ยุติขึ้นค่าแรง 2-16 บาท มองข้ามชอตกลางปี’67 ปรับอีกรอบ

แรงงาน
ภาพจาก freepik

ในที่สุด ผลจากการทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ในการประชุมครั้งที่ 10/2566 ก็มีมติใช้อัตราเดิมที่พิจารณาไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาททั่วประเทศ โดย “นายไพโรจน์ โชติกเสถียร” ปลัดกระทรวงแรงงาน ออกมารับลูก “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะทำการสังคายนาสูตรคำนวณใหม่ในรอบ 6 ปี พร้อมกับแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรในวันที่ 17 ม.ค. 2567 ส่วนการปรับค่าจ้างอาจมีอีกครั้งประมาณกลางปี 2567

ปรับตามอำเภอ-รายอาชีพ

“นายพิพัฒน์” กล่าวในเบื้องต้นว่า การคำนวณอัตราการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมามีการนำค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 มารวมอยู่ในการคำนวณค่าเฉลี่ย โดยในช่วงปีดังกล่าว เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำมาก ดังนั้น การนำค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีมาคำนวณ จึงทำให้อัตราค่าเฉลี่ยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่สูง ผลเช่นนี้จึงเสนอแนะผ่านปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้

พิพัฒน์ รัชกิจประการ
พิพัฒน์ รัชกิจประการ
ไพโรจน์ โชติกเสถียร
ไพโรจน์ โชติกเสถียร

จากที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในภาพรวมรายจังหวัด อยากให้พิจารณาเป็นรายอำเภอ หรือรายเทศบาล เพราะบางธุรกิจในบางพื้นที่อาจไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การประกาศค่าจ้างภาพรวมอาจไม่เหมาะสม นอกจากนั้นอาจปรับค่าจ้างตามอาชีพ และมาตรฐานฝีมือ เพื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้สูงขึ้น เช่น ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอัดฉีดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และตามที่กระทรวงมหาดไทย ประกาศเปิดสถานบริการถึงเวลาตี 4 ใน 4 จังหวัด จึงต้องมาดูว่าสาขาการท่องเที่ยว และบันเทิง ค่าแรงควรจะขึ้นเป็นกรณีพิเศษได้หรือไม่

“การปรับสูตรคิดค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องหาข้อมูล และทำการศึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร เพื่อให้สอดรับกับการประกาศปรับค่าจ้างกลางปี 2567 หรือปี 2568 อย่างไรก็ตาม ผมในฐานะข้าราชการการเมืองไม่มีสิทธิแทรกแซงหรือชี้นำไตรภาคี (คณะกรรมการค่าจ้าง) แต่สามารถแนะนำฝ่ายข้าราชการว่าให้คงหลักการในอดีตไว้ แต่ให้ลงในรายละเอียด ซึ่งก็อยู่ที่ข้อสรุปของไตรภาคี”

ยึดมติเดิมขึ้นค่าจ้าง 2-16 บาท

“นายไพโรจน์” ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แถลงผลการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 10/2566 ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติเดิมในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เนื่องจากสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เป็นสูตรที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทุกจังหวัดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุ และผลบนข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงเห็นควรให้ปรับอัตราค่าจ้างด้วยความเหมาะสม และความเป็นจริง ทั้งยังเป็นการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 2-16 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.37) แบ่งเป็น 17 อัตรา โดยอัตราสูงสุดอยู่ในจังหวัดภูเก็ต คือ วันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส, ปัตตานี และยะลา คือ วันละ 330 บาท ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 363 บาท ทั้งนี้ เพื่อพิจารณา คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นายไพโรจน์กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาคและการหารือของแต่ละจังหวัด และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข

แจงรายจังหวัดปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี’67

สำหรับรายละเอียดการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 แบ่งออกเป็น 17 อัตรา ดังนี้

ตารางค่าแรงขั้นต่ำ

หนึ่ง 370 บาท 1 จังหวัด คือ จังหวัดภูเก็ต (เดิม 354 บาท), สอง 363 บาท 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร (เดิม 353 บาท ทุกจังหวัด), สาม 361 บาท 2 จังหวัด คือ ชลบุรี และระยอง (เดิม 354 บาท ทั้ง 2 จังหวัด), สี่ 352 บาท 1 จังหวัด คือ นครราชสีมา (เดิม 340 บาท), ห้า 351 บาท 1 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม (เดิม 338 บาท), หก 350 บาท 6 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา (เดิม 343 บาท), สระบุรี (เดิม 340 บาท), ฉะเชิงเทรา (เดิม 345 บาท), ปราจีนบุรี (เดิม 340 บาท), ขอนแก่น (เดิม 340 บาท) และเชียงใหม่ (เดิม 340 บาท)

เจ็ด 349 บาท 1 จังหวัด คือ ลพบุรี (เดิม 340 บาท), แปด 348 บาท 3 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี (เดิม 340 บาท), นครนายก (เดิม 338 บาท) และหนองคาย (เดิม 340 บาท), เก้า 347 บาท 2 จังหวัด คือ กระบี่ (เดิม 340 บาท) และตราด (เดิม 340 บาท), สิบ 345 บาท 15 จังหวัด คือ กาญจนบุรี (เดิม 335 บาท), ประจวบคีรีขันธ์ (เดิม 335 บาท), สุราษฎร์ธานี (เดิม 340 บาท), สงขลา (เดิม 340 บาท), พังงา (เดิม 340 บาท), จันทบุรี (เดิม 338 บาท), สระแก้ว (เดิม 335 บาท), นครพนม (เดิม 335 บาท), มุกดาหาร (เดิม 338 บาท), สกลนคร (เดิม 338 บาท), บุรีรัมย์ (เดิม 335 บาท), อุบลราชธานี (เดิม 340 บาท), เชียงราย (เดิม 332 บาท), ตาก (เดิม 332 บาท) และพิษณุโลก (เดิม 335 บาท)

สิบเอ็ด 344 บาท 3 จังหวัด คือ เพชรบุรี (เดิม 335 บาท), ชุมพร (เดิม 332 บาท) และสุรินทร์ (เดิม 335 บาท), สิบสอง 343 บาท 3 จังหวัด คือ ยโสธร (เดิม 335 บาท), ลำพูน (เดิม 332 บาท), นครสวรรค์ (เดิม 335 บาท), สิบสาม 342 บาท 5 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช (เดิม 332 บาท), บึงกาฬ (เดิม 335 บาท), กาฬสินธุ์ (เดิม 338 บาท), ร้อยเอ็ด (เดิม 335 บาท) และเพชรบูรณ์ (เดิม 335 บาท)

สิบสี่ 341 บาท 5 จังหวัด คือ ชัยนาท (เดิม 335 บาท), สิงห์บุรี (เดิม 332 บาท), พัทลุง (เดิม 335 บาท), ชัยภูมิ (เดิม 332 บาท) และอ่างทอง (เดิม 335 บาท), สิบห้า 340 บาท 16 จังหวัด ระนอง (เดิม 332 บาท), สตูล (เดิม 332 บาท), เลย (เดิม 335 บาท), หนองบัวลำภู (เดิม 332 บาท), อุดรธานี (เดิม 340), มหาสารคาม (เดิม 332 บาท), ศรีสะเกษ (เดิม 332 บาท), อำนาจเจริญ (เดิม 332 บาท), แม่ฮ่องสอน (เดิม 332 บาท), ลำปาง (เดิม 332 บาท), สุโขทัย (เดิม 332 บาท), อุตรดิตถ์ (เดิม 335 บาท), กำแพงเพชร (เดิม 332 บาท), พิจิตร (เดิม 332 บาท), อุทัยธานี (เดิม 332 บาท) และราชบุรี (เดิม 332 บาท)

สิบหก 338 บาท 4 จังหวัด คือ ตรัง (เดิม 332 บาท), น่าน (เดิม 328 บาท), พะเยา (เดิม 335 บาท) และแพร่ (เดิม 332 บาท), สิบเจ็ด 330 บาท 3 จังหวัด คือ นราธิวาส (เดิม 328 บาท), ปัตตานี (เดิม 328 บาท) และยะลา (เดิม 328 บาท)

ตั้งอนุกรรมการปรับสูตรค่าจ้าง

“นายไพโรจน์” อธิบายต่อว่า ทางคณะกรรมการค่าจ้างจะนำข้อแนะนำจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปพิจารณาปรับสูตรค่าจ้างใหม่ ซึ่งจะเป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี โดยจะมีการลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ในวันที่ 17 มกราคม 2567 แต่ตอนนี้ใช้ตามมติเดิมไปก่อน

“เมื่อได้สูตรใหม่แล้วจะเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้างใหม่อีกครั้ง ผมพยายามทำเต็มที่ และเร็วที่สุด โดยคิดว่าในช่วงปี 2567 จะได้สูตรการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งเราจะพิจารณาในประเภทกิจการเป็นสำคัญ เช่น การท่องเที่ยว บริการ ซึ่งอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาปรับสูตร ส่วนการปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 จะเป็นช่วงใด ต้องดูตามเวลาดำเนินงาน พร้อมกับดูว่าจะมีไตรภาคีเสนอเรื่องนี้มาหรือไม่”

เสียงจากภาคีนายจ้าง-ลูกจ้าง

“นายอรรถยุทธ ลียะวณิช” ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 กล่าวว่า การลงมติการปรับค่าจ้างวันนี้ (20 ธันวาคม 2566) คณะไตรภาคีไม่ได้มีความเห็นต่างไปจากการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ซึ่งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ต่างมีความเห็นสอดคล้องกัน

และเมื่อโดนถามว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้นค่าแรงน้อย “นายอรรถยุทธ” ตอบว่า อันที่จริงคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่ประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ของจังหวัดปัตตานี มีมติไม่ขอขึ้น แต่ทางคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เล็งเห็นว่าควรปรับขึ้นอย่างน้อยให้เท่าจังหวัดใกล้เคียง คือ นราธิวาส และยะลา

“เราอยากเคารพมติของคณะอนุกรรมการจังหวัด เพราะพวกเขาเป็นคนในพื้นที่ รู้เรื่องความเหมาะสมของดัชนีค่าครองชีพ และเศรษฐกิจมากกว่า สำหรับการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ปีหน้า ผมเห็นด้วย การปรับเปลี่ยนควรมีได้เสมอ ควรดูตามสถานการณ์ ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น พิจารณาเส้นขีดความยากจน มาตรฐานอาชีพ แต่ที่สำคัญต้องฟังเสียงจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง”

“ผมอยากให้การปรับค่าจ้างในประเทศไทยเป็นแบบประเทศญี่ปุ่น ที่เขาปรับแตกต่างกันไปตามเขต และตามอาชีพ หรือเราอาจจะทำเป็นค่าจ้างแบบลอยตัวไปเลยก็ได้ เพราะปัจจุบันของเราก็เป็นกึ่งลอยตัวอยู่แล้ว ซึ่งแบบนี้มีข้อดีคือลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ผมคิดว่าอัตราที่เป็นมติครั้งนี้ควรถือว่าสิ้นสุดแล้ว เพราะถ้าขึ้นค่าแรงสูงมาก ๆ จะกระทบผู้ประกอบการ และอาจส่งผลให้ SMEs หลายรายต้องล้มเหมือนที่เคยเกิดขึ้น”

“นายวีรสุข แก้วบุญปัน” ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 กล่าวเสริมว่า เห็นชอบกับมติอัตราปรับค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับปี 2567 ที่มีการประชุมในวันนี้ (20 ธันวาคม 2566) และไม่ควรมีการปรับเปลี่ยนแล้ว ส่วนการสังคายนาสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ ในที่ประชุมมีความคิดเห็นตรงกันว่าจะเชิญอนุกรรมการแต่ละสาขาที่มีองค์ความรู้โดยเฉพาะมาปรับสูตร รวมถึงแต่ละฝ่ายทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง จะได้ไม่มีปัญหาเหมือนปีนี้ ซึ่งมติอัตราปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากคณะไตรภาคีนั้นชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อถามว่าไตรภาคีฝ่ายลูกจ้างอยากได้ค่าจ้างเพิ่มสูง ๆ หรือไม่ “นายวีรสุข” กล่าวว่า อยากได้ แต่ต้องดูสถานการณ์จริง อย่างไรก็ตาม อัตราที่เคาะออกมานี้ เชื่อว่าไม่ได้กระทบแรงงานไทยมากนัก เพราะเรามีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานอยู่แล้ว ดังนั้น อัตราใหม่เฉพาะส่วนนี้จะมีผลบังคับใช้ราววันที่ 18 มีนาคม 2567

ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น