“กกจ.” จับมือ “จ๊อบฯ” สร้างแรงงานยุค 4.0

เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในส่วนของกระทรวงแรงงานต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ “Full Employment for all Ages 2021” หรือ “กำลังแรงงานมีงานทำถ้วนหน้าทุกช่วงวัยภายในปี 2564” กรมการจัดหางาน (กกจ.) จึงร่วมมือกับ บริษัท จัดหางาน จ๊อบ บีเคเค ดอทคอม จำกัด ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดหางาน เพื่อประสานความร่วมมือ และส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ

ทั้งยังสามารถเข้าถึงตำแหน่งงานว่าง ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมพัฒนาแรงงานให้ตรงกับตามความต้องการของตลาด โดยมีข้อมูลของบริษัทจัดหางานเป็นฐานข้อมูลที่เข้ามาเติมเต็มมากยิ่งขึ้น เพื่อให้พร้อมที่จะก้าวไปสู่ยุคสังคมการทำงานแห่งปัญญา (Brain Power) ในการรองรับนโยบาย Thailand 4.0

“วรานนท์ ปีติวรรณ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นมิติใหม่ของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ในความร่วมมือด้านการจัดหางาน เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี อันจะทำให้ประเทศชาติมีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีรายได้สูง พร้อมยกระดับประเทศให้อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนา

จากการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งงานผ่านเว็บไซต์ smartjob.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน และ www.jobbkk.com ของบริษัทจัดหางานจ๊อบ บีเคเค ดอทคอม จำกัด โดยมีหลักการความร่วมมือคือ กรมการจัดหางาน และบริษัทจัดหางานจ๊อบ บีเคเค ดอทคอม จำกัด จะแลกเปลี่ยนป้ายประกาศหรือ banner นำไปติดตั้งไว้บนหน้าเว็บไซต์ของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งงานที่ดี และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ปี 2559 กรมการจัดหางานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ เพื่อให้กรมการจัดหางานเป็นศูนย์รวมข้อมูลความต้องการแรงงาน (demand) และผู้ต้องการหางาน (supply) จึงส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงตำแหน่งงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกจำนวนกว่า 8,400 อัตรา โดยประชาชนมีงานทำจำนวน 4,400 คน ก่อให้เกิดรายได้กว่า 10,482,000 บาท/เดือน

“ทัศไนย เหมือนเสน” ผู้ช่วยรองประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบบีเคเค ดอทคอม จำกัด กล่าวเสริมว่าเพื่อรองรับตลาดแรงงานในยุค Thailand 4.0 การพัฒนาทักษะของแรงงานไทยจะต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตำแหน่งงานใดที่ไม่ได้ใช้ทักษะจะเริ่มถูกแทนที่ และเกิดตำแหน่งงานใหม่ อาทิ ตำแหน่งงานด้านไอที, นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (Data Scientist),พนักงาน R&D และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Development) เป็นต้น

“ตำแหน่งงานเหล่านี้ ประเทศไทยยังพัฒนาคนได้น้อยมาก ขณะที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง แต่นักศึกษาจบใหม่ ยังไม่มีศักยภาพตรงตามตลาดแรงงาน ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวของสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่ผลิตบุคลากรออกมาสู่ตลาดแรงงานต่อไป โดยจะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัย ยิ่งกลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับ Cyber Security, Data Mining รวมถึงวิชาที่เกี่ยวกับ Logistic จะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ทั้งยังสอดคล้องกับตลาดแรงงานยุค 4.0”

สำหรับการแลกเปลี่ยนด้านฐานข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับตำแน่งงานยอดนิยมและตำแหน่งงานว่างที่ต้องการ ซึ่งจ๊อบ บีเคเคฯ รวบรวมตำแหน่งงานให้เลือกกว่า 1.5 แสนอัตรา ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าชมเว็บไซต์กว่า 1.2 แสนคน ขณะที่หน้าเพจ Facebook มีคนเข้ามาดูประมาณ 2-3 แสนคน/วัน

ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ประชาสัมพันธ์งานของทางกรมการจัดหางาน โดยผ่าน Banner ที่หน้าเว็บไซต์ และการร่วมกันประชาสัมพันธ์กิจกรรมการจัดงาน Job Fair ซึ่งจัดขึ้นทุกภูมิภาคของประเทศไทย

นับเป็นความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนจากการมีงานทำของประชากรไทย ให้สามารถเข้าถึงตำแหน่งงานที่มีรายได้ พัฒนาทักษะตามสายงานที่ตนเองชำนาญ เพื่อก้าวสู่การทำงานที่มีนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ และบรรลุสู่ยุคสังคมการทำงานแห่งปัญญาต่อไปตามเป้าหมายที่วางไว้