มิวเซียมสยามจับมือ 9 หน่วยงาน รุกเปิดตัวสื่อการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่

“ราเมศ พรหมเย็น” ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ มิวเซียมสยาม กล่าวว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา นิยามของพิพิธภัณฑ์ได้ปรับเปลี่ยนเรื่อยมา และวงการพิพิธภัณฑ์เองได้เพิ่มบทบาทด้านการศึกษาสำหรับประชาชน ซึ่ง สพร.ได้ดำเนินการพัฒนากิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองนโยบายการเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม

อาทิ โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับโรงเรียน การพัฒนาสมุดกิจกรรมและใบงาน เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ และง่ายต่อการจดจำเนื้อหา โครงการรถรักเรียน (Muse Caravan) ที่นำความรู้ไปมอบให้ยังโรงเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ในการนำเด็กเข้ามาถึงพิพิธภัณฑ์ โครงการมิวเซียมติดล้อ (Muse Mobile) นิทรรศการเคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประกอบ เพื่อขยายโอกาสสำหรับเยาวชนในระดับภูมิภาค เป็นต้น

“สพร.ได้ดำเนินการพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบต่างๆ (Education Program Showcase) โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของรูปแบบการสื่อสารในแต่ละช่วงวัย และเน้นแนวคิดการเรียนรู้โดยมีปฏิสัมพันธ์ ด้วยการใช้ประสาทสัมผัส หรือการลงมือทำเป็นสำคัญ”

นอกจากสื่อการเรียนรู้ของทาง สพร. ที่เน้นพัฒนาสื่อรูปแบบดั้งเดิมให้เข้ากับยุคสมัยและพฤติกรรมการเรียนรู้ของเยาวชนระดับปฐมวัย จนถึงมัธยมศึกษาแล้ว เครือข่ายพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษาที่มีความสนใจเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น อาทิ แบบจำลองระหัดวิดน้ำ 3 มิติ โดยหอไทยนิทัศน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อการศึกษาด้านโครงสร้างภูมิปัญญาไทยสมัยก่อน ผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้เทคโนโลยียุคใหม่

Advertisment

“ราเมศ” กล่าวต่อว่า สพร.ได้จัดงาน Museum Forum 2017 ขึ้น โดยรวบรวมนักวิชาการ นักการศึกษาในวงการพิพิธภัณฑ์ องค์กรศิลปวัฒนธรรม และหน่วยงานการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA), องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุ งเทพมหานคร (BACC) และศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (TCE Center)

ภายในงานประกอบด้วยการนำเสนอผลงานวิชาการ ปาฐกถา เสวนาโต๊ะกลม แถลงการณ์การประชุมวิชาการ และการจัดแสดงสื่อการเรียนรู้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ร่วมกันหาทางออกสำหรับปัญหา และขับเคลื่อนบทบาทด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ให้เด่นชัดมากขึ้น

Advertisment

“แม้ว่าจะมีการลงทุนและให้การสนับสนุนกับการพัฒนาพิพิธภั ณฑ์และแหล่งเรียนรู้ แต่บทบาทด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์กลับยังไม่เป็นที่ตระหนักมากนัก และสังคมเองยังไม่หยิบยกพิพิธภัณฑ์มาใช้เพื่อการเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ อันมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ ความไม่สอดคล้องระหว่างหลักสูตรการศึกษากับพิพิธภัณฑ์ ข้อจำกัดเรื่องความเร่งรีบในการชมพิพิธภัณฑ์ การขาดการวางแผนจัดกระบวนการเรียนรู้นอกห้องที่ชัดเจน รวมถึงรูปแบบการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก ที่ยังต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ และความสนใจที่หลากหลายของประชาชน”

“ปัจจุบันการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดกรอบโครงสร้างเวลาสำหรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการศึกษานอกห้องเรียนในระดับมัธยมศึกษาประมาณ 100 ชั่วโมงต่อปี หรือประมาณ 8% ของเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งจากการศึกษาทฤษฎี การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ และกรณีศึกษาจากต่างประเทศ พบว่า กระบวนการเรียนรู้ซึมซับผ่านเพียงการดูและการฟัง สมองจะสามารถเรียนรู้จดจำได้มากที่สุดแค่เพียง 50% เท่านั้น”

“หากประเทศไทยมีการเพิ่มสัดส่วนการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ หรือการเรียนรู้ผ่านสื่อที่มีความทันสมัยให้เด็กได้รับประสบการณ์จริงเป็น 10-20% ของชั่วโมงการเรียนรู้ ก็จะสามารถเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”