แม่ฟ้าหลวง กิจการเพื่อสังคมขั้นก้าวหน้า-การศึกษา บนความท้าทายใหม่

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล อัพเดตกิจการเพื่อสังคมขั้นก้าวหน้า กับความท้าทายใหม่ ทำอย่างไรกับ 3 ภารกิจ ที่ต้องสร้างสมดุล ระหว่างกิจการที่เลี้ยงตัวเองได้-กลุ่มที่ต้องขาดทุน และ “กลุ่มเดอะแบก” ที่ต้องมีกำไร และไปหล่อเลี้ยงกิจการที่ “ขาดทุนคือกำไร”

ภารกิจใหม่-ภารกิจใหญ่ ที่อยู่บนบ่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังก้าวผ่านครึ่งศตวรรษ การก่อตั้ง เดินหน้าคู่ขนานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในห้วงที่ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สี่

เป็นภารกิจที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ กับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ตั้งรับความมั่นคงด้านอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะเดียวกันก็กลับสู่รากแท้ของมูลนิธิ คือการรักษาพัฒนาต่อยอดเครือข่ายชุมชนชาวบ้าน และพันธมิตรธุรกิจ ในกิจการเพื่อสังคม

“แบรนด์ดอยตุง” กว่าจะเป็นธุรกิจจากดอยสูง-สู่พื้นราบ และกำลังจะก้าวสู่การเป็นพันธมิตรกับกิจการใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ต้องเปลี่ยนผ่าน การเข็นครกขึ้นภูเขา อย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมทริปขึ้นดอยตุง ครั้งล่าสุด กับ “ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

Advertisment

จากรากฐานการศึกษา สู่ธุรกิจใหม่

หัวใจการพัฒนาเพื่อสร้างรายได้อนาคต ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงปักหมุดคือ “ภารกิจแห่งอนาคต ของดอยตุง เราต้องการสร้างทักษะการสื่อสารให้กับเยาวชนในพื้นที่ ได้เติมในสิ่งที่เขาขาด และเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการของสังคมยุคใหม่ นำไปสู่การพัฒนาสร้างรายได้ให้สูงกว่าที่เป็นอยู่…จะทำให้ได้มากกว่าให้คนอ่านออก  เขียนได้”

การเรียนแบบมอนเตสซอรี่ โรงเรียนห้วยไร่สามัคคี

ม.ล.ดิศปนัดดา เปิดการสนทนา หลังพาไปพบกับกลุ่มเยาวชนในโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สนับสนุนครูอัตราจ้างและหาทุนให้เด็กได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และร่วมพัฒนาหลักสูตร “มอนเตสซอรี่” มากกว่าให้เด็กเป็นศูนย์กลาง คือส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิต-ทักษะสังคม และการประกอบอาชีพ

คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ช่วยเสริมว่า โรงเรียนแบบมอนเตสซอรี่ ที่ห้วยไร่สามัคคี บนดอยตุง สอนทั้งเรื่องรูปธรรม-นามธรรม เน้น “การเรียนรู้” ให้เขาเรียน+รู้ มากกว่า “เรียนหนังสือท่องจำ” เป็นการศึกษาที่เปิดหน้าต่าง-ประตูให้เขามีโอกาสในสังคม ทำให้เขารู้จักตัวเอง มีความกล้าที่จะฝัน และทำตามความฝันของตัวเอง ให้เขาเรียนรู้ พอจบออกไปทำงานได้เลย ถ้าไม่เรียนต่อ

“เราอยากให้คนดอยตุง นักเรียนที่มาจากหลายชนเผ่า ได้เป็นพลเมืองดี ที่มีความหมายมากกว่าคนดี เพราะถ้าแค่มีคนดีอาจผลักดันอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราฝึกทักษะให้เขาเป็นพลเมืองดี รู้เข้าใจระบบสังคม การปกครอง ประชาธิปไตย พลเมืองดีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้” คุณหญิงพวงร้อย สรุป

Advertisment

โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี

ปรับตัว-พลิกแพลง เปลี่ยนแปลงคล่องตัว

กิจการธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีรากฐานจากการศึกษาในพื้นที่ ถูกเคลื่อนเข้าสู่การร่วมพัฒนา “แบรนด์ดอยตุง” ที่ร่วมกับชาวบ้านเกือบ 30 หมู่บ้าน หลากหลายชนเผ่า ทั้งการท่องเที่ยว คาเฟ่ อาหารแปรรูป หัตถกรรม และการเกษตร

ม.ล.ดิศปนัดดา หรือคุณดุ๊ก เล่าว่า “กิจการเพื่อสังคมของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เราเปลี่ยนแปลงไปมากยุคหลังโควิด-19 เราเจอความไม่แน่นอน เจอจุดอ่อน และเราได้เรียนรู้ และปรับตัว”

“เราอยากให้ทุกธุรกิจของเรามีผลประกอบการเป็นบวก หรือกำไร เรามีธง มีดาวเหนือที่ชัดเจน หัวใจของการจัดการของเราตอนนี้คือ Agility-ต้องมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลง พลิกแพลงธุรกิจได้ไว แต่อยู่ภายใต้ข้อมูลที่แม่นยำ เน้นการฟังข้อมูลจากข้างล่าง ก่อนสั่งการจากข้างบน”

คุณดุ๊ก เล่าถึงความตั้งใจที่จะผลักดันให้ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ก้าวหน้าให้ได้ด้วยหลายมิติ “เราคิดว่าธุรกิจเราทุกตัว อาจไม่จำเป็นต้องสร้างกำไรทุกยูนิต บางยูนิตเราต้องทำใจยอมรับให้ขาดทุนได้ แต่ต้องช่วยให้ชาวบ้านได้กำไร เขาอยู่ได้ แต่เราก็ต้องจัดการให้ชัดว่า อะไรที่เราจงใจขาดทุนได้ อะไรที่เลี้ยงตัวเองได้ กิจที่ต้องเป็น “เดอะแบก” ระดับซูเปอร์ เช่น กลุ่มอาหาร คาเฟ่ พวกนี้ต้องมีกำไร”

ต่อยอดธุรกิจใหม่ ในดีมานด์ของโลก

กิจการที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ลงมือทำมานาน จากฐานทรัพยากรที่ลงแรง-เป็นจุดแข็งที่สั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน คือการปลูกป่า-ปลูกคน และเก็บ “อากาศ-ดอกผลจากป่า” สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ คือ การขาย คาร์บอนเครดิต Carbon credits ให้กับพันธมิตรธุรกิจเอกชนยักษใหญ่ 20 แห่ง หรือโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

คุณดุ๊ก อัพเดตผลการทำงานว่า ตอนนี้ในแง่สเกลได้ระดับแล้ว เรามีพื้นที่ 192,646 ไร่ ร่วมกับป่าชุมชน 127 แห่ง มียอดเงินในกองทุนกว่า 66,400,107 บาท “เรากำลังต้องการหาพันธมิตรในธุรกิจต่างชาติด้วย เชื่อว่าธุรกิจนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน ได้ดูแลสิ่งแวดล้อม และนี่คือเป้าหมายการสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยฐานความรู้และข้อมูล”

อาจกล่าวได้ว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นเจ้าตลาดคาร์บอนเครดิต ที่ยังไม่มีคู่แข่งมากนัก และในอนาคตยังมีดีมานด์อีกมาก

“พื้นที่ดอยตุง กำลังพัฒนาคู่ขนานระหว่างการเป็นฐานคาร์บอนเครดิต เรากำลังต่อยอดเรื่อง Biodiversity Credit-ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของความสมบูรณ์พื้นที่ป่า เราเตรียมทำข้อข้อมูลพืช สัตว์ทั้งหมด เพื่อเตรียมขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการหลายชนิด”

ม.ล.ดิศปนัดดา พาทีมนักข่าว ขึ้นไปบนดอยช้างมูบ เพื่อพบกับ มาติน แวนดีบุลต์ นักพฤกษศาสตร์และนิเวศวิทยา และนายทักษ์ดนัย เผ่าต๊ะใจ เจ้าหน้าที่โครงการ ในนามของ “ทีมปรับป่า” ได้ร่วมกันอธิบายเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพผืนป่าดอยตุง

ทีมปรับป่า ดอยตุง แม่ฟ้าหลวง
ทีมปรับป่า ดอยตุง

เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ร่วมกันอธิบายตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำข้อมูลไว้ อาทิ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 40 ชนิด แมลงบกและแมลงน้ำที่เป็นตัวชี้วัดความสะอาดของน้ำ 850 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 27 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 58 ชนิด

ในแหล่งน้ำมีปลา 31 ชนิด รวมทั้งสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิด คือ เลียงผา ลิ่น แมวดาว บินตุรง/หมีขอ และหมูหริ่ง และมีปลาชนิดใหม่ของโลก ที่อยู่ระหว่างการจัดทำชื่อ

นอกจากนี้ยังมีพืชหายาก อีก 17 ชนิด พันธุ์ไม้ทั้งหมด 1,379 ชนิด และเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก จำนวน 9 ชนิด และเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่รอการรับรอง 2 ชนิด

ซีอีโอมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ บอกถึงความตั้งใจในการปรับตัวขององค์กร เพื่อเปลี่ยนผ่านด้วยความคล่องตัว ว่าเขาจะทบทวนความคิดตลอดในการทำงานว่า อะไร-กิจการแบบไหน ที่พ่อ (ม.ร.ว.ดิศนัดดา) จะไม่ทำอย่างเด็ดขาด และเมื่อเจอปัญหาถ้าเป็นพ่อ เขาจะทำแบบไหน และแก้ปัญหาอย่างไร

“ผมโชคดีที่มีคนที่เป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นคนใกล้ตัว อะไรที่จะทำให้พ่อเสียชื่อ ผมไม่ทำเด็ดขาด”