13 ต.ค. วันหลอดเลือดอุดตันโลก สาเหตุเสียชีวิต 1 ใน 4 ทั่วโลก

Blood Clot
ภาพจาก: Rabbit’s Tale PR

ทั่วโลกปล่อยแคมเปญ วันหลอดเลือดอุดตันโลก (WTD) สร้างการตระหนักรู้ร่วมกันป้องกัน ‘ลิ่มเลือด’ ติดต่อกันเป็นปีที่ 9

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day (WTD) โดยลิ่มเลือด (blood clots) คือวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี โดยหลอดเลือดอุดตันเป็นสาเหตุพื้นฐานของโรคร้ายต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism: VTE) โดยการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดก่อตัวและไปอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบริเวณขาที่เรียกว่า “ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (deep vein thrombosis: DVT)” และสามารถเดินทางไปในกระแสแล้วไปติดบริเวณปอดเกิดเป็น “ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism: PE)”

ด้วยเหตุนี้ สมาคมระหว่างประเทศว่าด้วยหลอดเลือดอุดตันและระบบห้ามเลือด (International Society on Thrombosis and Haemostasis: ISTH) จึงรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ทั่วโลกเกี่ยวกับการเกิด ‘ลิ่มเลือด’ ที่ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตของประชากรกว่า 1 ใน 4 ทั่วโลก ติดต่อกันเป็นปีที่ 9 ภายใต้แนวคิด “Eyes Open to Thrombosis” ที่มุ่งนำเสนอและแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวของผู้ป่วยและผู้รอดชีวิตที่มีประสบการณ์ตรงจากโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ของภาวะที่ถูกมองข้าม บนความร่วมมือและช่วยเหลือขององค์กรพันธมิตรกว่า 3,000 องค์กร และการจัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ร่วมกันกว่า 10,000 กิจกรรมทั่วโลก

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตัน

ศ.พญ.เบเวอร์ลี ฮันท์ (Beverley Hunt, MD, OBE) ประธานคณะกรรมการของ The World Thrombosis Day กล่าวว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันมักถูกมองข้ามด้วยลักษณะอาการของโรคคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์และประชาชนทั่วไปจะต้องตระหนักถึงสัญญาณ อาการ และปัจจัยเสี่ยง เพื่อสร้างการตระหนักรู้ว่าลิ่มเลือดควรจะต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด

สำหรับสาเหตุสำคัญที่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดและโรคหลอดเลือดอุดตัน ภายใต้การรณรงค์ในวันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day (WTD) มีดังนี้

  • ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตัวในโรงพยาบาล (hospital associated) กว่าร้อยละ 50 ของโรคหลอดเลือดอุดตัน เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
  • ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือดที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง (cancer associated) ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดร้ายแรงถึงสี่เท่า จากผลของการรักษามะเร็ง การผ่าตัด และเคมีบำบัด
  • ปัจจัยการเกิดที่เกี่ยวข้องกับเพศ (gender associated) เพศชายมีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดมากกว่าเพศหญิง และเมื่อเกิดจะมีแนวโน้มเกิดซ้ำมากกว่าเพศหญิงอีกด้วย ในขณะที่เพศหญิงจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน ตามพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดแบบผสม หรือฮอร์โมน หรือระหว่างตั้งครรภ์ และ 6 สัปดาห์หลังคลอดจะมีความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดมากยิ่งขึ้น
  • ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต (mental health) พบว่า หากผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีโรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย (post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) จะมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันหลังจากการวินิจฉัยลิ่มเลือด

การรณรงค์ของวันหลอดเลือดอุดตันโลก (WTD) มีจุดประสงค์เพื่อให้บุคลากรเฝ้าระวังการอาการอย่างจริงจัง อาทิ ประเมินความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดอุดตันเมื่อบุคคลเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปเรียกร้องการประเมินดังกล่าวทุกครั้ง เมื่อจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน

เคล็ดลับป้องกัน

การรณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลก (WTD) ได้แบ่งปันเคล็ดลับสำคัญเพื่อป้องกันการเกิด ‘ลิ่มเลือด’ ดังนี้

ตระหนักรู้สัญญาณและอาการของลิ่มเลือด เช่น เมื่อเกิดอาการบวมแดงหรือปวดขาโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจนำมาสู่สัญญาณอันตราย หากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism) จะทำให้หายใจลำบาก หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก และไอเป็นเลือดในบางครั้ง

ร้องขอการประเมินความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด เมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยทุกคนควรขอรับการประเมินดังกล่าว ซึ่งจะเป็นแบบสอบถามที่รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อระบุปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดลิ่มเลือดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน

ขยับร่างกายและดื่มน้ำเมื่อต้องนั่งทำงานบนโต๊ะเป็นระยะเวลานาน โดยตั้งนาฬิกาปลุกไว้ห้านาทีทุก ๆ ชั่วโมง แล้วใช้เวลานั้นลุกขึ้น เดินไปรอบ ๆ เพื่อยืดเส้นยืดสาย ทั้งนี้ การนั่งนิ่งเป็นระยะเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดได้ ในขณะที่การดื่มน้ำในปริมาณมากจะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำและความเข้มข้นของเลือดที่ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดได้

ศ.พญ.ฟลอรา เปย์วานดิ (Flora Peyvandi, MD) ประธานของ ISTH กล่าวว่า ต้องขอบคุณ ศ.พญ.เบเวอร์ลี ฮันท์ และทีมคณะกรรมการที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญแก่กลุ่มผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระดับนานาชาติ ที่มีชื่อเสียงในด้านการเกิดลิ่มเลือด การแข็งตัวของเลือด หลอดเลือด และอายุรศาสตร์ทั่วไป และสาธารณสุข ที่ได้ใช้เวลาและความเชี่ยวชาญ รวมถึงเสนอแนะแนวทางในการผลักดันแคมเปญ ซึ่งส่งผลกระทบถึงผู้คนอีกหลายพันล้านคนบนโลกในแต่ละปี

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับลิ่มเลือดได้ที่ www.worldthrombosisday.org และสามารถติดตามผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้ที่ #WTDay22

World Thrombosis Day (WTD)
ภาพจาก: Rabbit’s Tale PR