ม.กรุงเทพ ชูอาหารไทย ผ่าน “กินเพลิน…เลินเลิ้ง”

เมื่อเมืองเปลี่ยนแปลงและขยายตัวในแง่ประชากรและความเจริญ ทำให้โจทย์ใหญ่ของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week (BKKDW) ครั้งที่ 6 ปี 2566 จัดขึ้นในธีม “urban’NICE’zation เมือง-มิตร-ดี”

ส่งเสริมให้การออกแบบสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน สร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว สร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคน สร้างคนที่เป็นมิตรต่อเมือง สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการลงทุนใหม่ ๆ ในธุรกิจสร้างสรรค์ เป็นเมืองที่สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ได้ตลอดเวลา

โดยปีนี้มีกิจกรรม 6 มิติ ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม การเดินทาง วัฒนธรรม ชุมชน ธุรกิจ และความหลากหลายของผู้คนในสังคม ที่นำเสนอผ่านกว่า 530 กิจกรรม ใน 9 ย่าน 12 เขตทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ 1.ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย 2.เยาวราช 3.สามย่าน-สยาม 4.อารีย์-ประดิพัทธ์ 5.พระนคร/ปากคลองตลาด/นางเลิ้ง 6.วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู/คลองสาน 7.บางโพ 8.พร้อมพงษ์ 9.เกษตร

สำหรับหนึ่งกิจกรรมในย่านนางเลิ้ง (Sense of Nang Loeng) ได้ “อ.สุถี เสริฐศรี” อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเจ้าของร้านขนมไทยออนไลน์ ถีรฎา ไทยดีเศริฐ อัมพวา ร่วมนำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ผ่านอาหารไทยภายใต้ชื่อผลงาน “กินเพลิน…เลินเลิ้ง” ที่ถูกเสิร์ฟในสถานที่ทรงคุณค่า “บ้านศิลปะนางเลิ้ง” เรือนไทยอายุร้อยกว่าปี ที่บูรณะเพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน

“อ.สุถี” กล่าวว่า กินเพลิน…เลินเลิ้ง มีความหมายว่า กินอย่างเพลิดเพลินและเรียนรู้ (learn) ในย่านนางเลิ้ง ซึ่งเป็นการกินที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชุมชนกับอาหารเข้าด้วยกัน ผ่านการออกแบบที่เน้นดีไซน์ของอาหารคาวหวานในชุมชนนางเลิ้ง นำมาต่อยอดและผสมผสานขึ้นใหม่ ที่ให้คนได้มาสัมผัสหน้าตาของอาหารและรสชาติที่กลมกล่อมผ่านการเล่าเรื่อง โดยอาหารมี 3 เมนู และเครื่องดื่ม 1 เมนู ดังนี้

หนึ่ง “ปั้นคำหอม” เป็นขนมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมถั่วแปบที่นำมาดีไซน์เป็นคำเล็ก ๆ โดยตัวแป้งผสมจากสีธรรมชาติ เนื้อที่สอดไส้กุ้งเน้น ๆ กลายเป็นรสชาติที่ถูกปั้นออกมาเป็นคำได้อย่างหอมหวน

สอง “หยอดคำหวาน” หนึ่งคำหวานที่ถูกหยอดด้วยเรื่องราวจากชุมชนนางเลิ้ง เป็นขนมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมถ้วยใบเตยและครีมรสหวานของขนมเบื้องไทย ที่นำมาผสมผสานร่วมกันจึงได้เป็นขนมถ้วยใบเตยกับหน้า coconut sugar meringue โรยด้วยไข่คาเวียร์สีเหลืองทอง ได้รสชาติกลมกล่อมทั้งคำ

สาม “ละเลิงรส” ความสร้างสรรค์ถูกละเลิงอย่างมีรสชาติ ผ่านการผสมผสานอย่างกลมกล่อม เป็นขนมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมเบื้องไทยและขนมเบื้องญวน ที่มีการนำมาดีไซน์ใหม่ เป็นขนมเบื้องกรอบ สอดไส้ขนมญวน กินคู่กับสเฟียร์น้ำอาจาด อร่อยหมดในคำเดียว

สี่ “ดื่มด่ำความสุข” ใครจะเชื่อว่าข้าวเม่าทอดตามสี่แยก จะถูกนำมาเสิร์ฟในรูปแบบของเครื่องดื่มได้ แรงบันดาลใจเมนูมาจากขนมข้าวเม่าทอดที่ขึ้นชื่อของนางเลิ้ง นำมาดีไซน์และร้อยเรียงเรื่องราวผ่านส่วนผสมที่มีกลิ่นหอมเฉพาะอย่าง จนได้เครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบฉบับของนางเลิ้ง

“อ.สุถี” เล่าด้วยว่า นางเลิ้งเป็นชุมชนเมืองเก่าในแขวงโสมนัส เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ที่มีความเจริญอย่างมากในอดีต และอุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่เก่าแก่ โดยย่านนี้มีการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และความทรงจำของชุมชนไว้ เช่น พิพิธภัณฑ์ ตลาด และบ้านของศิลปินแขนงศิลปะการแสดงละครชาตรี

อาหารที่นำมาปรุงทำในผลงาน กินเพลิน…เลินเลิ้ง ก็ได้มาจากตลาดนางเลิ้ง ซึ่งเป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย มีอายุกว่า 100 ปี โดยในอดีตคนบางกอกนิยมเดินทางด้วยเรือ จึงไม่มีการจัดตั้งตลาดบกเป็นหลักแหล่ง จนกระทั่งมีตลาดบกนางเลิ้ง จึงทำให้ย่านนี้ได้รับความนิยมมากในอดีต นับได้ว่าเป็นศูนย์รวมความบันเทิงใจกลางกรุง ที่มีทั้งสนามม้านางเลิ้ง (ราชตฤณมัยสมาคม) โรงหนังนางเลิ้ง (โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมธานี) เป็นต้น

“เหตุผลที่เราเลือกบ้านศิลปะนางเลิ้งเป็นสถานที่แสดงผลงาน กินเพลิน…เลินเลิ้ง เพราะเป็นสถานที่แบบไทยที่มีเสน่ห์ ตั้งอยู่ในชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) บนถนนหลานหลวง ซึ่งเป็นถนนสายนาฏศิลป์แหล่งรวมศิลปะการแสดงโขน, ละครและนาฏศิลป์ไทยแขนงต่าง ๆ ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย”

ทั้งนี้ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เป็นเทศกาลงานออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ผลักดันให้กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) ในสาขาด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design)

ดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับผู้ร่วมจัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน รวมถึงนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย

โดยมียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวมแล้วมากกว่า 400,000 คน ในแต่ละปี ด้วยจำนวนผู้เข้าชมเทศกาล กว่า 1,750,000 คน และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างเทศกาล รวมเป็นจำนวนสูงถึง 1,368,000,000 บาท ในการจัดเทศกาล 5 ครั้ง

Bangkok Design Week เป็นแพลตฟอรม์ที่มุ่งนำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของกรุงเทพมหานคร ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมีแนวคิดหลักครอบคลุมทั้งสามมิติ ได้แก่ อยู่ดี (city & living) กินดี (well-being & gastronomy) และธุรกิจสร้างสรรค์ (creative business)

นับว่า การจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ทั้งในแง่ของการเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกที่ขยายผลสู่ธุรกิจแวดล้อมต่าง ๆ อีกด้วย