เหตุบุกยิงที่พารากอน แรงงานเมียนมาเสียชีวิต กระทรวงแรงงานจ่ายชดเชย

ตำรวจและเจ้าหน้าที่เข้าประจำการ บริเวณหนึ่งในประตูห้างสยามพารากอน
Lillian SUWANRUMPHA / AFP
เหตุบุกยิงที่พารากอน ทำแรงงานเมียนมาผู้ประกันตนมาตรา 33 เสียชีวิต รมว.แรงงาน พิพัฒน์ สั่งกรมที่เกี่ยวข้องเตรียมเยียวยา

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเหตุบุกยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ตุลาคม 2566 (เมื่อวาน) ว่า ทันทีที่ทราบข่าวว่าผู้เสียชีวิตจากการบุกยิง 2 ราย เป็นชาวเมียนมาและชาวจีน ได้สั่งการให้กรมต่าง ๆ ในกระทรวงแรงงาน ที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบทันที

ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานประกันสังคม พบว่าชาวเมียนมาที่เสียชีวิตเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในส่วนของผู้บาดเจ็บ อีก 5 ราย พบว่าเป็นผู้ประกันตน 4 ราย แบ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างชาวไทย จำนวน 2 ราย เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างแรงงานสัญชาติลาว จำนวน 1 ราย และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่เป็นลูกจ้างชาวไทย จำนวน 1 ราย

โดยชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม หากเสียชีวิตจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตเป็นค่าทำศพ และเงินสงเคราะห์ ส่วนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นับเป็นการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง

“ขณะที่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ สำนักงานประกันสังคมจะดูแลสิทธิในการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาทุกราย และขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมได้เข้าไปดูแลเรียบร้อยแล้ว” นายพิพัฒน์กล่าว

“ในนามของกระทรวงแรงงาน ซึ่งดูแลชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียในครั้งนี้ เรามีความห่วงใยต่อชาวต่างชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทย และขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะดูแลและคุ้มครองแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกคน

ให้เท่าเทียมกับแรงงานไทยทุกประการ ให้ความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย เพราะแรงงานต่างชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย คือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายพิพัฒน์กล่าว