เยาวชนหัวใจดอยคำ ปลูกจิตสำนึกนักพัฒนาเพื่อชุมชน

ดอยคำ

“ดอยคำ” มีวิสัยทัศน์ในการเป็นต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้ศาสตร์พระราชา ที่พัฒนาสร้างสรรค์สินค้าจากชุมชนด้วยคุณภาพระดับโลก เพื่อประโยชน์และความสุขของสังคมโดยรวม ขณะเดียวกันก็ดำเนินงานควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน พร้อมกับปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นนักพัฒนาอาสาแก่เยาวชนไทย

ล่าสุด บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จัดกิจกรรม “เยาวชนหัวใจดอยคำ” ที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการนำเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาร่วมกันทำ “ฝายดอยคำ” อันเป็นไปตามนโยบายการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งยังตั้งเป้าหมายให้เยาวชนที่มีหัวใจจิตอาสาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมไม่ต่ำกว่าปีละ 30 คน

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

“พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า ดอยคำก่อตั้งขึ้นจากแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ในการแก้ไขปัญหา ความทุกข์ยากของประชาชนในภาคเหนือ

เนื่องจากชาวบ้าน และชาวเขาไม่มีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองอย่างยั่งยืน จึงเลือกปลูกฝิ่น ซึ่งถือเป็นยาเสพติดที่รุนแรง ทั้งยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพราะเป็นการทำไร่เลื่อนลอย

พระองค์จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการส่งเสริมปลูกพืชผักเขตหนาว และไม้ผลเขตหนาวชนิดต่าง ๆ ที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกทดแทนฝิ่นได้ผลดี เช่น ถั่วแดงหลวง สตรอว์เบอรี่ กาแฟอราบิกา ต่อมาพืชผลเหล่านี้ได้สู่มือผู้บริโภคในชื่อของผลผลิตจากโครงการหลวงและดอยคำ

จากนั้นในปี 2537 มีการจัดตั้งบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เพื่อดำเนินกิจการในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social business) โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาความกินดีอยู่ดีของเกษตรกร ผู้บริโภค คู่ค้า และพนักงาน

บนพื้นฐานของความเป็นธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีจริยธรรม เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน มุ่งเน้นต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“ดอยคำเชื่อมั่นในเรื่องพัฒนาห่วงโซ่การผลิตที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้มีคุณภาพที่เหมาะสม และเพียงพอที่จะก้าวไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน ตอนนี้เรากำลังมีแนวคิดสร้างศูนย์วิจัย และอยากทำให้เกิดขึ้นในปี 2566 โดยจะมีการสร้างอาคารศูนย์วิจัยภายใต้งบประมาณที่ไม่มาก เพราะอยากทำตามกำลังที่มีไปก่อน จากนั้นค่อย ๆ ขยายผล ซึ่งศูนย์วิจัยจะมีบทบาท 2 ด้าน คือ หนึ่ง ด้านพัฒนาอาหาร สอง ด้านพัฒนาวัตถุดิบทางการเกษตร”

“พิพัฒพงศ์” กล่าวต่อไปว่า ดอยคำเล็งเห็นว่าเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะคนรุ่นใหม่จะมีบทบาทแทนคนรุ่นก่อนต่อไปในอนาคต จึงต้องการการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นนักพัฒนาอาสาเพื่อสังคมให้มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละต่อสังคม และมีจิตสาธารณะ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยกิจกรรมเยาวชนหัวใจดอยคำก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้

ด้วยการพาเยาวชนจากทั้งกรุงเทพฯ 4 คน และในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 18 คน มาร่วมสร้างฝาย ที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมมอบหนังสือรับรองการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคมแก่เยาวชน เป็นการตอบแทนในความเสียสละต่อส่วนรวม

ปกติโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จะร่วมกับชาวบ้าน และหน่วยงานในพื้นที่ทำฝายดอยคำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นฝายจะช่วยในการกักเก็บน้ำให้พื้นดินมีความชุ่มชื้นในช่วงฤดูแล้ง เพราะแหล่งน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และชาวบ้านในชุมชน

จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ อีกทั้งยังช่วยลดความแรงของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำหากมีฝนตกหนักหรือน้ำป่าไหลหลาก เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายแก่ชุมชนและโรงงานหลวงฯ เพราะเมื่อก่อนเป็นฝายชั่วคราว วัสดุที่ใช้ทำฝายเป็นวัสดุธรรมชาติ มีอายุการใช้งาน 1-2 ปี จึงไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดอยคำ

“นอกจากนั้น เรายังตั้งเป้าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ได้เรียนรู้ประโยชน์ของการทำฝายดอยคำ และวางแผนไว้ว่าจะส่งเสริมให้เยาวชนมามีส่วนร่วมทำฝายไม่ต่ำกว่าปีละ 30 คน สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551

สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของ สพฐ. ที่มีกิจกรรมเพื่อสังคม และสาธารณประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่งเสริมให้นักเรียนบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และท้องถิ่นตามความสนใจในลักษณะอาสาสมัคร”

“พิพัฒพงศ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝายดอยคำเป็นฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว จัดอยู่ในประเภทฝายแม้ว เป็นชื่อเรียกโครงการตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับวิศวกรรมแบบพื้นบ้าน เป็นฝายชะลอน้ำที่ทำจากไม้ไผ่ มี 3 ชั้น ใช้ลำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อน ตอกลงดินเรียงเป็นแนวผนังขวางกับร่องน้ำ

โดยให้ผนังด้านข้างสูงกว่าตรงกลาง ปลูกหญ้าแฝกตรงคันดินด้านข้างระหว่างฝายแต่ละชั้น พื้นที่ตรงกลางฝายให้เป็นทางน้ำไหล หญ้าแฝกจะช่วยยึดหน้าดินไว้ให้คงความเป็นคันดิน ทำหน้าที่ชะลอน้ำต่อไปหากไม้ไผ่ผุพังย่อยสลาย

ดอยคำ

ฝายนี้ออกแบบมาเพื่อให้มีความแข็งแรงคงทน และสามารถทำหน้าที่ชะลอน้ำในระยะยาวได้ แม้ว่าไม้ไผ่จะผุพังย่อยสลายไปแล้ว ซึ่งฝายตามแนวพระราชดำริประเภทฝายไม้จะมีฝายอีก 2 รูปแบบที่นิยมสร้างกันคือ ฝายไม้แนวเดียว และฝายคอกหมู

“ฝายไม้แนวเดียว เป็นฝายที่ทำจากไม้ สร้างโดยการปักไม้เสาเป็นระยะ ๆ 0.30 ถึง 0.50 เมตร จากนั้นจะนำไม้มาสอดเรียงในแนวนอนเพื่อให้ยึดติดกัน แล้วใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมาถมด้านหน้าตลอดแนวซึ่งอาจเป็นดินหรือหินก็ได้เพื่อให้เกิดความมั่นคง

ส่วนฝายคอกหมูเป็นฝายลักษณะเดียวกันกับฝายไม้แนวเดียว แต่จะปักไม้เสาเป็นสองแนวห่างกันเท่ากับความสูงของฝาย พร้อมมีการยึดแถวหน้ากับแถวหลังเข้าด้วยกัน ด้วยไม้ในแนวนอนที่ฝังปลายเข้าไปในตลิ่งทั้งสองด้าน ก่อนที่จะนำวัสดุใส่ระหว่างกลาง ซึ่งจะเป็นหิน ดิน หรือวัสดุอื่น ๆ ในพื้นที่ก็ได้”

นับว่าเป็นการสร้างจิตสำนึกนักจิตอาสา เพื่อทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง