“จุฬาฯ” ชู Green Talent ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ

การตั้งเป้าหมายของไทยเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 หรืออีก 42 ปี จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการหาเครื่องมือเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้ไทยมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้

ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้ง “สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน” หรือ “CBiS” ขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคน หรือสร้าง Green Talent ขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว รวมถึงการเปิดตัวโครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 เพื่อรับนิสิต นักศึกษา หรือคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงาน

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

“ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล” ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมาเราก่อตั้งสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิศวกรรม ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า และการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม

โดยช่วง 1 ปีผ่านมา เราพยายามสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น การให้ความรู้ การจัดเทรนนิ่งต่าง ๆ รวมถึงทำแอปพลิเคชั่นเรื่องการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ในชีวิตประจำวัน และกำลังเดินหน้าโครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 ที่มีความคาดหวังจะพัฒนานิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาเพื่อสร้าง Green Talent ที่ตอบโจทย์กับการสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

สำหรับโครงการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงปิดเทอมใหญ่ของหลาย ๆ สถาบัน ซึ่งจะรับสมัครนักศึกษาฝึกงานจากสถาบันการศึกษาใดก็ได้ หรือผู้ที่มีความสนใจเข้ามาร่วมทำงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยการเข้าสู่กระบวนการ Learn Do Share ซึ่งในช่วงของ Learn จะเป็นการเรียนรู้ องค์ความรู้ต่าง ๆ กับสถาบัน

จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงของ Do คือลงมือปฏิบัติ เข้าไปทำงานร่วมกับ SMEs เช่น ทำเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ให้กับ SMEs คาดว่าไม่เพียงแต่เป็นการสร้าง Green Talent ให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น แต่จะเป็นการสร้างคนให้กับกลุ่ม SMEs อีกด้วย

เพราะจะได้ร่วมกันจัดทำ Carbon Footprint for Organization Report หรือ CFO Report ในแบบที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ ไม่ต้องใช้เงินทุนมากมาย โดยที่มีบุคลากรของจุฬาฯ และพันธมิตรหน่วยงานใหญ่ ๆ ช่วยตรวจ ช่วยกันทำ ช่วยกันปรับ

“ผมหวังว่าคนรุ่นใหม่จะสนใจเข้าร่วมโครงการกับเรา อาจจะไม่ได้ปั้น Green Talent 100% แต่สามารถช่วยกันรดน้ำพรวนดินให้เขาเติบโตในขั้นต่อไปได้ เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ต้องอาศัยความรู้ในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกลุ่มคนที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”

กล่าวกันว่า การจะขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนผ่านสู่การสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำให้สำเร็จ ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญคือ บุคลากรในธุรกิจจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะผู้เข้าร่วมโครงการจะมีทักษะติดตัว ผมมองว่าทั่วโลกต้องการคนที่มีทักษะความรู้ด้าน Green หรือที่เรียกว่า Green Job เยอะมาก ในอีกไม่กี่ปี ดีมานด์น่าจะเพิ่มสูงขึ้น 66% หรือราว ๆ 100 ล้านกว่าคน

ฉะนั้น ในจำนวนนี้จึงสะท้อนออกมาในงาน 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรก งานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า หรือกระบวนการการผลิตในโรงงานจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้าต่าง ๆ ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก, กลุ่มงานที่สอง จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของข้อมูล ซึ่งเป็นงานที่ต้องจัดเก็บข้อมูล รายงานผล ที่เรียกว่า Measurable, Reportable and Verifiable (MRV)

ส่วนกลุ่มที่สาม กลุ่มที่ทำงานด้าน Strategy Research Innovation โดยมีเป้าหมายลดคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก องค์กรต่าง ๆ จึงต้องมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ รายงานใหม่ ๆ และมีการพัฒนาอะไรใหม่ ๆ รวมถึงการมีนวัตกรรมเข้ามา ซึ่งงานกลุ่มนี้จะมีความสำคัญมาก

“ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช” อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมหาศาลคือปัญหาสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมดาวอส มีการพูดกันว่า ถ้ารุนแรงขึ้น อาจจะมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 12.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2050 หรือ 27 ปีต่อจากนี้

“ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้กติกาโลกเปลี่ยนตามไปด้วย ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องมองเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงซัพพลายเชนต้องเป็นสีเขียว ตลาดคาร์บอนจะมีบทบาทในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่ใช่เครื่องมือหลัก การจัดการคาร์บอนเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ต้องใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่น เพื่อให้เราเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ฉะนั้น เราต้องเปลี่ยนผ่านเรื่องพลังงานให้ได้ ไม่เช่นนั้นไทยไม่มีทางเป็นกลางทางคาร์บอน หรือเป็น Net Zero ได้ รวมถึง Carbon Tax จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต แรงกดดันจากต่างประเทศก็จะมากขึ้นด้วย”

“วฤต รัตนชื่น” ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยการนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานเข้ามาประยุกต์ใช้ ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pump Storage) เพื่อให้สามารถเก็บไฟฟ้าส่วนที่ผลิตไว้ใช้ในอีกช่วงเวลาหนึ่งได้

“อีกทั้งการสนับสนุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากยิ่งขึ้น เป็นต้น”

“ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงความท้าทายของภาคธุรกิจในการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า ภาคการเงินควรมีบทบาทในการให้ความรู้ ทำให้มีความเข้าใจที่ตรงกันกับองค์กรธุรกิจ รวมถึงให้ข้อมูลควบคู่กับเทคโนโลยี เพื่อสามารถตรวจสอบและประเมินต้นทุนคาร์บอน ตลอดจนกำหนดเส้นทางการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้

“ธนกร ชาลี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบริหารจัดการข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยี Dashboard Recording เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และมีนัยสำคัญ ซึ่งสามารถประเมินและแปลงหน่วยเพื่อนำมาคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ได้

“นอกจากนี้ยังสามารถจัดทำรายงานเบื้องต้นเพื่อแสดงสถานะการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เบื้องต้นขององค์กร เพื่อจัดทำเป้าหมายการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรต่อไป เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วย และบริหารจัดการในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย”