ฮิตาชิขึ้นเงินเดือนแบบใหม่ วัดผลการเคารพความหลากหลายของพนักงาน

ความหลากหลาย
Photo: Clay Banks/unsplash

เกณฑ์ขึ้นเงินเดือนแบบใหม่ของฮิตาชิ ใช้การยอมรับความหลากหลายเป็นองค์ประกอบในการประเมินผลงาน ปฏิรูปสถานที่ทำงานที่ไม่แบ่งแยก

วันที่ 22 มกราคม 2566 จากการรายงานของนิเคอิ ระบุว่า ฮิตาชิ สำนักงานใหญ่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตั้งเป้าหมายปฏิรูปสถานที่ทำงานให้ยอมรับความหลากหลาย (Diversity) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น เพศ เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพราะปัจจุบันพนักงานของฮิตาชิมีความหลากหลายมากขึ้น โดยมีส่วนแบ่งของพนักงานที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นสูงถึง 60%

แน่นอนว่าแนวทางดังกล่าวไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่น ทั้งนี้ การสำรวจโดย Adecco เปิดเผยว่า ประมาณ 87% ของบริษัทในญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถามในประเด็นโครงการริเริ่มด้านความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก (Diversity & Inclusion) ในปี 2566 ที่ผ่านมา หลายบริษัทกล่าวถึงความท้าทายที่เผชิญ เช่น ความยากลำบากในการวัดผลลัพธ์ และการขาดความเข้าใจและความร่วมมือจากพนักงานในองค์กร

แต่ฮิตาชิเชื่อว่าเป้าหมายของบริษัทจะช่วยส่งเสริมให้สถานที่ทำงานเป็นที่ที่ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข และจะช่วยให้ฮิตาชิดึงดูดคนหางาน และรักษาพนักงานคุณภาพสูงไว้ได้ ทั้งนี้ พนักงานของฮิตาชิได้แสดงการสนับสนุนความคิดริเริ่มนี้ แต่ก็ยังประสบปัญหาในการบรรลุวัตถุประสงค์ในระดับบุคคล บริษัทจึงตัดสินใจว่าจำเป็นต้องส่งเสริมความพยายามผ่านมาตรการเชิงระบบ เช่น การเชื่อมโยงมาตรการเหล่านั้นกับการประเมินบุคลากร

โดยฮิตาชิจะเปิดตัวแผนยกระดับการประเมินบุคลากรในเดือนเมษายน เพื่อการปรับค่าตอบแทนของพนักงาน ผ่านใช้เกณฑ์ทางสังคมที่แสดงความเคารพต่อความหลากหลาย โดยระบบการประเมินใหม่จะถูกนำไปใช้กับพนักงานทั้งหมด 50,000 คน หรือ 40% ของพนักงานในประเทศ รวมถึงผู้จัดการในแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศและพนักงานในแผนกอื่น ๆ

รูปแบบการประเมินของฮิตาชิ พนักงานจะกำหนดเป้าหมายส่วนบุคคลทุก ๆ หกเดือน และได้รับการประเมินโดยหัวหน้างานตามความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น โดยเดิมทีเป้าหมายจะมุ่งเน้นไปที่ตัวชี้วัดด้านตัวเลข เช่น ยอดขายหรือปริมาณการสั่งซื้อ แต่ภายใต้กฎใหม่ การประเมิน 5% จะถูกถ่วงน้ำหนักจากการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความหลากหลาย

พนักงานจะได้รับการจัดอันดับตามกิจกรรมที่ส่งเสริมความหลากหลาย เช่น พนักงานที่ตั้งเป้าหมายในการช่วยเหลือคนพิการอาจถูกเชิญเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการเป็นประจำทุกเดือน พนักงานที่ตั้งเป้าหมายในการสร้างความเข้าใจร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติอาจกำหนดให้พนักงานต้องเข้าร่วมกลุ่มศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตและศาสนาในประเทศอื่น เป็นต้น นอกจากนั้น บริษัทได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มความหลากหลาย เช่น เพิ่มอัตราส่วนของผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงและไม่ใช่คนญี่ปุ่น 30% ภายในปี 2573