ไทยเยือน สวิตเซอร์แลนด์ เกิดอะไรขึ้น ? ในที่ประชุมแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 111

การประชุมแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 111

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำทัพผู้แทนไตรภาคี ร่วมประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ 111 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ได้เดินทางเยือนนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 12-15 มิถุนายน 2566 เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference : ILC) สมัยที่ 111

การประชุมมีระเบียบวาระประจำ 3 วาระ ได้แก่

  • การรายงานของผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ
  • การรายงานของประธานคณะประศาสน์การ แผนงาน งบประมาณ
  • การรายงานการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ และระเบียบวาระจรอีก 6 วาระ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานแรงงาน เรื่องการฝึกงาน การอภิปรายหมุนเวียนเรื่องวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของการคุ้มครองทางสังคม การอภิปรายทั่วไป การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม การพิจารณาด้านเทคโนโลยีและนโยบายอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) และสำหรับสาระสำคัญของการประชุม ILC สมัยที่ 111 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ต้องการที่จะเน้นย้ำและผลักดันประเด็นความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของ ILO มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และส่งเสริมจัดตั้งการรวมกลุ่มระดับโลกเพื่อความยุติธรรมทางสังคม หรือ Global Coaltion for Social Justice โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เข้าพบนายกิลเบิร์ต เอฟ โฮงโบ ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงานด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไตรภาคี ต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 กิจกรรม World of Work Summit การรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการและข้อสรุป รวมถึงการลงคะแนนเสียง

โดยกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ประกอบด้วย การยกเลิกอนุสัญญาจำนวน 1 ฉบับ การเพิกถอนอนุสัญญา จำนวน 4 ฉบับ พิธีสาร 1 ฉบับ ข้อแนะนำ จำนวน 18 ฉบับ ร่างอนุสัญญาและข้อแนะว่าด้วยการแก้ไขบางส่วนของตราสารแรงงานระหว่างประเทศ จำนวน 15 ฉบับ เพื่อให้การตอบรับกับประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในกรอบงาน ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน และมาตรการต่าง ๆ ภายใต้มาตรา 33 ของธรรมนูญ ILO เพื่อให้รัฐบาลเบลารุสปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน

การประชุมแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 111

ถ้อยแถลง รมว.สุชาติ บนเวทีโลก

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีเนื้อความว่า ขอแสดงความยินดีกับ ILO ในการจัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งในนามรัฐบาลไทยเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมในครั้งนี้

โดยขอสนับสนุนแนวคิดของคุณกิลเบิร์ต เอฟ ฮองโบ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศคนใหม่ ที่ว่าการรวมกลุ่มระดับโลกเพื่อความยุติธรรมทางสังคม (Global Coalition for Social Justice) จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเสริมสร้างความสามารถของรัฐสมาชิกในการบรรลุ “ความยุติธรรมทางสังคม” ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกคน

ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและมีบทบาทเชิงรุกในการยกระดับความยุติธรรมทางสังคม และส่งเสริมงานที่มีคุณค่าทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ รวมทั้งตระหนักถึงความจำเป็นในการสนับสนุนหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน การขจัดความไม่เท่าเทียมโดยใช้กลไกการเจรจาทางสังคม การสร้างความยืดหยุ่นในช่วงเวลาวิกฤต โดยการส่งเสริมการจ้างงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันตลาดแรงงาน การขจัดช่องว่างระหว่างเพศในโลกแห่งการทำงาน การส่งเสริมนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และการขยายขอบเขตการคุ้มครองทางสังคม

โอกาสเดียวกันนี้ นายสุชาติยังได้นำเสนอการดำเนินการของประเทศไทยในการสนับสนุนธุรกิจและแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคม ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

  • การรณรงค์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
  • การช่วยส่งเสริมสุขภาวะในการทำงาน และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งสนับสนุนสังคมยั่งยืนในประเทศไทย
  • การส่งเสริมการจ้างงานและป้องกันการเลิกจ้าง
  • การจัดมหกรรมจัดหางานระดับชาติ “Job Expo Thailand” เพื่อสนับสนุนแรงงานทุกคนในการหางานที่มั่นคงและปลอดภัย ในตำแหน่งงานที่เหมาะสม
  • การฝึกงานที่มีคุณภาพสู่การจ้างงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล
  • การคุ้มครองแรงงานและการคุ้มครองสังคม
  • การมีรายได้ที่มั่นคง สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ตลอดจนแรงงานที่เปราะบาง และแรงงานข้ามชาติ
  • การริเริ่มการเปลี่ยนรูปแบบเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมให้หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการออมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณอายุของลูกจ้าง

“ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับ ILO และประชาคมระหว่างประเทศว่า เราไม่สามารถสร้างความยุติธรรมทางสังคมได้จากความพยายามของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ระบบไตรภาคีและการบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วน รวมถึงนายจ้างและลูกจ้างเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อโลกแห่งการทำงานที่ดีขึ้น และจะสำเร็จได้ด้วยการร่วมมือกัน ซึ่งประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมร่วมกันต่อไป” นายสุชาติกล่าว

การประชุมแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 111

อินโดนีเซียเจ้าภาพ ประชุม รมว. แรงงานอาเซียน

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน โดยมีนางสาวอิดา เฟาซิยะ (H.E.Ms.Ida Fauziyah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของอินโดนีเซีย เป็นประธานการประชุม ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

นายบุญชอบกล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนที่นครเจนีวาในครั้งนี้ มีประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ที่ประชุมได้มีวาระสำคัญที่ นายกิลเบิร์ต เอฟ ฮองโบ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศคนใหม่ ได้ขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้ความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอยังได้ชื่นชมประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความแข็งแกร่งในการทำงานร่วมกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว

ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอยังได้หยิบยกประเด็นการรวมกลุ่มระดับโลก เพื่อความยุติธรรมทางสังคม (Global Coalition for Social Justice) ซึ่งเป็นประเด็นแนวคิดหลักที่ได้ให้ความสำคัญในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 111 ในปีนี้ และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญอีกครั้งเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไปอีกด้วย

การประชุมแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 111

ปลัดแรงงานลงคะแนนเสียงรับรองร่างฯ

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำการลงคะแนนเสียงรับรองในวาระร่างแผนงานและงบประมาณสำหรับปี 2567-2568

รับรองการยกเลิกอนุสัญญาจำนวน 1 ฉบับ และการเพิกถอนอนุสัญญา จำนวน 4 ฉบับ พิธีสารจำนวน 1 ฉบับ และข้อแนะ จำนวน 18 ฉบับ รับรองอนุสัญญาและข้อแนะว่าด้วยสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดี รวมทั้งรับรองร่างข้อแนะว่าด้วยการฝึกงานอย่างมีคุณภาพ เพื่อกำหนดมาตรฐานแรงงานเรื่องการฝึกงาน

นายบุญชอบกล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกของไอแอลโอ ได้ทำการลงคะแนนเสียงรับรองในวาระต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะร่างข้อแนะว่าด้วยการฝึกงานอย่างมีคุณภาพ ก่อนพิธีปิดการประชุมใหญ่ประจำปีของไอแอลโอ สมัยที่ 111 ที่นครเจนีวา

ซึ่งสาระสำคัญของร่างข้อแนะฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปกำหนดกรอบมาตรฐานแรงงานเพื่อให้การฝึกงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีข้อตกลงการฝึกงานที่เป็นธรรม สร้างความเสมอภาคและความหลากหลายในการฝึกงาน รวมทั้งริเริ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับชาติ

นายบุญชอบกล่าวต่อว่า ร่างข้อแนะนี้จะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการฝึกงานของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันการฝึกงานในสถานประกอบการมีผลต่อตลาดแรงงานไทยในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้เยาวชนได้มีประสบการณ์จริงในโลกของการทำงานแล้ว ยังช่วยให้ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและพัฒนาทักษะให้ตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคตได้

แต่ในขณะเดียวกัน เยาวชนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครองเช่นแรงงานทั่วไป ทั้งการได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม มีเวลาพัก ได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ใกล้เคียงกับผู้ที่เป็นพนักงานจริง นอกจากนี้ การฝึกงานนั้น เยาวชนควรจะได้เรียนรู้จากงานจริง ๆ โดยมีวิทยากรที่มีทักษะในการถ่ายทอด มาทำหน้าที่ให้ความรู้ ซึ่งในเรื่องนี้มีความสำคัญมาก

“ภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเร่งทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ในข้อเสนอแนะจากที่ได้ประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่สถานประกอบการได้ใช้เป็นแนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาการฝึกงานที่ไม่ได้คุณภาพและการคุ้มครองสิทธิเด็กฝึกงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์อันสมควรต่อไป” นายบุญชอบกล่าวท้ายสุด