สตรีผู้ปิดทองหลังพระ “ลอรีอัล” เชิดชูนักวิจัยทำงานสู้โควิด-19

นับเป็นปีที่ 18 ของโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science : FWIS) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และสำนักเลขาธิการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ด้วยจุดมุ่งหมายในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสายงานวิทยาศาสตร์ที่อายุระหว่าง 25-40 ปี ให้เป็นที่รู้จัก และก้าวหน้าทางอาชีพมากขึ้น

สำหรับปีนี้จัดเป็นทุนพิเศษแก่ 3 นักวิจัยที่มีผลงานสร้างประโยชน์อย่างโดดเด่นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลากหลายด้าน เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นโครงการ L”Oreal Thailand COVID-19 Solidarity ในการปันน้ำใจ และให้การสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส อาทิ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์, กลุ่มธุรกิจร้านเสริมสวย และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

ที่สำคัญคือปีนี้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา จากที่เปิดรับสมัครนักวิจัยสาขาต่าง ๆ เข้ามาชิงทุน และคณะกรรมการจะคัดเลือก และมอบทุน 250,000 บาท ให้นำไปต่อยอดงานวิจัย แต่ปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้เปลี่ยนเป็นการเฟ้นหานักวิจัยหญิงที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโควิด เพื่อเชิดชูในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์เพื่อสังคมในการต่อสู้กับวิกฤตไวรัส

สำหรับนักวิจัยที่ได้รับการเชิดชูปีนี้ มี 3 ท่านจากสาขาต่าง ๆ ได้แก่ “รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์” สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้ริเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มระบาดในช่วงแรก ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีประเทศไหนมีข้อมูลเกี่ยวกับโควิด เธอจึงมีส่วนทำวิจัยหลากหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวิธีตรวจเซรุ่ม เพื่อตรวจหาระดับแอนติบอดี้ลบล้างฤทธิ์ในเลือดของผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิดแล้ว นำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ทั้งยังนำเอาความรู้พื้นฐานไปช่วยพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัส พร้อมนำศักยภาพของห้องปฏิบัติการชีวะนิรภัยระดับ 3 (BSL-3) มาเพาะเชื้อในห้องแล็บ

รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์

“การเพาะเชื้อทำให้สามารถเพิ่มจำนวน และศึกษาในส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น ศึกษาระยะเวลาที่ไวรัสมีชีวิตในอากาศ, ไวรัสทำให้เกิดอาการรุนแรงอย่างไร และเมื่อแยกเชื้อได้ ทำให้เริ่มต้นวิจัยพัฒนาชุด RT-LAMP ในระยะแรก รวมถึงให้คำปรึกษาในกระบวนการบ่มเพาะเทคโนโลยีกับบริษัทสตาร์ตอัพเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและผ่านการรับรองโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นชุดคิต นำไปใช้แล้วใน รพ.รามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์บริการ อีกทั้งตอนนี้อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียน เพื่อต่อยอดสู่การจำหน่ายในเชิงพาณิชย์”

“นอกจากนั้น เรายังมีส่วนพัฒนาแพลตฟอร์มการคัดกรองยาต้านเชื้อ โดยใช้เทคนิคอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์ ด้วยการสกัดสมุนไพรไทยจาก 120 ตัวอย่าง จนพบสารสกัดจากกระชายขาว และสารสำคัญ 2 ชนิด มีศักยภาพในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ SARS-CoV-2 ได้เกือบ 100% หากออกฤทธิ์ได้ดีจะนำไปทดสอบในสัตว์ และคาดว่าจะนำไปทดลองในคนอีก 8-10 เดือน และยังมีส่วนพัฒนาวัคซีนอาร์เอ็นเอ เรียกได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงเวลานี้ และเป็นที่ยืนยันว่านักวิจัยหญิงก็มีความสามารถไม่แพ้เพศอื่น ที่สำคัญ จากโครงการทั้งหมดเชื่อว่าจะนำไปสู่ทางออกที่มีประสิทธิภาพให้กับประเทศ และขยายไปสู่ระดับโลกในการต่อสู้กับโควิดอย่างแน่นอน”

ขณะที่ “ดร.นฤภร มนต์มธุรพจน์” สาขาวัสดุศาสตร์ จากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (A-MED) ผู้ทำวิจัยเรื่อง การเตรียมและทดสอบคุณสมบัติของวัสดุคอมโพสิตของไฮดรอกซีอะพาไทต์ และไทเทเนียมไดออกไซด์สำหรับใช้เป็นแผ่นกรองจุลินทรีย์ หรือหน้ากากอนามัยนั่นเอง

ดร.นฤภร มนต์มธุรพจน์

“งานวิจัยนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ต่อเนื่องมาจนถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับ PM 2.5 และเกิดโควิดครั้งนี้ ทําให้อยากผลิต และจัดจำหน่ายหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการกรองไวรัสและฝุ่น ที่ได้มาตรฐานในระดับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพระบบทางเดินหายใจของคน จึงใช้ความรู้ความสามารถทางวัสดุศาสตร์ พัฒนาวัสดุคอมโพสิตของไฮดรอกซีอะพาไทต์ ซึ่งเป็นวัสดุเซรามิกที่มีส่วนประกอบกระดูกของคนคือแคลเซียมและฟอสฟอรัส มีคุณสมบัติดักจับจุลินทรีย์ได้ และยังพัฒนาไทเทเนียมไดออกไซด์ ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางแสงจะถูกกระตุ้นภายใต้รังสียูวี ทำหน้าที่ย่อยสลายไวรัส แบคทีเรีย ฝุ่น ให้อยู่ในรูปของอนุมูลอิสระ และวิจัยเรื่องนี้ได้มีการเผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสารระดับนานาชาติแล้ว”

“ต้องบอกว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมเราที่ทำหน้าที่คิดค้นสาร และทีมนักวิจัยด้านสิ่งทอที่ช่วยนำสารนี้ไปเคลือบบนผ้าน็อนวูฟเวน เพื่อเป็นชั้นกรองของหน้ากากอนามัย พร้อมกับตัดเย็บเป็นรูปทรง 3 มิติ 4 ชั้น ซึ่งเบื้องต้นส่งไปทดสอบที่สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา และมีการยืนยันว่าสามารถกรอง PM 2.5 ได้ 99% ขณะเดียวกันก็มีประสิทธิภาพกรองไวรัสได้สูง โดยทางทีมวิจัยได้ทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรมและทดสอบตลาดในประเทศจนได้รับผลตอบรับที่ดี จึงมีแนวคิดจะเดินหน้าผลิตในประเทศไทย เพื่อช่วยลดการนำเข้าหน้ากากอนามัยและส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ได้ต่อไปในอนาคต”

“เราผลิตทดสอบในตลาดแล้วกว่า 2 หมื่นชิ้น ต่อมาหน้ากากอนามัยถูกกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม จึงไม่สามารถทำการผลิตได้ต่อ แต่ขณะนี้ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการผลิตนอกการควบคุมส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ไปแล้วประมาณ 4 แสนชิ้น”

“ดร.นฤภร” กล่าวต่อว่า เราอยากช่วยเหลือคนไทย ในเมื่อเราไม่สามารถเป็นหมอได้ เราต้องหาวิธีช่วยคนทางอ้อม นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราสนใจในเรื่องวัสดุทางการแพทย์ โดยเป้าหมายต่อไปคือจะเป็นผู้ถ่ายทอดนวัตกรรมในการใช้วัสดุคอมโพสิตให้กับบริษัทที่สนใจ รวมถึงผลิตหน้ากาก และคิดว่าจะศึกษาเกี่ยวกับไส้กรอง N95 ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ และกำลังมองหางานวิจัยใหม่ ๆ เพราะเราอยากจะสร้างนักวิจัย เพื่อสร้างบุคลากรทางการแพทย์วิทยาศาสตร์เข้ามาเสริมทีมให้แกร่งมากขึ้น ทั้งรับคนเข้ามาร่วมทีม และส่งเสริมคนในทีมของเราให้ได้เรียนต่อ โดยการช่วยกันมองหาทุน

“สุดท้ายแล้วการทำวิจัยเราอยากให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์จริง ๆ เราไม่อยากได้ชื่อว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง การทำวิจัยขึ้นห้างมันมีความท้าทายมากกว่า ประเทศไทยมีนักวิจัยเก่ง ๆ มากมาย แต่การไปให้ถึงการขึ้นห้างจริงมันยาก แต่ก็เป็นความท้าทาย ยิ่งเป็นนักวิจัยทุนที่ได้รับจากภาษีประชาชน เมื่อมีโอกาสก็ต้องส่งผลกลับมาให้ประเทศ”

ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล

สำหรับ “ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล” สาขาเทคโนโลยี จากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (A-MED) ทำวิจัยเรื่อง ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 (DDC-Care)

“ระบบ Department of Disease Control Care หรือ DDC-Care ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อครั้งโควิดระบาดหนักในไทย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และสาธารณสุขในการเฝ้าระวังและติดตามตำแหน่งที่อยู่ของผู้มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ และต้องกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 14 วัน โดยแอปพลิเคชั่น DDC-Care สามารถดึงพิกัดผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติผ่านระบบจีพีเอส และแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบเมื่อมีการออกนอกพื้นที่กักตัวที่ปักหมุดไว้เกินกว่าระยะที่กำหนด พร้อมรายงานสรุปสถานการณ์ ที่มีการทำแสดงผลข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่สามารถดูข้อมูลกลุ่มเสี่ยงได้แบบเรียลไทม์”

“ระบบสามารถรองรับการใช้งานพร้อมกันได้มากกว่า 100,000 คน และผ่านการทดสอบความปลอดภัยจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่ถูกนำไปใช้งานจริงกับสถาบันบำราศนราดูรเป็นหน่วยงานแรก และปัจจุบันมีโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพที่ใช้งานระบบ DDC-Care แล้ว จำนวน 51 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอจำนวน 18 แห่ง และคาดหวังว่าระบบนี้จะขยายการใช้งานออกไปได้ทั่วประเทศ หรือแม้ว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลายก็ยังสามารถพัฒนาระบบใช้กับการติดตาม หรือวินิจฉัยโรคอื่น ๆ ได้”

“อย่างไรก็ดี การจะนำไปติดตามโรคอื่น ๆ ต้องมีการพัฒนากันต่อไปอีก เนื่องจากระบบนี้ทีมวิจัยเราช่วยกันคิดขึ้นมาแบบเร่งด่วนทันทีเมื่อเกิดไวรัสแพร่ระบาด งานวิจัยจะไม่จบเพียงเท่านี้แน่นอน ต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ และส่วนตัวคิดว่านักวิจัยหลายคนก็จะมีลักษณะคล้ายกันคือชอบคิดค้นตลอดเวลา เมื่อมีความท้าทายเข้ามา จะไม่กลัว และทำงานแบบเร่งด่วน โดยไม่กลัวความผิดพลาด เพราะเป็นโจทย์ที่ยังไม่มีใครตอบ เพราะถ้ามีคำตอบแล้วจะไม่ใช่งานวิจัย ถ้าได้ลองทำ และถ้าทำได้จะกลายเป็นประโยชน์ เหมือนดั่งงานวิจัยช่วงโควิดนี้ ที่ทำแล้วถูกนำไปใช้จริง”

อันเป็นคำตอบของ 3 นักวิจัยสตรีเพื่อวิทยาศาสตร์ในการเป็นผู้ปิดทองหลังพระครั้งนี้