ESG100 ไทยพัฒน์ ปี”62 พัฒนา บจ.ไทยสู่การลงทุนยั่งยืน

เนื่องจากกระแสการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนในกลุ่มนี้ที่มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี

โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนว่า ได้เข้าสู่โหมดการลงทุนกระแสหลัก (mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภทสถาบันอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งตัวเลขการเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ผนวกในการวิเคราะห์ ในปี 2561 มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี 2559

จากแนวโน้มดังกล่าว สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ได้มีการจัดทำและประกาศรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่น ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า “กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100” มาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

สำหรับล่าสุด สถาบันไทยพัฒน์มีประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ติดอันดับ ESG100 ประจำปี 2562 ทั้งยังมีการคัดเลือกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ ด้วยเกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน และได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

“ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 รอบนี้ ถือเป็นปีที่ 5 ของการประเมิน โดยทีม ESG Rating ในสังกัดสถาบันไทยพัฒน์ ที่จัดทำการประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 771 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF)

 

Advertisment

โดยอ้างอิงจากเอกสารรายงาน หรือการระบุข้อมูลตามแหล่งและช่วงเวลาที่บริษัทเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ รวมทั้งในรายงานประจำปี รายงานแห่งความยั่งยืน และข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาความยั่งยืน ที่บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ที่เปิดเผยจาก 6 แหล่งข้อมูล จำนวนกว่า 14,278 ชุดข้อมูล ประกอบด้วย

1) ข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2) ข้อมูลการประเมินการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน (ESG Rating) บริษัท อีเอสจี เรตติ้ง จำกัด 3) ข้อมูลโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย

Advertisment

4) ข้อมูลผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CG Scoring) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) 5) ข้อมูลโครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ (CSR Progress Indicator และ Anticorruption Indicator) สถาบันไทยพัฒน์ และ 6) ข้อมูลการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสื่อ (Media and Stakeholder Analysis : MSA) บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด)

“ทั้งยังพิจารณาข้อมูลทั้งการดำเนินงานด้าน ESG และผลประกอบการของบริษัทควบคู่กัน โดยใช้เรตติ้งโมเดลที่พัฒนาขึ้นจากหลักการแนวทางตามมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของ GISR (Global Initiative for Sustainability Ratings) ทำให้หลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 ตอบโจทย์ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุน”

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวอีกว่า การประเมินในปีนี้นอกจากการพิจารณาข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) แล้ว ยังพิจารณาผลประกอบการของบริษัทควบคู่ไปพร้อมกัน และยังทำการประเมินกองอสังหาฯ-REITs-โครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรก เพื่อเพิ่มทางเลือกของการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ไม่ด้อยกว่าการลงทุนในหุ้นทั่วไป

“การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้าอยู่ใน universe ของ ESG100 ประจำปี 2562 มีบริษัทที่เข้าใหม่ 18 บริษัท 9 กองทุน และถูกคัดออก 27 บริษัท โดยปัจจัยที่ทำให้ถูกคัดออกนั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลประกอบการของธุรกิจที่อยู่ในช่วง dow turn ประกอบกับแนวโน้มของตลาดที่มีความผันผวน ทรุดตัวลง อย่างในกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และโรงกลั่น รวมถึงการที่บริษัทต่าง ๆ มีการนำ ESG เข้ามาใช้ในการทำงาน และเป็นกลยุทธ์ขององค์กรมากขึ้น ทำให้ความเข้มข้นของการประเมินมีเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย”

สำหรับ ESG100 ประจำปี 2562 จำแนกตามรายกลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม ประกอบด้วย

หนึ่ง กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (agro & food industry) จำนวน 11 หลักทรัพย์ ได้แก่ NER, TWPC, CPF, HTC, M, MINT, OSP, PB, TVO, TMILL และ XO

สอง กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer products) จำนวน 4 หลักทรัพย์ ได้แก่ SUC, S&J, TOG และ MOONG

สาม กลุ่มธุรกิจการเงิน (financials) จำนวน 12 หลักทรัพย์ ได้แก่ BAY, KBANK, KKP, KTB, LHFG, SCB, TCAP, TISCO, TMB, KTC, THANI และ NSI

สี่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (industrials) จำนวน 15 หลักทรัพย์ ได้แก่ AH, IRC, SAT, STANLY, TSC, SNC, BGC, TMD, IVL, VNT, LHK, SMIT, TMT, FPI และ MBAX

ห้า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (property & construction) จำนวน 21 หลักทรัพย์ ได้แก่ SCC, DRT, SCP, CK, SEAFCO, CPN, LH, LPN, MBK, ORI, PSH, QH, SPALI, PPS, B-WORK, CPNCG, FTREIT, GVREIT, LHSC, POPF และ WHART

หก กลุ่มทรัพยากร (resources) จำนวน 10 หลักทรัพย์ ได้แก่ BAFS, BCPG, BGRIM, EGATIF, EGCO, GPSC, GULF, PTT, TTW และ TPCH

เจ็ด กลุ่มบริการ (services) จำนวน 21 หลักทรัพย์ ได้แก่ BJC, COM7, CPALL, HMPRO, MEGA, SPI, BCH, BDMS, BH, NTV, TKS, VGI, BWG, CENTEL, ERW, AOT, BEM, BTS, NYT, SPA และ WINNERและแปด กลุ่มเทคโนโลยี (technology) จำนวน 6 หลักทรัพย์ ได้แก่ DELTA, ADVANC, INTUCH, JASIF, SIS และ SYNEX

ถึงตรงนี้ “ดร.พิพัฒน์” บอกว่า ESG100 ประจำปี 2562 มีหลักทรัพย์ที่มาจากตลาด mai อยู่ 9 หลักทรัพย์ ได้แก่ FPI, MBAX, MOONG, PPS, TMILL, TPCH, SPA, WINNER, XO และเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 กอง ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)

“ทั้งยังมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่ได้รับคัดเลือกอีก 7 กอง ได้แก่ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG), กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ (POPF), ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK)”

“ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT), ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT), ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยมโกรท (WHART)”

“อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณของ S&P Dow Jones เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ระบุว่า ดัชนีผลตอบแทนรวมของอีเอสจี ไทยพัฒน์ (Thaipat ESG Index-TR) ให้ผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยต่อปี (3-year annualized return) อยู่ที่ 7.88% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) รวมกันของหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าราว 10.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62.6 เมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคปรวมของตลาด (SET) ที่ 16.6 ล้านล้านบาท”

ทั้งนี้ รายชื่อหลักทรัพย์ ESG100 ชุดใหม่นี้ จะถูกนำไปใช้ในการคำนวณดัชนี Thaipat ESG Index ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้อีกด้วย