ห้องสมุด Google ตอบโจทย์การเรียนรู้ยุคไฮบริด

google ประเทศไทย

ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งเริ่มปรับการเรียนการสอนเข้าสู่รูปแบบไฮบริดผสมผสานมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมกับการเรียนการสอนรูปแบบเดิม ทำให้นักเรียน นักศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนแต่ภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่สามารถเรียนรู้นอกห้องเรียนได้อย่างง่าย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลต่างผลิตคิดค้นนวัตกรรม หรือเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในยุคไฮบริดมากขึ้น

Google ถือเป็นเครื่องมือหลักที่สนับสนุนการเรียนการสอน การค้นคว้า ของคนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีชุดเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ที่มีการเรียนการสอน หรือการทำงานรูปแบบไฮบริดมากขึ้น จึงทำให้ Google ประเทศไทย ดำเนินตามวิสัยทัศน์ “Leave no Thai Behind”

ด้วยการจับมือกับโรงเรียนในประเทศไทย เตรียมความพร้อมนักเรียน และครูผู้สอนในการก้าวเข้าสู่ยุคไฮบริด ที่มุ่งมั่นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และให้นักเรียนทุกคนตระหนักถึงศักยภาพการเรียนรู้โดยปราศจากข้อจำกัดด้านสถานที่ ด้วยการนำ Google for Education มาใช้

google ประเทศไทย

สำหรับ Google for Education เป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์สำหรับครู และนักเรียน ประกอบด้วยชุดเครื่องมือสำคัญ เช่น google classroom การสร้างห้องเรียน ประจำวิชา, gmail สำหรับส่งข้อมูล, google drive สำหรับเก็บข้อมูล ไฟล์เอกสาร รูปภาพต่าง ๆ, google calendar ปฏิทิน,

google docs การทำเอกสาร, google sheet การทำตาราง, google slide การนำเสนอ, google plus การสนทนา, google group การสร้างกลุ่ม, google site การสร้างเว็บไซต์, google form การสร้างฟอร์มแบบสอบถาม การสร้างแบบฝึกหัด ชุดข้อสอบต่าง ๆ และอื่นอีกมาก มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก

“ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย” หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท Google ประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจ และสังคมไทย Google ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการจัดระเบียบข้อมูลของโลก เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล เข้าใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งตัวเอง และสังคม เรามีวิสัยทัศน์ และภารกิจหลักในการสร้างเครื่องมือ ออกแบบรูปแบบการเรียนรู้แก่คนทุกกลุ่ม

ดังนั้น เครื่องมือที่ทาง Google พัฒนาขึ้นนั้นจะเป็นตัวช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ช่วยให้ผู้คนสร้างองค์ความรู้ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม

“ปัจจุบันนักการศึกษา และนักเรียนกว่า 170 ล้านคนทั่วโลกต่างใช้ Google for Education โดยมี Google Classroom เป็นเครื่องมือหลักที่ครบวงจรให้ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองสามารถจัดการบทเรียน และการบ้านร่วมกัน ในปี 2565 Google Classroom ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนด้านการเรียนการสอนกับนักเรียน นักการศึกษา และผู้นำโรงเรียนทั่วโลกกว่า 150 ล้านคน”

นอกจากนั้น Google for Education ยังให้บริการเครื่องมืออื่น ๆ อาทิ Google Docs, Google Sheets, Google Slides และ Google Forms เพื่อเสริมสร้างการทำงานเป็นทีม อีกทั้งให้นักเรียน และครูผู้สอนจัดการการบ้าน และโปรเจ็กต์ร่วมกัน ทั้งยังมีเครื่องมือด้านการสื่อสารอื่น ๆ อาทิ Google Meet, Gmail และ Chat มาช่วยเชื่อมต่อครูผู้สอนและนักเรียนเข้าด้วยกัน

“ดิฉันเชื่อว่าไฮบริดคืออนาคตของการศึกษา หมายความว่าหากในอนาคตเกิดโรคระบาด หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเรียนการสอนในห้องเรียน เราจะต้องตั้งรับ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนเพื่อให้การเรียนไม่หยุดชะงัก ซึ่งปัจจุบันหลายโรงเรียนปรับการเรียนการสอนสู่รูปแบบไฮบริดแล้ว ยกตัวอย่างโรงเรียนในประเทศไทย

อาทิ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย โรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์ กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย ซึ่งต่างก็มีความท้าทาย และก่อให้เกิดประสบการณ์แตกต่างกัน โดยอนาคตคาดว่าโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาอีกหลาย ๆ แห่งจะทยอยเปลี่ยนการเรียนสู่รูปแบบไฮบริดมากขึ้น”

google ประเทศไทย

“ทิพย์ภาภรณ์ สะเดา” รองหัวหน้ากลุ่ม สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง กล่าวว่า โรงเรียนมัธยมวัดนายโรงเป็นโรงเรียนที่มีการบูรณาการภาษาและเทคโนโลยี โดยปี 2556 นำ Google for Education มาใช้

ซึ่งทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาคุณภาพการบริหารและจัดการการเรียนการสอนอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีการจัดห้องเรียนออนไลน์ Google Classroom ควบคู่กับการสอนในชั้นเรียนเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“นอกจากนี้ยังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี โดยมี Chromebook ให้ครู และนักเรียนสามารถยืมเพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนในชั้นเรียน ทำให้นักเรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน”

“ดร.สุมนา ธิกุลวงษ์” ผู้อำนวยการโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย กล่าวว่า ต้องการจะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมในห้องเรียนโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครูผู้สอน เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนก็มองหาเครื่องมือที่ช่วยให้ครูผู้สอนประหยัดเวลาและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น โรงเรียนจึงริเริ่มโครงการนำร่องโดยเริ่มให้ครู และนักเรียนกลุ่มเล็ก ๆ ใช้ Google for Education และ Chromebook ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในห้องเรียน หลังจากวัดผลโดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริคภายใต้คำแนะนำจากนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราพบว่านักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และความคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้นจาก 50/100 เป็น 68/100 ภายในระยะเวลา 3 เดือน

“นอกจากนั้น ครูผู้สอนกว่าร้อยละ 85 สังเกตว่านักเรียนมีพัฒนาการด้านทักษะการทำงานร่วมกัน และครูผู้สอนกว่าร้อยละ 62 ยังเห็นตรงกันว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนักเรียนยังมีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นในการทำกิจกรรม ในห้องเรียนอีกด้วย”

“อรวีร์ รัตนเพียร” ผู้จัดการโรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์ กล่าวว่า โรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์เริ่มใช้ Google for Education ตั้งแต่ปี 2554 และมีการใช้ Chromebook ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เมื่อโรงเรียนปรับเข้าสู่การเรียนการสอนทางไกลในช่วงโรคระบาด จึงต้องการเสริมประสิทธิภาพ และพัฒนาประสบการณ์การเรียนการสอนให้กับนักเรียนและครูผู้สอน

“โรงเรียนใช้ Chrome Education Upgrade ในการพัฒนาศักยภาพและการทำงานให้กับครูผู้สอน ซึ่งมีฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มากมายให้พวกเขาใช้งาน อาทิ เครื่องมือขั้นสูงในการทำงานด้านแอดมิน และด้านความปลอดภัย นอกจากนั้น นักเรียนยังมีทักษะเพิ่มเติมจากการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม”

“ปรัชญากร ฮดมาลี” รองผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย กล่าวว่า นักเรียนสามารถทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ร่วมกันกับนักเรียนญี่ปุ่นจากโรงเรียนในเครือข่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ผ่านโปรเจ็กต์ โดยใช้เครื่องมือ Google for Education เช่น Google Docs ช่วยให้นักเรียนของเราสามารถติดต่อสื่อสาร และทำงานร่วมกับนักเรียนจากทั่วโลก

“จึงทำให้พวกเขาเรียนรู้ภายใต้ความแตกต่าง และเสริมสร้างทรรศนะที่กว้างไกล ที่สำคัญ เครื่องมือดังกล่าวยังช่วยให้ครูผู้สอนสามารถออกแบบหลักสูตร และบทเรียนร่วมกับคุณครูจากโรงเรียนอื่นในเครือข่ายอีกด้วย”