กระแสปิดกิจการเกี่ยวกับมาตรา 75 อย่างไร จ่ายชดเชยลูกจ้างเท่าไหร่ ?

กาญจนา พูลแก้ว
กาญจนา พูลแก้ว

ทำความรู้จักมาตรา 75 นายจ้างปิดกิจการชั่วคราว-ถาวร กระทบลูกจ้าง ต้องจ่ายชดเชยหรือไม่ เท่าไหร่ ฟังคำอธิบายจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับการประกาศปิดกิจการหรือโรงงาน และเลิกการจ้างงาน ของผู้ประกอบการในหลาย ๆ ธุรกิจ นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ณ ปัจจุบันมีสถานประกอบการในระบบของ กสร.ประมาณ 490,000 แห่ง

โดยในปีงบประมาณ 2565 (1 ต.ค. 2565-ก.ย. 2566) มาจนถึง 27 พ.ย. 2566 มีสถานประกอบการที่ใช้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อประกาศหยุดงานด้วยเหตุจําเป็นเป็นการชั่วคราว (ทั้งรูปแบบหยุดทั้งบริษัท หรือหยุดเพียงบางแผนก) เช่น ประสบปัญหาด้านคำสั่งซื้อลดลง ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมากกะทันหัน จึงผลิตสินค้าน้อยลงประมาณ 700 แห่ง กระทบลูกจ้าง 95,000 คน

ทั้งนี้ ในจำนวน 700 แห่งนั้น ภายหลังมีการเลิกจ้างถาวร (ปิดกิจการ) 14% หรือราว 103 แห่ง โดยในจำนวนนั้นมีสถานประกอบการกว่า 63 แห่ง มีลูกจ้างมากกว่า 100 คน อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก (ปี 2563-2564) มีอัตราปิดกิจการมากกว่าช่วงนี้หลายเท่าตัว พอสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ก็ยังมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจอยู่บ้าง จะเห็นได้จากข่าวการปิดกิจการเป็นระยะ ๆ

ทำความรู้จักมาตรา 75

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง กำหนดหลักการไว้ว่า กรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วน (ชั่วคราว) เพราะไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในวันทำงานปกติก่อนที่จะมีการปิดกิจการลง โดยต้องจ่ายตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

แต่กรณีนายจ้างเลิกจ้างบางส่วน หรือเลิกจ้างทั้งหมด หรือปิดกิจการ (ถาวร) นายจ้างต้องมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน ดังนี้

  • อายุงาน 120 วัน ถึง 1 ปี จ่ายชดเชย 30 วัน
  • อายุงาน 1-3 ปี จ่ายชดเชย 90 วัน
  • อายุงาน 3-6 ปี จ่ายชดเชย 180 วัน
  • อายุงาน 6-10 ปี จ่ายชดเชย 240 วัน
  • อายุงาน 10-20 ปี จ่ายชดเชย 300 วัน
  • อายุงาน 20 ปีขึ้นไป จ่ายชดเชย 400 วัน

มาตรการเชิงลุก สุ่มตรวจสถานประกอบการ

นางสาวกาญจนาอธิบายว่า ทาง กสร.มีนโยบายติดตามความมั่นคงในการจ้างงานของแต่ละสถานประกอบการตลอด โดยบังคับให้นายจ้างแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานภายในเดือนมกราคมของทุกปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการเชิงลุกเข้าสุ่มตรวจสถานประกอบการทั่วประเทศเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะสถานประกอบการใน sunrise market ตลาดที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี และสถานประกอบการใน sunset market คือสถานประกอบการที่มีการเติบโตสูงในช่วงแรก และค่อย ๆ ลดลง เช่น สิ่งทอ รวมไปถึงการเข้าตรวจสอบตามคำร้องจากลูกจ้าง

โดยสถานประกอบกิจการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เราจะให้เจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวัง เพราะเรามีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันที่คอยเป็นหูเป็นตา ทั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.), เครือข่ายคุ้มครองแรงงาน, NGOs ในพื้นที่ เป็นต้น

ซึ่งกรณีเลิกจ้าง ทาง กสร.จะเข้าไปตรวจสอบนายจ้างว่าเลิกจ้างจากสาเหตุใด หรือเลิกจ้างแล้วมีการชี้แจงสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้าง เช่น ค่าชดเชยตามอายุงาน, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าตกใจ (จ่ายเฉพาะกรณีนายจ้างไม่บอกล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง), ค่าตอบแทน, ค่าจ้างค้างจ่าย, ค่าทำงานล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด เป็นต้น และหากนายจ้างไม่สามารถจ่ายได้ตามข้อตกลง ก็จะเข้าสู่กระบวนการการนำเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาดูแลลูกจ้าง