รัฐ-เอกชนรับมือโลกเดือด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เมื่อไม่นานผ่านมา ธนาคารโลกในประเทศไทยเปิดรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย “เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย และบทบาทของการกำหนดราคาคาร์บอน” โดยรายงานฉบับนี้เป็นการทบทวนการพัฒนาเศรษฐกิจล่าสุดของประเทศไทยปี 2566 และคาดการณ์ต่อในปี 2567 ซึ่งมุ่งเน้นในประเด็นที่ว่าไทยจะต้องทำอย่างไร จึงจะสามารถฟื้นตัวท่ามกลางอุปสรรคอันท้าทายที่มีอยู่ทั่วโลก เพราะขณะนี้โลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด

นอกจากนั้น การเปิดตัวรายงานยังมีการจัดเสวนาเพื่อหารือเกี่ยวกับเส้นทางที่จะไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังที่ไทยประกาศไว้ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 จากการดำเนินการตามปกติ พร้อมจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยมุ่งไปที่ทิศทางการกำหนดราคาคาร์บอน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในอนาคต

พ.ร.บ.โลกร้อน เริ่มปี’67

“ปวิช เกศววงศ์” รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงดูแลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

“ขณะนี้เรากำลังขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change โดยเนื้อหาสาระในกฎหมายคือการควบคุมไม่ให้เกิดกิจกรรม หรือการทำธุรกิจที่สร้างมลภาวะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มาก และอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าจะเห็นร่างฉบับแรกภายในไตรมาส 1 ปี พ.ศ. 2567 ประกอบไปด้วย 3 เรื่อง

ได้แก่ การควบคุมอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม, การจัดเก็บภาษีคาร์บอน และการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่บังคับให้ทุกคนต้องแจ้งปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับออกมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐต่อไป”

เก็บภาษีไม่ใช่บทลงโทษ

ขณะที่ “รัชฎา วานิชกร” ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การขับเคลื่อนภาษีด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะมีบทบาทสำคัญ ตอนนี้กรมมีการประกาศยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะเป็นกรม ESG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิตเพื่อมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

“ดิฉันไม่อยากให้คิดว่าการจ่ายภาษีเป็นบทลงโทษ แต่อยากให้มองว่าเป็นเครื่องมือช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตดำเนินการหลายส่วน แต่ยังไม่ได้ผูกโยงกับภาษีคาร์บอนโดยตรง เช่น การจัดเก็บภาษีรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป อัตราภาษีจะยึดโยงอยู่ว่าถ้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมาก อัตราภาษีจะสูง ถ้าปล่อยน้อยอัตราภาษีจะต่ำ จริง ๆ เราทำมาตั้งปี พ.ศ. 2559 แล้ว

ผลที่วัดได้คือ จากการที่มีอัตราภาษีเช่นนี้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ผลิตให้มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่พัฒนาให้เครื่องยนต์มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่ลดลง และผู้บริโภคได้ตระหนักต่อการใช้ด้วยว่าสามารถลดปล่อยคาร์บอนได้ ซึ่งมาตรการนี้สามารถลดคาร์บอนได้ 4 หมื่นตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า 4.4 หมื่นไร่ต่อปีเลยทีเดียว”

ตอนนี้มาตรการส่งเสริมใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ก็เติบโตรวดเร็ว ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 จนปัจจุบันปริมาณ EV ที่บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด มีรถยนต์ EV เข้าร่วมมาตรการประมาณ 4.8 หมื่นคัน ทั้งนี้ยังไม่รวมจำนวนที่ไม่ได้ร่วมมาตรการกับเราที่คาดว่าจะมีปริมาณมากเช่นกัน

“มาตรการของเรามีทั้งลดอัตราภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้า ทั้งให้เงินอุดหนุนประมาณคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน มาตรการเหล่านี้ส่งเสริมการใช้รถ EV เพิ่มขึ้น คำนวณแล้วรถ EV หนึ่งคันสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ประมาณ 2.6 ตันต่อคันต่อปี มาตรการเหล่านี้เป็นการช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งไม่ได้มองว่าเป็นการทำเพื่อลงโทษ”

กลไกภาษี 2 แนวทางทำคู่กัน

“รัชฎา” กล่าวต่อว่า สำหรับกลไกภาษีคาร์บอน ตอนนี้เรากำลังพูดถึง 2 แนวทางคือการเก็บภาษีคาร์บอน Carbon Tax และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems-ETS) ดิฉันมองว่า 2 แนวทางนี้ต้องดำเนินไปด้วยกัน

ซึ่ง ETS กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมต้องสร้างแพลตฟอร์มใช้กฎหมายออกมาเป็นภาคบังคับกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ที่จะต้องมีการวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และกำหนดค่าการปล่อยว่าควรจะจำกัดอยู่ปริมาณเท่าใด ถ้าเกินต้องเข้ากระบวนการทางกฎหมาย ส่วนอีกระบบคือการเก็บภาษีจะเป็นหน้าที่ของสรรพสามิต

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. Climate Change กำหนดกรอบแนวทางไว้แล้วว่าต้องใช้ 2 ระบบควบคู่กัน แต่อะไรจะมาก่อน หรือมาหลังต้องทบทวนกันอีกที ที่สำคัญ การทำ 2 แนวทางจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน ส่วนเรื่องราคาเรากำลังศึกษา และเทียบเคียงราคากับหลากหลายประเทศ เพราะอัตราราคาภาษีทั่วโลกมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐไปจนถึง 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ เรื่องค่าใช้จ่าย ราคาแต่ละระบบจะไม่เท่ากัน

“แต่ ETS อาจจะสูงกว่า ส่วนภาษีที่เป็นหน้าที่ของกรมสรรพสามิต คาดจะจัดเก็บได้จากสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูงประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล LPG ก๊าซ น้ำมันเครื่องบิน สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในพิกัดของเรา ถ้าจะเก็บเชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เราคำนึงถึง”

ราคาคาร์บอนเทียบกันไม่ได้

“รองเพชร บุญช่วยดี” รองผู้อำนวยการบริหารองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ตัวเลขราคาของภาษีคาร์บอนวิธีการเก็บจะไม่เหมือนกัน เราจะไปยึดหรือเทียบกับประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ เพราะบางประเทศราคาสูง บางประเทศต้องปรับโครงสร้างทั้งหมด อย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวียราคาพุ่งเป็นร้อยเหรียญ ซึ่งไม่ใช่พึ่งจะราคาสูง แต่เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 แล้ว ดังนั้น ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเทียบเคียงว่าใครดีไม่ดี หรือแบบไหนจะมีผลกระทบต่อการลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่ากัน

ในส่วนของ ETS ยุโรปเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และตอนนั้นทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการย้ายฐานการผลิต ถ้าหากไทยจะใช้ระบบนี้ต้องดูตัวอย่างประเทศอื่น ๆ หรืออียูด้วย ต้องพิจารณาให้รอบด้านว่าช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น หรือว่ากำลังลดศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งผมอยากให้ภาคเอกชนมั่นใจด้วยว่าที่ภาครัฐประกาศออกไปเป็นการทำเพื่อส่งเสริมศักยภาพแข่งขันการค้าจริง ๆ

ภาคเอกชนหนุนลดโลกร้อน

“ประวิทย์ ประกฤตศรี” รองประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราต้องมีกลไกมานั่งจัดระเบียบเรื่องภาษีคาร์บอนว่ายากมากน้อยแค่ไหน ถ้าใช้ตลาดคาร์บอนเครดิตมาช่วยได้ไหม แต่อาจจะเป็นคนละเรื่อง เพราะคาร์บอนเครดิตหมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด หรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การปลูกป่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การดักจับ และการจัดเก็บคาร์บอน เป็นต้น

หากองค์กรใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สามารถนำก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลด หรือกักเก็บได้ไปขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่น ขณะเดียวกัน หากองค์กรใดที่ต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินปริมาณที่กำหนด ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ที่ขายคาร์บอนเครดิตเพื่อเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับองค์กรตัวเองได้

แต่ถ้าใช้ระบบ ETS คือภาคอุตสาหกรรมจะมีสิทธิ และมีใบอนุญาตในการปล่อย อาจเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นภาคเอกชน อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ดี และอาจทำให้เกิดโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ได้ด้วย

“ตอนนี้เอกชนต้องปรับตัว เพราะกติกาต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มตื่นตัว เริ่มมีกฎบังคับใช้ให้รายงาน อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ที่หากเราไม่ทำตาม ก็ต้องเสียค่าปรับ ดังนั้น เราต้องปรับตัวไปให้ไวมากที่สุด บริษัทใหญ่ไม่น่าห่วง

แต่บริษัทขนาดเล็กอาจจะมีความตระหนักอยากทำ แต่ไม่รู้วิธีการว่าจะทำอย่างไร ซึ่งทางหอการค้าพยายามช่วยเหลือ พร้อมให้ความรู้ในบางส่วน คงจะดี เพราะเรามีสมาชิกหลายพันรายทั่วประเทศ จึงต้องช่วยกันส่งเสริมให้ภาคธุรกิจทุกขนาดมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และคำนึงถึงเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อมไปด้วย”