แก้วน้ำกันสำลัก นวัตกรรมช่วยผู้สูงวัย-ผู้ป่วยระบบประสาท

คนเราไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดล้วน “สำลัก” น้ำ และอาหารกันได้ แต่สำหรับผู้สูงอายุ ผู้มีอาการกล้ามเนื้อคออ่อนแรง ผู้ป่วยระบบประสาทที่กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน เช่น คนไข้โรคพาร์กินสัน และผู้มีภาวะกลืนยาก เพราะการสำลักในผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยโรคดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะปอดบวม ปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสโลหิต จนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในที่สุด

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงคิดค้นนวัตกรรมแก้วน้ำกันสำลักขึ้นมา

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ

เพราะปัญหาการสำลักในผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคระบบประสาทมีปัญหาเรื่องการกลืนยาก และมีความเสี่ยงที่จะสำลักสูง จนแพทย์วินิจฉัยว่าควรถึงจุดที่ควรใส่สายให้อาหารทางจมูก หรือเจาะหน้าท้องให้อาหารได้แล้ว แต่ครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่กลัวการทำแบบนี้ และมักให้เหตุผลว่าสงสารผู้สูงวัย แต่ความสงสารนี้นำมาซึ่งความเสี่ยงที่สูงมาก ๆ

เพราะปัญหาหนึ่งของผู้สูงวัยคือการกลืนไม่หมด มีการตกค้างของเศษอาหารในช่องปาก ยกตัวอย่าง อาหารหนึ่งคำ จะมีทั้งข้าว และกับข้าว ซึ่งผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยอาจกลืนให้หมดไม่ได้ในครั้งเดียว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ดูแลบอกผู้ป่วยกลืนซ้ำรอบที่ 2 หรือบางคนอาจต้องกลืนซ้ำเป็นรอบที่ 3 เพื่อกลืนอาหารให้หมด

นอกจากนี้ ผู้ดูแลยังต้องตรวจสอบในช่องปากผู้ป่วยทุกครั้งด้วยว่ามีเศษอาหารหลงเหลืออยู่หรือไม่ เพราะหากมีเศษอาหารหลงเหลืออยู่ในช่องปาก จะทำให้ผู้ป่วยสำลักได้ในภายหลัง และการสำลักภายหลัง (Delay Aspiration) อาจเกิดเพียงไม่กี่นาทีหลังจากการกลืนอาหาร แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ภายหลังการรับประทานอาหารในช่วง 1 ชั่วโมงได้เช่นกัน

Advertisment

“ศ.นพ.รุ่งโรจน์” อธิบายต่อว่า คล้าย ๆ กลืนอาหารจนหมดแล้ว แต่จริง ๆ ยังแอบมีเศษอาหารหลงติดอยู่ในช่องปาก เมื่อผู้ป่วยนอนหงาย เศษอาหารก็จะตกลงมา ทำให้มีอาการไอ และสำลักตามมา

นอกจากนี้ยังมีอาการสำลักเงียบ (Silence Aspiration) หมายถึงการสำลักแบบไม่มีอาการไอ ไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เศษอาหารเล็ก ๆ หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้ไหลลงในหลอดลมเรียบร้อย จนเป็นสาเหตุทำให้ปอดติดเชื้อ ปอดบวม ผู้ป่วยจะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็นก็ต่อเมื่อเกิดอาการรุนแรงของภาวะปอดอักเสบ เช่น ไอ มีไข้ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก จนต้องเข้าโรงพยาบาล

“ดังนั้น ผู้ดูแลต้องใจเย็น และเอาใจใส่เป็นพิเศษ ด้วยการชวนผู้ป่วยขยับกล้ามเนื้อบริเวณปาก และคอเป็นประจำ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เช่น บริหารกล้ามเนื้อคอ โดยใช้ท่าก้มเงยศีรษะช้า ๆ ท่าเอียงศีรษะไปทางซ้าย-ขวา แต่ละท่าค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง และบริหารกล้ามเนื้อปาก โดยออกเสียงอา อู อี โอ เอ ค้างไว้เสียงละ 5 วินาที ทำซ้ำเสียงละ 5 ครั้ง เป็นต้น”

ข้อควรแนะนำคือให้ผู้ป่วยก้มหน้าในขณะกลืน (Chin tuck maneuver) เมื่ออาหารเข้าปากแล้ว หรือเคี้ยวให้เสร็จเรียบร้อย และเมื่อจะกลืนต้องก้มคอ คางชิดหน้าอก แล้วค่อยกลืนเพื่อลดโอกาสสำลัก

Advertisment

นอกจากนั้นจะต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมการกินของผู้ป่วย หากผู้ป่วยทำท่าจะลืม ข้อแนะนำที่ให้ก้มหน้าขณะกลืน ผู้ดูแลต้องดันศีรษะผู้ป่วยให้ถูกจังหวะ คางชิดอก แล้วบอกให้ผู้ป่วยกลืนอาหาร จนกลายเป็นที่มาของการออกแบบนวัตกรรมแก้วน้ำกันสำลัก

“ศ.นพ.รุ่งโรจน์” กล่าวว่า แก้วน้ำกันสำลักผลิตด้วยวัสดุประเภทเดียวกับขวดนมของเด็กทารก ดีไซน์เหมือนแก้วน้ำปกติทั่วไป และใช้สีสันสดใสเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้อยากดื่มน้ำมากขึ้น เราไม่ต้องการให้ผู้ใช้ และคนรอบข้างรู้สึกว่าผู้ที่ใช้แก้วน้ำนี้เป็นผู้ป่วย ที่กำลังใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่ จึงดีไซน์ให้แก้วน้ำดูกลมกลืนกับของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถพกไปใช้ที่ไหนก็ได้

โดยทีมวิจัยได้ศึกษา และคำนวณอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นมุมการไหลของน้ำ ปริมาณน้ำ และระยะเวลาการไหลของน้ำจากแก้วมาถึงริมผีปากผู้ใช้งานที่เหมาะสม

ฉะนั้น คุณสมบัติพิเศษของแก้วน้ำจะช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถดื่มน้ำได้โดยไม่ต้องเงยคอ เพราะการที่ผู้สูงวัยไม่ต้องเงยคอ จะช่วยลดการสำลักลงได้มาก ที่สำคัญ แก้วน้ำกันสำลักนี้สามารถควบคุมปริมาณน้ำต่อการดื่มแต่ละครั้งให้ไม่มากจนเกินไป และกำหนดเวลาในการดื่มให้ไม่เร็วเกินไปได้ ด้วยปริมาณการดื่มที่เหมาะสม มุมที่เหมาะสม ท่าดื่มที่เหมาะสม เวลาดื่มที่ไม่เร็วจนเกินไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยสำลักน้อยลง

“ศ.นพ.รุ่งโรจน์” กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ แก้วน้ำกันสำลักมีดีไซน์พิเศษเพื่อช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันด้วย หูของแก้วน้ำมีลักษณะนูนขึ้นมา เพื่อช่วยคนไข้พาร์กินสันที่มีภาวะเกร็งกำมือได้ไม่สุด สามารถจับแก้วน้ำได้ถนัด มั่นคง และมั่นใจในการดื่มน้ำมากยิ่งขึ้น

เพราะคนไข้พาร์กินสันบางรายที่มีอาการเกร็ง ช้า สั่น ควรกินยาโรคพาร์กินสันก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อยาออกฤทธิ์ดี คนไข้จะมีอาการสั่นน้อยลง เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีเกือบเป็นปกติ ลดโอกาสการสำลักลงได้

ปัจจุบันแก้วน้ำกันสำลักยังเป็นต้นแบบ (Prototype) ผ่านการวิจัยขั้นแรก และกำลังอยู่ในช่วงการวิจัยทดสอบ (Testing) กับผู้ใช้งานจริงจำนวนมาก ทั้งคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาล และคนไข้ที่นำแก้วน้ำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการติดเครื่องเซ็นเซอร์จับพฤติกรรมขณะดื่มน้ำไว้

เพราะต้องการรู้ว่าเมื่อผู้ใช้ได้ดื่มน้ำผ่านแก้วน้ำนี้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่มีแพทย์ หรือพยาบาลคอยควบคุมดูแลแล้ว แก้วน้ำนี้จะสามารถลดการสำลักได้ในระดับใด โดยจะประมวลผลการใช้งานจริงทั้งหมดนี้ เพื่อนำมาพัฒนาดีไซน์ที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด แล้วจึงต่อยอดการผลิตในระดับโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป

สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบวิจัยแก้วน้ำกันสำลัก สามารถติดต่อที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึกผู้สูงอายุ หรือตึก สธ. ชั้น 7 โทร 0-2256-4000 ต่อ 70702-3 โทรสาร 0-2256-4000 ต่อ 70704 หรือ www.chulapd.org