สหโคเจน เดินหน้าลงทุนพลังงานหมุนเวียนขนาดย่อม ลุยธุรกิจซื้อขาย REC

เปิดทิศทางธุรกิจสหโคเจน เดินหน้าลงทุนในธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดย่อมทั้งภายในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับลุยธุรกิจซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายอุดมพงษ์ จันทรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในอีก 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทมีนโยบายมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดย่อมทั้งภายในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) ไม่ต่ำกว่า 400 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2570 และมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 15% ผ่านการลงทุน ดังนี้

  • ปัจจุบันบริษัทเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 15.2 และ 10.9 เมกะวัตต์ ตามลำดับ
  • ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบ Private PPA ให้กับโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ และโรงแรม รวมถึงโรงงานในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา อีกประมาณ 15-20 เมกะวัตต์
  • จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อเข้าร่วมยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า ตามประกาศของคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงาน (กกพ.) ขณะนี้ บริษัทได้รับการคัดเลือกสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 27 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการลงนาม PPA
  • ศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามแผน
นายอุดมพงษ์ จันทรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ
นายอุดมพงษ์ จันทรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ

บริษัทเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยที่จะลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ขับเคลื่อนธุรกิจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่โครงการคาร์บอนเครดิต CDM การเข้าร่วมโครงการ JCM ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านบริษัทร่วมทุน จนถึงล่าสุด เข้าสู่ธุรกิจซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC)

ซึ่งในปี 2565 บริษัทได้ดำเนินการส่งมอบใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 163,885 RECs ให้กับลูกค้าที่มีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้า เช่น บจก.ไลอ้อน (ประเทศไทย) และกลุ่มบริษัทอาซาฮี คาเซอิ เป็นต้น”

สหโคเจน

นายอุดมพงษ์กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 บริษัทผ่านการรับรองให้ใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (CARBON FOOTPRINT OF ORGANIZATION : CFO) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และวางแผนขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (CARBON FOOTPRINT OF PRODUCT : CFP) ภายในปี 2567

“ภาพรวมธุรกิจที่ผ่านมา แม้ว่าต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้น และความไม่สอดคล้องของการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ตามนโยบายของภาครัฐ จะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท แต่บริษัทได้มีการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ มุ่งสู่การผลิตพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น 

โดยผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2566 บริษัทเริ่มพลิกกลับมามีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน จากที่ขาดทุนในปี 2565 และประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปี 2566 ผลกระทบจากความไม่สอดคล้องของการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับตัวลดลง 

และจากแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้คาดการณ์ว่า บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ให้กับโรงพยาบาลในเครือ ‘พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์’ โรงแรม และโรงงานต่าง ๆ ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ซึ่งจะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนงาน”

ทั้งนี้ นายอุดมพงษ์กล่าวอีกว่า ในส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสหโคเจนโครงการใหม่ (SPP Replacement) ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 79.5 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 75 ตันต่อชั่วโมง มีความคืบหน้าประมาณ 80% เป็นไปตามแผนงานโดยมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนเมษายน 2567  

07_สหโคเจน