เวทีสมัชชาสุขภาพ ส่งต่อยุทธศาสตร์ใช้ BCG แก้จน สู่วาระแห่งชาติ

ดร.กาญจนา วานิชกร
ดร.กาญจนา วานิชกร

เวทีสมัชชาสุขภาพ ส่งต่อยุทธศาสตร์ใช้ BCG แก้จน สู่การเป็นวาระแห่งชาติ นำไทยหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง

วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 สอวช.ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสมัชชาสุขภาพรายประเด็น เพื่อระดมความคิดเห็น การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG : การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน หลังจากที่มีการประชุมโฟกัสกรุ๊ปจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่าย และทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

“หากย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจบีซีจี คนจะยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่หลังจากที่เป็นวาระแห่งชาติ และรัฐบาลสั่งการนโยบายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย และได้นำเข้าหารือเป็นยุทธศาสตร์หลักในการประชุมเอเปค 2022 ที่ผ่านมาด้วย แม้ในรายประเด็นจะแตกต่าง แต่ในบริบทของประเทศไทยจะเห็นว่าเราจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางไม่ได้ ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้

และถึงแม้การแปลงนโยบาย บีซีจี มาสู่การปฏิบัติ อาจจะยังมีการตีความที่แตกต่างกัน แต่หัวใจสำคัญคือการที่เราจะใช้ความเข้มแข็งของพื้นที่เข้ามาเติมเต็มด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับการต่อสู้ความยากจน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของประเทศที่จะทำให้เราหลุดพ้นออกจากกับดักรายได้ปานกลาง จึงเชื่อว่าเวทีสมัชชาจะช่วยสร้างกระบวนการ แนวคิด เครื่องมือใหม่ ๆ ที่เพิ่มโอกาสในการขจัดความยากจน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และเชื่อมไปถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ได้ต่อไป”

ดร.กาญจนากล่าวต่อว่า ในส่วนของ สอวช.ได้มีโอกาสพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจ บีซีจี เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และพบว่าหลังสถานการณ์โควิด ต้องการแนวคิดพัฒนารูปแบบใหม่ โดยนำทั้ง 3 แนวคิด คือเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาประยุกต์ใช้ เพื่อแปลงนโยบายมาสู่การปฏิบัติ โดยใช้ความเข้มแข็งของพื้นที่เติมเต็มด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และความสร้างสรรค์ เพื่อสร้างโอกาสใหม่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เช่นจากการลงพื้นที่และร่วมประชุมกับสมัชชาจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง พลังมวลชนร่วมคิด ร่วมทำ และนำบีซีจี มาผนวกและขยายผลใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางไม่ได้ หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ ดังนั้น เราจึงต้องเร่งสร้างโอกาสและความหวัง เพื่อให้ข้อเสนอต่าง ๆ ที่ได้จากการระดมความคิดเห็นร่วมกันเป็นโยบายที่มีชีวิต ขับเคลื่อนได้ ประชาชนได้ประโยชน์จริง

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ

ด้านนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 15-16 (พ.ศ. 2565-2566) กล่าวว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพมีการรวมกันทั้ง 3 ฝ่ายคือ 1.ภาครัฐ ที่จะประกาศนโยบายสาธารณะ 2.ภาคประชาชน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับประโยชน์จากนโยบายที่รัฐบาลประกาศใช้ และ 3.ภาควิชาการ ซึ่งสมัชชาสุขภาพเป็นกระบวนการระดับชาติที่สะท้อนเสียงของประชาชนว่าต้องการนโยบายแบบไหน หรือนโยบายสาธารณะที่ออกมาจะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ในส่วนของภาครัฐก็จะได้โอกาสฟังเสียงประชาชน เพื่อทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพได้ร่วมกันให้ฉันทามติรับรองระเบียบวาระดังกล่าว เป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีความรู้ รู้เท่าทัน และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

โดยเสนอแนะแนวทางการบูรณาการในเชิงระบบ โครงสร้าง และประเด็นที่มีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ บีซีจี ที่เป็นการนำองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีอย่างครบวงจร มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติ ทุนทางศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก มุ่งเน้นในเรื่องความสามารถด้านการบริหารการเงินโดยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายโดยใช้

1.การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบแม่นยำและมุ่งเป้า
2.การบูรณาการกลไกการทำงานการขจัดความยากจนในระดับพื้นที่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจ บีซีจี
3.การเสริมสร้างศักยภาพพัฒนาทักษะอาชีพ สร้างผู้ประกอบการ บีซีจี แก้จน และชุมชน บีซีจี
4.การปรับโครงสร้างการบริหารและกลไกสนับสนุนเพื่อกระจายโอกาสสู่กลุ่มฐานราก

และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคมของทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดเครือข่ายพลังของภาคประชาชนที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ ตลอดจนแนวทางการทำงานที่นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพ สุขภาวะแวดล้อม สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการเรียนรู้ การศึกษา และทางสังคมมุ่งเน้นการตอบโจทย์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ

เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือน ขจัดความยากจนข้ามรุ่น และการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการจัดการในเชิงระบบอย่างยั่งยืน สอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

สมัชชาสุขภาพ
เวทีสมัชชาสุขภาพ

ทั้งนี้ แนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนนั้น เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือในการขจัดความยากจนที่ สอวช.ได้นำเสนอเรื่องนี้เข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ซึ่งผลสรุปในการประชุมในครั้งนี้จะถูกนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จะมีขึ้นในวันที่ 21-22 ธันวาคม 2565 จากนั้นจะสรุปเป็นฉันทามติร่วมกัน ส่งต่อไปยังรัฐบาลเพื่อผลักดันเป็นวาระแห่งชาติต่อไป