เปิดแผน CSR ปตท.ปี’63 โฟกัสปลูกป่า-ช่วยพื้นที่ภัยพิบัติ

การเป็นองค์กรขนาดใหญ่ด้านพลังงานอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำให้ไม่ว่าจะขยับองค์กรไปด้านใดก็ตาม มักจะกลายเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ นำไปศึกษา และปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสังคม หรือ CSR (corporate social responsibility) จนปัจจุบันพัฒนาการของรูปแบบการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมนั้น พัฒนามาสู่รูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ SE (social enterprise) ที่เน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนและ ปตท. “อัจฉริยา เจริญศักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ในเครือ ปตท.ระบุถึงแผนดำเนินงานด้าน CSR ในปี 2563 นี้ว่า ปตท.ยังคงยึดหลัก 3 เรื่องในการดูแลคือ “คน” (people) “สิ่งแวดล้อม” (planet) และ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (partnership) ที่สำคัญบริษัทในเครือทั้งหมดจะต้องให้ความสำคัญ และมีกรอบการทำงานให้ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด

“อัจฉริยา” ฉายภาพปัจจุบัน ปตท.และบริษัทในเครือว่ามีบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการกลั่น ปิโตรเคมี และไฟฟ้า คือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

“อัจฉริยา เจริญศักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

“ซึ่งภายหลังจากการจัดตั้งบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่บริษัทในเครือทั้งหมดได้ “ลงขัน” รวมกันกว่า 30 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้น เพื่อพัฒนาโครงการเพื่อดูแลสังคมชุมชน ยกตัวอย่างเช่น การรับซื้อกาแฟจากชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยราคารับซื้อพิเศษที่บวกราคาเพิ่มให้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องช่วยกันดูแลผืนป่ารอบ ๆ พื้นที่ปลูกกาแฟสูงสุดที่ประมาณ 3 บาท/กิโลกรัม เพื่อความยั่งยืนของชุมชนให้ชุมชนมีงานทำ ไปพร้อมกับการมีรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง แม้ว่าองค์กรที่สนับสนุุนจะเปลี่ยนการช่วยเหลือไปยังพื้นที่อื่นแล้วก็ตาม”

“อัจฉริยา” ยังบอกอีกว่า จากนโยบายของ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. (CEO) ได้ประกาศให้งานด้านตอบแทนสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้มุ่งเน้นไปที่รูปแบบ SE มากขึ้น อีกทั้งบริษัทในเครือที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไปก็สามารถใช้จุดแข็งมาพัฒนาเป็นโครงการเพื่อสังคมได้อย่างเช่น PTTGC ที่เน้นไปที่ด้านขยะรีไซเคิล นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำขยะมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า, รองเท้า และกระเป๋า เป็นต้น หรือแม้แต่ PTTOR เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟอเมซอนที่จ้างงานผู้สูงวัยหลังเกษียณและผู้ด้อยโอกาสได้มีงานทำ


“แต่เมื่อมาโฟกัสโครงการที่จะเกิดขึ้นตามแผนในปี 2563 จะเน้นไปที่โครงการปลูกป่า และการช่วยเหลือจากการเกิดภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นหลัก เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม ฯลฯ สำหรับโครงการปลูกป่าของ ปตท.นั้นมีแผนที่จะขยายพื้นที่สีเขียวเพิ่มอีกประมาณ 1,000 ไร่ทั่วประเทศ ซึ่ง ปตท.เชื่อมั่นว่าจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,604 ตัน/ปี นอกจากการปลูกแล้วยังเพิ่มการดูแลรักษาและประเมินผลพื้นที่ที่ปลูกป่าไปแล้วเป็นอย่างไร”

“อีกทั้ง ปตท.ยังเพิ่มการบริหารจัดการพื้นที่ป่า หรือการบริหาร network ที่มีอยู่ ด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้มาช่วยดูแล และมีองค์ความรู้ในการร่วมรักษา และดูแลผืนป่าที่เป็นต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในพื้นที่ต่าง ๆ และในปีนี้จะมีโครงการที่สำคัญคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพมหานคร ช่วงเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 30 ไร่ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง ปตท.และกรุงเทพฯ อย่างเช่น ปลูกต้นไม้เพิ่มในสวนรถไฟ และในพื้นที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมไม่เพียงแต่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้ลดลงได้อีกด้วย”

นอกเหนือจากนั้น “อัจฉริยา” บอกว่า ปตท.ยังมองเรื่องการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับ “สุขภาพ” ของคนในชุมชน และ “กีฬา” ที่อาจจะต้องร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ หรือมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันด้วย เนื่องจากในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ อาจจะมีโอกาสให้ได้คิด วิเคราะห์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิต เพื่อนำมาตั้งเป็นโจทย์ในการช่วยแก้ไข ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่าแนวคิดดังกล่าวจะพัฒนาต่อยอดได้หรือไม่

“ที่สำคัญ ต่อจากนี้ไป ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานของประเทศ ยังนำจุดแข็งคือความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานมาทำโครงการ “พลังงานชุมชน” โดยการนำชุมชนที่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ หรือ biogas โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์แล้วส่งกลิ่นเหม็นไปรอบพื้นที่ หากนำมูลสัตว์ และน้ำจากกระบวนการดูแลสัตว์เลี้ยงนำไปหมักตามขั้นตอนให้ได้ก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่แล้ว คนในพื้นที่ยังมีองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปพัฒนาอาชีพต่อไปได้ในอนาคต”

“เมื่อนำธุรกิจหลักของ ปตท.เข้ามาใช้กับงานด้าน CSR เพราะเราเชี่ยวชาญ และสามารถนำมาปรับใช้กับภาคชุมชนได้ เนื่องจากในเครือ ปตท.มีวิศวกรเก่ง ๆ หลายด้าน เราสามารถหยิบคนเก่ง ๆ ขึ้นมาช่วยคิด วิเคราะห์อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อย่างปั๊มน้ำมันเราก็นำสินค้าชุมชนเข้ามาจำหน่าย ร้านกาแฟอเมซอนก็มีสินค้าชุมชน มีอีกหลายเรื่องที่ ปตท.มองว่าการที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง win-win มันตอบโจทย์สิ่งที่เรียกว่าความยั่งยืนได้”

“อีกทั้งในขณะนี้ และที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ โดยร่วมมือกับบริษัทในเครืออย่าง GPSC ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะมีผลงานมากมายทั้งโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ และขนาดเล็กทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีอยู่หลายโครงการ ซึ่งหากสามารถพัฒนาโครงการได้ จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก”

ที่ไม่เพียงจะได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ชุมชนยังสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไปพร้อม ๆ กับการสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน