เกษตรกรอัจฉริยะ ความรู้-สุขภาพคือการให้ที่ยั่งยืน

นับเป็นความร่วมมือในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องเพราะ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC มีจุดเด่นในการให้บริการรับเหมาออกแบบ วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบ พัฒนาซอฟต์แวร์ และบำรุงรักษางานวิศวกรรมในสายงานระบบโทรคมนาคม, ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบความปลอดภัยสาธารณะ

ทั้งยังเป็นบริษัทตัวแทนจัดจำหน่าย และติดตั้งระบบสื่อสารต่าง ๆ ชั้นนำของโลก อาทิ ระบบรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Security), ระบบรักษาความปลอดภัยของสาธารณชน และความมั่นคงประเทศ (Public Safety and National Security) รวมถึงระบบกล้องวงจรปิดขนาดใหญ่ให้แก่องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ขณะที่ บริษัท ทีเคไอ เพอร์เพชชวล จำกัด ดำเนินธุรกิจขายส่ง, ขายปลีก, ซ่อมยานยนต์ และจักรยานยนต์ ทั้งยังดำเนินธุรกิจบริการด้านขายนาฬิกา, แว่นตา และอุปกรณ์ถ่ายภาพ ที่สำคัญ ยังจัดตั้งมูลนิธิณัฐภูมิลำปาง ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ จนพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ทั้งสองบริษัทมองเห็นมิติในการช่วยเหลือสังคมไปในทิศทางเดียวกัน ที่สุดจึงจัดทำ “โครงการ TKC สมาร์ตฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) ปั้น Mr & Miss IOT เกษตรกรอัจฉริยะ” เพื่อเป็นต้นแบบนำร่องในการทำเกษตรสมัยใหม่

ซึ่งเป็นโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน IOT (Internet of Things) หรืออินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง และการใช้อุปกรณ์โดรนเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เพาะปลูก หรือทำเกษตรกรรมแบบปลอดสารเคมี

กล่าวกันว่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดจากระยะแรกที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการเปิดรับสมัครเกษตรกรในหมู่บ้าน และสมาชิกของมูลนิธิณัฐภูมิ รวมทั้งกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ จากกลุ่มฮักน้ำจาง อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

เพื่อเข้ารับการอบรมเรียนรู้เทคโนโลยี IOT และการใช้อุปกรณ์แบบง่าย ๆ ทั้งยังสอดแทรกภาคปฏิบัติเพื่อให้เกษตรกรลงมือทำด้วยตนเอง จนสามารถใช้เครื่องมือทางการเกษตรสมัยใหม่ โดยใช้ระยะเวลาอบรม 2 วัน และหลังจากอบรมเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมยังได้รับเกียรติบัตรจากโครงการด้วย

สยาม เตียวตรานนท์
สยาม เตียวตรานนท์

“สยาม เตียวตรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC กล่าวว่า จากการที่ TKC ร่วมงานกับมูลนิธิณัฐภูมิลำปาง ด้วยการนำเทคโนโลยี และวิชาการสมัยใหม่เข้าไปให้สมาชิกเกษตรกรของมูลนิธิในการเพาะปลูก ปรากฏว่าเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดังกล่าวยังนำมาแก้ปัญหา และพัฒนากระบวนการทำงานของเกษตรกร จนทำให้ต้นทุนในการทำการเกษตรลดลง และมีรายได้เพิ่มขึ้น

“3 ปีที่แล้วเราทำโครงการระยะที่ 1 เริ่มจากการสร้างระบบน้ำหยดสำหรับปลูกข้าวโพด ขณะเดียวกัน เราก็เริ่มนำโดรนมาทดสอบในการช่วยเกษตรกรปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ด้วย จนช่วยลดต้นทุน และประหยัดเวลาค่อนข้างมาก กระทั่งมาถึงระยะที่ 2 จึงพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วยตนเอง

เราจึงจัดทำโครงการ ด้วยการอบรมเกษตรกรรุ่นแรก 30 คน และหลังจากผ่านการอบรมแล้ว เกษตรกรเหล่านี้จะมีความรู้ และใช้เทคโนโลยีเป็น จนนำไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกของตัวเองได้จริง ขณะเดียวกัน ทีมวิศวกรอาสาของเราจะคัดเลือกเกษตรกรอัจฉริยะ 3 คน เพื่อเป็นตัวแทน Mr & Miss IOT ในการทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้สมัยใหม่ให้กับคนอื่น ๆ ในชุมชนต่อไป”

สำหรับเทคโนโลยี IOT นอกจากจะช่วยตรวจสอบปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมในการปลูกพืช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความชื้นในดิน, ในอากาศ หากยังช่วยนำข้อมูลป้อนกลับมาในระบบอัตโนมัติที่เราสร้างขึ้นด้วย เนื่องจากระบบนี้จะช่วยควบคุมการจ่ายปุ๋ยและน้ำให้กับแต่ละโรงเรือน ที่สำคัญ เรายังติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวให้กับมูลนิธิจำนวน 24 โรงเรือนด้วย เสมือนเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในมูลนิธิ

ทั้งยังเป็นต้นแบบการเรียนรู้ในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน เพราะเราติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์จำนวน 20 กิโลวัตต์ พร้อม ๆ กับนำระบบโซลาร์เซลล์ขนาด 3.9 กิโลวัตต์ ไปติดตั้งให้กับโรงสูบน้ำ 2 จุด เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพียงพอต่อการทำการเกษตรภายในมูลนิธิด้วย

“ดังนั้น ภายในระยะที่ 3 เรากำลังให้ทีมวิศวกรอาสาพัฒนาฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ชุดใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาตรวจสอบเรื่องของระบบน้ำ เพราะที่ดินบริเวณรอบข้างมูลนิธิยังเพาะปลูกแบบใช้สารเคมีอยู่ เราจึงต้องนำเครื่องมือเหล่านี้มาวัดค่าน้ำว่ามีสารเคมีปนเปื้อนหรือไม่ ขณะเดียวกัน เราจะพัฒนาระบบใหม่นี้เพื่อช่วยเรื่องการประมง และเลี้ยงสัตว์ต่อไปด้วย”

ดร.ภาณุภัทร์ ภู่เจริญ
ดร.ภาณุภัทร์ ภู่เจริญ

ถึงตรงนี้ “ดร.ภาณุภัทร์ ภู่เจริญ” ผู้อำนวยการสายงานโทรคมนาคม บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีที่เรานำมาช่วยพัฒนาเกษตรกรที่เราทำอยู่แล้วความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือเราต้องการพัฒนาคนเพื่อนำเทคโนโลยีไปปรับใช้อย่างต่อเนื่อง

“ผมบอกทีมงานวิศวกรอาสาของเราว่า เมื่อเราได้ Mr & Miss IOT แล้ว จะทิ้งเขาไม่ได้ แต่ต้องไปที่บ้านพวกเขาด้วย เพื่อไปช่วยติดตั้ง ไปดูซิว่าเขาเพาะปลูกอย่างไร และเขาจะนำไปปรับใช้ได้อย่างไร เพราะการให้อย่างเดียวไม่ทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต เราต้องสอนให้เขานำองค์ความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดต่อ ๆ ไปด้วย

และควรนำความรู้เหล่านี้ไปทดลองใช้กันเยอะ ๆ เพื่อจะนำปัญหามาปรับปรุงต่อไป ผมถึงบอกว่าสเต็ปต่อไปเราจะทำเซ็นเซอร์ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำว่ามีสารเคมีปนเปื้อนหรือเปล่า เพราะเรามีข้อมูลอยู่บ้างแล้ว ที่เหลือก็แค่พัฒนาเซ็นเซอร์ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ 100% จริง ๆ”

ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย
ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย

ขณะที่ “ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย” ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคไอ เพอร์เพชชวล จำกัด ในฐานะประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิณัฐภูมิลำปาง กล่าวว่า นอกจากเกษตรกรจะมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ พวกเขายังมีสุขภาพที่ดี เพราะพืชผักที่เขาปลูกปลอดสารพิษ จนทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน เรายังช่วยเหลือผู้พิการ และผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยการจ้างผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน ผู้พิการที่มีความสามารถ เด็กนักเรียนที่ไม่มีทุนการศึกษา เพื่อให้พวกเขามาทำงานที่มูลนิธิ และมีรายได้เลี้ยงตัวเอง

“ทั้งนั้นเพราะผมเชื่อว่าการให้ใด ๆ คงไม่มีดีกว่าการให้ความรู้ อาชีพ สุขภาพ และโอกาส ผมว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะยั่งยืนที่สุด และน่าจะเป็นสิ่งที่ผม และ TKC มองเป้าหมายเดียวกัน”