม้จะไม่มีแนวโน้มเพิ่มพนักงาน แต่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาพนักงาน เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยไม่ลดขนาดหรือหยุดชะงัก

อิทธิพลส่งผลพนักงานอยู่ต่อ

นางดวงพรอธิบายว่า ค่าจ้างเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพนักงาน ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อส่งผลต่อกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการพนักงาน แต่ผู้ประกอบการร้อยละ 56 ก็ใช้ตัวชี้วัดด้านเงินเดือนในการรักษาพนักงานไว้

ตามมาด้วยการเพิ่มหรือปรับสวัสดิการใหม่ที่ร้อยละ 52 รวมถึงการประเมินแนวทางหรือนโยบายการจ่ายเงิน การเปรียบเทียบสวัสดิการ การพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างการจ่ายเงินเดือน การใช้อัตราเงินเฟ้อในการคำนวณปรับเงินเดือน

ซี่งจากการสำรวจพบจุดที่น่าสนใจว่า ร้อยละ 24 ของผู้ประกอบการคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อในการคำนวณส่วนเพิ่ม และผู้ประกอบการเกือบทุกรายอ้างว่าอัตราที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นสอดคล้องหรือสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

พนักงานได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น

จากการฟื้นตัวต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทส่วนใหญ่ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.69 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของประเทศในปี 2565 ทำให้พนักงานได้เงินเดือนครอบคลุมในส่วนที่ต้องเสียไปและยังได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

ส่วนการประเมินโบนัสตามผลการปฏิบัติงานในปี 2566 มีค่าเฉลี่ยการจ่ายโบนัสอยู่ที่ 1.5 เดือน โดยร้อยละ 72 ของบริษัทมีการอธิบายวิธีการคำนวณการจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ประกอบการและพนักงานในการการเปิดเผยอย่างโปร่งใส ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจและอนาคตที่ดีกำลังเกิดขึ้นในตลาดแรงงานของไทย