หนุนตั้ง PRO แห่งชาติ ดึงผู้ประกอบการรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์หลังใช้งาน

ขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์
credit : pixabay

นักวิชาการหนุนจัดตั้ง PRO แห่งชาติ องค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์ ดึงผู้ประกอบการทุกภาคส่วนทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้า ผู้ผลิตหรือนำเข้า ร่วมรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์หลังใช้งาน

วันที่ 7 กันยายน 2566 นักวิชาการระบุภาครัฐกำลังเร่งยกร่างกฎหมาย “พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. …” โดยหนึ่งในสาระสำคัญจะมีการจัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์ (Producer Responsibility Organization หรือ PRO) และนำผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของบรรจุภัณฑ์เข้ามาทำงานร่วมกัน ภายใต้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility หรือ EPR)

สอดคล้องกับความพยายามของ 7 บริษัทชั้นนำที่รวมตัวกันในนามของ “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” หรือ “PRO-Thailand Network” นำร่องเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ)

ยกร่าง พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (Circular Economy for Waste-free Thailand-CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยกร่าง พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการ EPR ที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมรับผิดชอบจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง 

ตั้งแต่การออกแบบ การกระจายสินค้า การใช้งาน และช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว จากเดิมที่ตกอยู่กับระบบจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปัจจุบันก็ยังไม่มีทรัพยากรในด้านต่าง ๆ เพียงพอที่จะเก็บรวบรวม และคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อจัดการอย่างยั่งยืน ทั้งในการนำไปรีไซเคิล หรือทำเป็นพลังงานเชื้อเพลิง

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ
ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ

ตั้ง PRO ภายใต้กฎหมาย EPR

ผศ.ดร.ปเนตกล่าวต่อว่า การจัดตั้งองค์กร PRO ภายใต้กฎหมาย EPR ฉบับนี้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นกลยุทธ์การดึงผู้ประกอบการ ได้แก่ เจ้าของแบรนด์สินค้า ผู้ผลิตหรือนำเข้าสินค้า ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ให้เข้ามามีบทบาทรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งาน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทำงานร่วมกับผู้รวบรวมและเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ไม่ให้เล็ดลอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมหรือถูกทิ้งในบ่อขยะ ซึ่งในระยะแรกอาจจะมีการตั้ง PRO แห่งชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ พัฒนาแผนจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน จัดให้มีระบบเก็บรวบรวม คัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วออกจากขยะมูลฝอย 

เน้นบรรจุภัณฑ์ 4 ประเภท

โดยมุ่งเน้นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุหลัก 4 ประเภท ได้แก่ พลาสติก โลหะ แก้ว และกระดาษ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อาทิ ขวดพลาสติก PET และ HDPE ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนที่มีส่วนผสมของพลาสติก กล่องเครื่องดื่มยูเอชที ตลอดจนของใช้ส่วนตัว เครื่องสำอาง และบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง 

“ในภาพรวม บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วใน 4 ประเภทข้างต้นนี้ น่าจะมีประมาณ 3-4 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 10-15 ของปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศ ดังนั้นสมมุติว่าค่าใช้จ่ายอย่างต่ำในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว คือ 1 บาทต่อกิโลกรัม หมายความว่า รัฐจะต้องใช้งบประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปี มาช่วยสนับสนุนการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ 

ทั้งนี้ การจัดตั้ง PRO จึงเป็นการสร้างกลไกให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นอีกโมเดลที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลก

7 บริษัทเครือข่าย PRO-THAILAND

สำหรับประเทศไทย ภาคเอกชนรวมตัวกันด้วยความสมัครใจ จัดตั้ง “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ “PRO-Thailand Network” เมื่อปี 2562 จากการรวมกลุ่มโดยสมัครใจของภาคเอกชน อาทิ ผู้เป็นเจ้าของตราสินค้า ผู้ผลิตสินค้า และผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 7 บริษัท และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 

โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและร่วมสร้างระบบการจัดเก็บและรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมารีไซเคิล (Recycle) หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อลดปริมาณขยะที่จะรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสมาชิก 7 บริษัท ได้แก่

  1. บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด
  2. บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด
  3. บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด
  4. บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
  5. บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
  6. บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด
  7. บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด 
PRO-THAILAND
ภาพจากเฟซบุ๊ก PRO Thailand Network

รายชื่อคณะผู้บริหาร PRO-Thailand Network ประกอบด้วย

  1. นายวิกเตอร์ หว่อง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด และรองประธานฝ่ายธุรกิจแฟรนไชส์ ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว เดอะ โคคา-โคลา คัมปะนี
  2. นายอชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด
  3. นางสาวรัตนศิริ ติลกสกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด 
  4. นายอินเยส คอร์ทเฮ้าส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
  5. นางสาวนาริฐา วิบูลยเสข ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจน้ำดื่ม อินโดไชน่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
  6. นายสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหาร อินโดจีน บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด
  7. นายวัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา บริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินโครงการนำร่องจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท ได้แก่ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที (เช่น กล่องนม น้ำ ผลไม้ กล่องกะทิ) และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ) ในปี 2563-2565  PRO-Thailand Network สามารถเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทขวด PET จำนวน 25,134.15 ตัน ประเภทกล่องเครื่องดื่มยูเอชที จำนวน 180.49 ตัน ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนใช้แล้วได้ 78.56 ตัน