“มจธ.” หนุนอุทยานแห่งชาติ ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด

ที่ทำการอุทยานแห่งชาติของไทย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งในป่าลึก บนเขาสูง กลางทะเล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ทำได้ยาก และไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าหลายพื้นที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟเครื่องยนต์ดีเซล ก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งให้ความสำคัญกับโจทย์วิจัยการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลมากว่า 25 ปี ได้เห็นความสำคัญของการนำองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จัดทำโครงการการศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสม ในอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เกาะห้อง : Smart Island ด้วยพลังงานสีเขียว” ให้กับหัวหน้าอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคใต้ 54 หน่วยงาน พร้อมสาธิตนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับพื้นที่ห่างไกล ณ เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่

“สุพจน์ เพริศพริ้ง” ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า โครงการนี้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปอุทยานแห่งชาติ 20 ปี หรือ Smart National Park ทั่วประเทศ และเป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนากลุ่มอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคใต้ ครั้งที่ 1 เพื่อศึกษารูปแบบการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ

ปัจจุบันยังมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้าใช้กว่า 210 แห่ง เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การปักเสาลากสายส่งกระแสไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับหน่วยงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง ทำให้มีข้อจำกัดในการลงทุน แต่หากเห็นว่าคุ้มค่าและจำเป็นก็จะใช้ระบบไฟฟ้าจากแนวสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

“แต่การที่จะทำเช่นนั้นบนเกาะกลางทะเลเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จึงหันไปผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ผลกระทบคือ เสียงดัง คราบน้ำมันไหลลงสู่ทะเล และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงสูง ยกตัวอย่าง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี เกาะห้อง จังหวัดกระบี่ ใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 15 ลิตรต่อวัน ราคาน้ำมันดีเซลช่วงนี้ประมาณราคา 27.29 บาท/ลิตร คิดเป็นค่าใช้จ่าย 12,280 บาทต่อเดือน”

สำนักงาน กกพ.จึงได้ออกประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97 (4) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหนึ่งในผู้ได้รับจัดสรรเงินกองทุนให้ดำเนินโครงการการศึกษารูปแบบและพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

“รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน” อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า ภาพรวมด้านพลังงานของไทย ปริมาณสำรองพลังงานภายในประเทศสามารถรองรับการใช้งานได้อีกช่วงหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะน้ำมันคาดว่าจะมีใช้งานได้อีก 7 ปี เพราะเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และมีการท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้ให้ประเทศ ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น

กว่า 25 ปีที่ มจธ.ให้ความสำคัญกับโจทย์วิจัยระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล เราได้วิจัยและพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า และได้ผลลัพธ์เป็นระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (hybrid) ระบบ microgrid ระบบกังหันน้ำ การควบคุมระบบที่หลากหลาย ขนาดระบบมีความสะดวกในการขนส่ง เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จึงทำให้มีโมเดลขนาดระบบผลิตไฟฟ้าที่มีความหลากหลายในการผลิตกำลังไฟฟ้าตรงกับความต้องการในการใช้ในแต่ละอุทยาน เช่น ปริมาณการใช้ไฟฟ้า 10 ยูนิต/วัน 30 ยูนิต/วัน 50 ยูนิต/วัน เป็นต้น และได้จัดเก็บข้อมูลต่อเนื่องมากว่า 4 ปี

เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดมลพิษต่ำและมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำกว่าระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าวได้ระยะยาว ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาต้นทุนในการผลิตลดลง และใกล้เคียงกับระบบผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่น จึงอยากผลักดันระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน มีการนำมาใช้แพร่หลายในประเทศไทย”

ถึงตอนนี้เรามีห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด มจธ. เพื่อทำการวิจัยและศึกษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ห่างไกลกว่า 15 ระบบ ที่ติดตั้งใช้งานจริงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และหมู่บ้านในชนบท เช่น อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติตาดหมอก อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย หมู่บ้านเกาะจิก หมู่บ้านคีรีวง เป็นต้น

เมื่อนำระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานด้วยพลังงานสะอาดในโครงการมาใช้งาน แทนระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซลเดิมในพื้นที่โครงการทั้ง 3 ระบบ พบว่า ก๊าซมลพิษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับการผลิตไฟฟ้ามีปริมาณลดลง การปนเปื้อนของคราบน้ำมันในดินมีน้อยลง ค่า grease and oil ของคราบน้ำมันที่ปนเปื้อนในดินลดลง รวมทั้งมลพิษทางเสียงก็ลดลงด้วย ส่วนผลทางสังคม ทั้งนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ต่างพึงพอใจระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานด้วยพลังงานสะอาด มากกว่าระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซลเดิม

“ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง” นักวิจัย มจธ.กล่าวเสริมว่า อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าระบบโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าบนเกาะห้อง มีเทคนิคการควบคุมแบบทำนายล่วงหน้าโดยใช้ระบบพยากรณ์อากาศ ทั้งยังสามารถควบคุมและแสดงผลผ่านมือถือ และคอมพิวเตอร์ได้ โดยใช้งบประมาณ 2.5 ล้านบาท แต่สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

“อัตราค่าพลังงานที่ผลิตได้จากระบบลดต่ำลง มีค่าใช้จ่ายเพียง 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน (ยูนิต) เทียบกับค่าใช้จ่ายจากเครื่องปั่นไฟถูกกว่าประมาณ 3 เท่า ทำให้สามารถบริหารจัดการระบบได้ดีกว่าระบบแบบเดิม”

แต่การใช้งานระบบดังกล่าวมักมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ อุปกรณ์หลักพังเสียหาย เช่น อินเวอร์เตอร์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจระบบ ทำให้ขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และปัญหาไอเค็มจากทะเล จึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภาคใต้ เพื่อสาธิตนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับพื้นที่ห่างไกล ที่เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี

นอกจากนี้ จะมีการสำรวจข้อมูลการใช้ไฟของแต่ละหน่วย เพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนแม่บทพัฒนาอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสู่อุทยานแห่งชาติสีเขียวทั่วประเทศในภาพรวม นำไปต่อยอดดำเนินการในหลาย ๆ พื้นที่ นับเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้พื้นที่ห่างไกลได้มีไฟฟ้าใช้อย่างคุ้มค่าและทั่วถึง