บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ กรมประมง และกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้น จัดพิธี “ส่งมอบและจัดวางปะการังเทียม ภายใต้ความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และฟื้นฟูการประมงชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน” จำนวน 1,000 แท่งให้กับชุมชน อ.ระโนด จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อฟื้นฟูและสร้างระบบนิเวศทางทะเลให้สมบูรณ์มากขึ้น การจัดวางปะการังเทียมจะเป็นการสร้างที่อยู่ ที่หลบภัยและที่เพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำมีจำนวนมากขึ้น และชาวประมงสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองผนึกกำลังทุกภาคส่วนต่างๆ ในการอนุรักษ์ทะเลไทยอย่างยั่งยืน
“วิชาญ อิงศรีสว่าง” รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของท้องทะเล ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำของไทยมีปริมาณลดน้อยลงเป็นอย่างมากจนบางชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง และทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว
จากปัญหาดังกล่าวกรมประมงจึงได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเล โดยการจัดสร้างปะการังเทียมอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2521 โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน
“ปะการังเทียมมีประโยชน์ในการใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ ทั้งยังเป็นการป้องกันการทำการประมงที่มีลักษณะทำลายทรัพยากร จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเล รวมทั้งเป็นการพัฒนาแหล่งทำการประมงทั้งการประมงพื้นบ้านและการประมงพาณิชย์ ทำให้ชาวประมงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนถึงปัจจุบันกล่าวได้ว่าท้องทะเลไทยมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นจากการจัดวางปะการังเทียม”
“ลำหรับการจัดวางปะการังเทียมครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าในระยะที่ 2 จากการลงนามความร่วมมือในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งภาคตะวันออกอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ระหว่างกรมประมง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และบริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยครั้งนี้กรมประมงเป็นตัวแทนส่งมอบปะการังเทียมให้กับจังหวัดสงขลา และจังหวัดนราธิวาส เพื่อนำปะการังเทียมจำนวน 1,000 แท่งไปส่งมอบให้กับชุมชนชายฝั่ง อ.ระโนด จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อดำเนินการต่อไป
“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากวิกฤตและปัญหาที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะภาคเอกชนที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของระบบเกษตรอุตสาหกรรม และอาหารที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเลไทย จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่ง ภาคตะวันออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยดำเนินการผ่านแนวคิดหลัก SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน
เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย
1) นโยบายในการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (SD in Process) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ชูการทำงานที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น นโยบายการรับซื้อปลาป่นที่ต้องได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน การร่วมขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารทะเล เช่น Seafood Taskforce ตลอดจนนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ที่มีเจตนารมณ์ในการร่วมจัดการของเสียและขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
2) ส่งเสริมศักยภาพชีวิตชุมชน เช่น การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดียั่งยืน ด้วยรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม และส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนในชุมชน
3) สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ เช่น โครงการป่าชายเลน โครงการปะการังเทียม บ้านปลา แนวเขตและกติกาเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน
4) การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น โครงการธนาคารสัตว์น้ำ
และ 5) การวิจัยและพัฒนา โดยร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านทรัพยากรทางทะเลระดับประเทศ ผ่านงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรปลาทู และงานวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการทำประมงอย่างยั่งยืน
“สำหรับความร่วมมือกับกรมประมงในการจัดวางปะการังเทียมต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 จำนวน 1,000 แท่ง ในพื้นที่ชุมชนทะเลชายฝั่ง อ.ระโนด จังหวัดสงขลา และ อ.เมือง จ.นราธิวาส ในครั้งนี้ เรามุ่งหวังให้ท้องทะเลภาคใต้ของไทยฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ พี่น้องชาวชุมชนมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถือเป็นพัฒนาการอีกหนึ่งก้าวของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการพัฒนาความยั่งยืนสู่ท้องทะเลไทย”
“ศุภชัย” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ศึกษาวิจัยติดตามผลการดำเนินงานในโครงการจัดวางปะการังเทียม ภายใต้ความร่วมมือกับกรมประมงตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งภาคตะวันออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
จากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า ผลการดำเนินงานในพื้นที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 1 นั้น การวางปะการังเทียมทั้งหมดไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อท้องทะเลบริเวณดังกล่าวทั้งทางเคมีและทางกายภาพ แต่ยังพบว่าท้องทะเลบริเวณดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น สำรวจพบว่ามีปลามากถึง 35 ชนิด และจำแนกเป็นปลาเศรษฐกิจมากถึง 22 ชนิดและปลาสวยงามอีก 8 ชนิด ทำให้ชุมชนประมงชายฝั่งในบริเวณดังกล่าวสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น
“ในปีนี้เครือซีพีจึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนดำเนินการขยายพื้นที่วางปะการังเทียมเพิ่มขึ้นเป็นระยะที่ 2 จำนวน 1,000 แท่ง ให้กับพื้นที่ชุมชน อ.ระโนด จังหวัดสงขลา 500 แท่ง และ อ.เมือง จ.นราธิวาส 500 แท่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทางระบบนิเวศในการสร้างปะการังเทียม จนถึงปัจจุบันเครือซีพีได้จัดวางปะการังเทียมในทะเลไทยรวมทั้งสิ้น 2,000 แท่ง ทำให้ชุมชนประมงชายฝั่งในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากทะเลได้อย่างยั่งยืนสามารถสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
นอกจากนี้ บริษัทในเครือฯ ทั้ง บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร และบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีออลล์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย ได้ผนึกกำลังร่วมกับเครือซีพีซึ่งเป็นบริษัทแม่ในการเดินหน้าอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้ดำเนินโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ที่ซีพีเอฟได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันสามารถร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนได้จำนวน 2,388 ไร่ ใน 5 พื้นที่ได้แก่ จ.ระยอง จ.สมุทรสาคร จ.ชุมพร จ.สงขลา และ จ.พังงา ขณะที่ซีพีออลล์ ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลโดยรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกตามเกาะต่างๆ ในทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ได้แก่ เกาะลันตา เกาะยาวน้อย เกาะหลีเป๊ะ เกาะเต่า เกาะเสม็ด เป็นต้น
“เครือซีพีมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน ด้วยการผนึกกำลังบริษัทต่าง ๆ ในเครือฯ นำความรู้และความสามารถ ตลอดจนทักษะ และประสบการณ์ รวมไปถึงการสร้างเครือข่าย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือซีพี ที่มุ่งมั่นจะสร้างธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยยึดมั่นความกตัญญูทั้งต่อประเทศชาติ สังคมและบริษัท ตามหลักค่านิยม 3 ประโยชน์ ต่อไป