Starbucks เปิดตัวร้านกาแฟสีเขียว 3 แห่งผ่านมาตรฐาน Greener Stores

สตาร์บัคส์ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ นครชัยศรี
สตาร์บัคส์ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ นครชัยศรี

Starbucks ประเทศไทย ประกาศเปิดตัวร้านกาแฟสีเขียว 3 แห่ง ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน Greener Store ของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) 

วันที่ 12 มิถุนายน 2566 สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เปิดตัวร้านกาแฟสีเขียว ซึ่งเป็นร้านที่มีองค์ประกอบเชิงนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมผ่านการรับรองตามมาตรฐาน Greener Store ทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สตาร์บัคส์ ท็อปส์ มาร์เก็ต สาธุประดิษฐ์ สตาร์บัคส์ โรบินสัน ปราจีนบุรี และสตาร์บัคส์ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ นครชัยศรี

Greener Stores คือการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานใหม่สำหรับร้านสตาร์บัคส์ ให้ตอบสนองต่อการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยกรอบการดำเนินของ Greener Stores ได้รับการพัฒนาร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เพื่อกำหนดมาตรฐานหลักเกณฑ์ประสิทธิภาพ 25 ข้อ เช่น ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การดูแลน้ำ และการแยกของเสีย

ซึ่งออกแบบมาเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นร้านสตาร์บัคส์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของสตาร์บัคส์ในการลดการปล่อยคาร์บอน การใช้น้ำ และของเสียลง 50% ภายในปี 2573

โดยร้านกาแฟสีเขียวแต่ละแห่งจะมีคุณสมบัติด้านความยั่งยืนที่แตกต่างกัน และจะได้รับการรับรองผ่านองค์กรภายนอกเพื่อมาตรฐาน โดยผลการดำเนินงานของ Greener Store แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการประหยัดน้ำและพลังงานได้มากถึง 30% ในปัจจุบันร้านสตาร์บัคส์มากกว่า 3,500 แห่ง ใน 20 ประเทศทั่วโลก ได้รับการรับรองว่าเป็น “ร้านกาแฟสีเขียว”

สำหรับสตาร์บัคส์ ประเทศไทย มีร้านกาแฟสีเขียวทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สตาร์บัคส์ ท็อปส์ มาร์เก็ต สาธุประดิษฐ์ สตาร์บัคส์ โรบินสัน ปราจีนบุรี และสตาร์บัคส์ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ นครชัยศรี โดยทั้ง 3 สาขาได้ยื่นพิจารณาร้านกาแฟสีเขียวหรือ Greener Store ของประเทศไทย ตามหลักการพิจารณาในหัวข้อดังต่อไปนี้

  • การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ระบุให้หลอดไฟทั้งหมดที่ใช้ภายในร้านเป็นหลอดไฟประเภท LED การใช้หม้อต้มน้ำร้อนที่ตัดการทำงานโดยอัตโนมัติเมื่ออุณหภูมิของน้ำถึง 70 องศาเซลเซียส และจะเริ่มทำงานอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่าประมาณ 10 องศาเซลเซียส การใช้เครื่องทำน้ำแข็งและเครื่องล้างจานที่ได้มาตรฐานการประหยัดพลังงานของประเทศสหรัฐอเมริกา (Energy Star) รวมไปถึงตู้แช่เย็นและตู้แช่แข็งที่ต้องมีคุณสมบัติการใช้พลังงานเทียบเท่าเกณฑ์ประหยัดพลังงาน และการติดตั้งระบบปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ (Inverter) และ VRF ที่มีค่าประหยัดพลังงาน SEER สูงเทียบเท่าหรือดีกว่าเกณฑ์ที่เคยใช้ก่อนหน้า
  • การบริหารจัดการขยะ ร้านกาแฟสีเขียวของสตาร์บัคส์ จะต้องใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและดำเนินการตามนโยบายของสตาร์บัคส์สากล พร้อมทั้งมีการจัดเก็บกากกาแฟเพื่อให้ลูกค้านำไปปลูกต้นไม้ โดยลูกค้าสามารถรับได้ฟรีที่ร้านสตาร์บัคส์ทุกสาขา
  • การจัดการระบบน้ำ โดยระบุให้มีการติดตั้งระบบกรองน้ำทั้งแบบกรองหยาบและกรองละเอียด เพื่อให้น้ำมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด การใช้ก๊อกประหยัดน้ำที่มีอัตราการไหลของน้ำไม่เกิน 5 ลิตร/นาที และการติดตั้งก๊อกปิดน้ำอัตโนมัติบริเวณซิงก์ล้างมือ และเป็นก๊อกน้ำที่มี Aerators บริเวณซิงก์ล้าง เพื่อช่วยลดปริมาตรน้ำขณะใช้งานและช่วยในการประหยัดน้ำ การจัดการน้ำยังรวมไปถึงการใช้เครื่องปั่นที่มีประสิทธิภาพสูงตามมาตรฐานที่กำหนด
  • การเลือกใช้วัสดุที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดให้หลอดไฟทั้งหมดที่ใช้ภายในร้านต้องเป็นหลอดไฟ LED รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุที่ใช้ภายในร้าน อาทิ กาว ยาแนว สีพ่น และสีทาภายใน รวมถึงวัสดุแผ่น HMR, MDF เป็นวัสดุ low VOC หรือค่าฟอร์มาลดีไฮด์ต่ำ พร้อมทั้งดำเนินการโปรแกรมการจัดหา Ethical Sourcing Program และการรับซื้อเมล็ดกาแฟ A.F.É. Practices Coffee ตามนโยบายของสตาร์บัคส์สากล
  • สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี กำหนดให้ร้านสตาร์บัคส์สีเขียวเลือกใช้ยิปซัมเป็นฝ้าเพดานภายในร้านและใช้ฝ้าแบบดูดซับเสียงบริเวณเพดานเหนือบาร์ และภายในห้อง Community พร้อมการออกแบบการวางไฟตาม Lighting Guideline ของสตาร์บัคส์
สตาร์บัคส์ ท็อปส์ มาร์เก็ต สาธุประดิษฐ์
สตาร์บัคส์ ท็อปส์ มาร์เก็ต สาธุประดิษฐ์

นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ได้เสนอทางเลือกใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อผู้บริโภคเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้กับลูกค้าไปพร้อมกัน เช่น นโยบายส่งเสริมให้ลูกค้าใช้แก้วส่วนตัว โดยมอบส่วนลด 10 บาทต่อเครื่องดื่ม การใช้หลอดที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

พร้อมกันนั้นเมื่อปี 2565 สตาร์บัคส์ทุกสาขาได้เริ่มใช้แก้วสำหรับใช้ที่ร้านเพื่อลดการใช้พลาสติก ประกอบกับความมุ่งมั่นในการรีไซเคิลกากกาแฟไปผลิตเป็นโต๊ะกลับมาใช้ภายในร้าน รวมถึงถาดและที่รองแก้วกาแฟ ตลอดจนการนำเสนอเมนูเครื่องดื่มและขนมที่ทำจากพืช (plant-based) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ และสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้

ทั้งนี้ ความยั่งยืนของสตาร์บัคส์ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการสร้างความยั่งยืน และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชุมชน ที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน เช่น การทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน หรือ ITDF ในการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่กาแฟในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ

การร่วมมือกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS ในโครงการ FoodShare ที่ได้นำขนมกว่า 14,200 กิโลกรัม ไปมอบให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และสามารถลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่า CO2 ได้ 35,800 กิโลกรัม เทียบเท่าการลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเป็นเวลา 2,400 วัน อาหารเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกและบรรจุอย่างระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ

สตาร์บัคส์ โรบินสัน ปราจีนบุรี
สตาร์บัคส์ โรบินสัน ปราจีนบุรี

นอกจากนี้ มูลนิธิสตาร์บัคส์ สหรัฐอเมริกา ยังได้สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนา โครงการ Rescue Kitchen ในชุมชนต่าง ๆ กว่า 206 แห่ง เพื่อพัฒนาคุณภาพด้านโภชนาการให้กับชุมชน โดยพาร์ตเนอร์ (พนักงาน) สตาร์บัคส์กว่า 50 คน ได้มีส่วนร่วมในการปรุงอาหารให้กับชุมชน

นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ยังสนับสนุนสินค้างานฝีมือท้องถิ่นมาโดยตลอด เช่น การร่วมมือกับครูช่างศิลป์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อผลิตแก้วเบญจรงค์และนำมาวางจำหน่ายในร้านสตาร์บัคส์ ประเทศไทย สิ่งนี้นับเป็นการอนุรักษ์สืบสานงานศิลป์และช่วยประชาสัมพันธ์ฝีมือครูช่างศิลป์คนไทย

สตาร์บัคส์มุ่งมั่นเป็นผู้นำในธุรกิจกาแฟที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ร้านสตาร์บัคส์ทุกแห่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 50% ภายในปี 2573 ลูกค้าทุกท่านสามารถรับชมการดำเนินงานตลอด 25 ปีในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ได้ที่นี่ และมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ไปพร้อมกับเราได้ที่สตาร์บัคส์ทุกสาขาทั่วประเทศ