พาณิชย์ไทย-ซาอุฯ MOU ผลักดันสินค้า-บริการ ดันยอดส่งออกเพิ่ม

“ภูมิธรรม” จับมือ ดร.มาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย ลงนาม MOU ผลักดันสินค้า-บริการ ดันยอดส่งออกเพิ่มขึ้น

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือและพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานการค้าต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ว่าด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน ร่วมกับ ดร.มาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี (H.E. Majed Bin Abdullah Alkassabi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ค. 2567 นี้ ว่า เป็นความคืบหน้าที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมผลักดันการค้าระหว่างกัน พร้อมกับเป็นการเปิดโอกาสใหม่ใน เจรจาและข้อตกลงอื่น ๆ ด้วย

ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทยและเป็นประตูสำคัญสู่ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป และไทยมีภูมิรัฐศาสตร์อยู่ในจุดศูนย์กลางของเอเชีย ซึ่งไทยมีความพร้อมด้านอาหารฮาลาล และสินค้าเกษตร สามารถเป็นแหล่งมั่นคงทางอาหารให้แก่ซาอุดีอาระเบียได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ทั้ง 2 ประเทศเกิดการค้าร่วมกันและผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างการเพิ่มมากขึ้น

“ถือเป็นตลาดใหม่ที่เราสนใจ เชื่อว่าจะเพิ่มตลาดส่งออกได้มากขึ้น และบรรยากาศการหารือเป็นไปในทิศทางที่ดีมาก เชื่อว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี จากนี้คณะทำงานจะกลับไปคุยกันให้คืบหน้าเป็นรูปธรรมทันที ซึ่งทางซาอุดีฯอยากร่วมมือกับเราทั้งในสินค้าเกษตร ธุรกิจบริการทางการแพทย์และการท่องเที่ยว”

Advertisment

นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนนักธุรกิจ ภาคเอกชนซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญของไทย อาทิ งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair (อัญมณีและเครื่องประดับ) งาน STYLE (สินค้ากลุ่ม lifestyle) และงาน THAIFEX-Anuga Asia (อาหารและเครื่องดื่ม) เป็นต้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ซาอุดีอาระเบียเองให้การสนับสนุนข้าวไทยมาโดยตลาด ซึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นอันดับ 5 ของตลาดส่งออกข้าวไทยในตะวันออกกลาง ซึ่งแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 15,000-30,000 ตัน และไทยมีข้าวชนิดที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index : GI) ต่ำ เหมาะสำหรับคนรักษาสุขภาพ จากนี้จะทั้ง 2 ประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าการลงทุน และผลักดัน SMEs มากขึ้น

ด้านฝ่ายซาอุดีอาระเบียเอง ให้ความสำคัญกับไทยและยินดีที่จะร่วมมือในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น และเชิญชวนให้นายภูมิธรรมและคณะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อสนับสนุนการเจรจาการค้าให้ประสบความสำเร็จต่อไป

โดยภาคเอกชนซาอุดีฯที่เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจมีจำนวนกว่า 90 บริษัท ในภาคธุรกิจสำคัญ อาทิ เกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน อสังหาริมทรัพย์ เภสัชกรรม สุขภาพและบริการทางการแพทย์ การก่อสร้าง เทคโนโลยี การท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

Advertisment

อย่างไรก็ดี ซาอุดีอาระเบียเป็น 1 ใน 10 ประเทศยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาลไทย การเดินทางมาเยือนของซาอุฯครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า โดยทางซาอุดีฯได้นำภาคเอกชนกว่า 90 บริษัทมาเพื่อเจรจาจับคู่ธุรกิจด้วย

ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทย และอันดับที่ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2566 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 8,796.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (305,738.80 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนการค้าร้อยละ 1.53 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก

โดยไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 2,667.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (92,076.43 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย6,128.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (213,662.37 ล้านบาท)

สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันสำเร็จรูป