ธุรกิจแฟชั่นและความยั่งยืน

Photo by BEN STANSALL / AFP
คอลัมน์ CSR Talk
ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

ดิฉันอ่านข่าว Kering ร่มคันใหญ่ ที่มีกว่า 12 แบรนด์ดังในเครือ อาทิ Gucci, Saint Laurant, Bottega Veneta เป็นต้น ประกาศแต่งตั้ง “Emma Watson” นักแสดงสาวชาวอังกฤษ วัย 30 ปี เป็นประธานคณะกรรมการด้านความยั่งยืนของบริษัทด้วยความตื่นเต้น และยินดีที่เห็นความเคลื่อนไหวด้านความยั่งยืนนี้และเชื่ออย่างยิ่งว่าข่าวนี้จะสร้างความสนใจให้แก่ผู้คนไม่น้อยกว่าแฟชั่น

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ความยั่งยืนเกี่ยวข้องอย่างไรกับ SD Talk ?

ฉบับนี้ ดิฉันจึงขอพาทุกท่านไปร่วมหาคำตอบนี้ด้วยกันค่ะ

1.แฟชั่น – ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Can fashion ever be sustainable ? ของ BBC ระบุว่า ธุรกิจแฟชั่นมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 10% และน้ำเสียประมาณ 20% จากภาพรวมธุรกิจทั้งหมด มากไปกว่านั้น ธุรกิจแฟชั่นยังใช้พลังงานในการผลิตมากกว่าธุรกิจการบิน และธุรกิจการส่งสินค้ารวมกันเสียอีก และมีส่วนต่อการปล่อยไมโครพลาสติกลงสู่ท้องทะเลถึง 20-35%

ขณะเดียวกัน รายงานของ McKinseyเรื่อง The State of Fashion 2020 :Navigating Uncertainty ระบุว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6% และอีก 10-20% สำหรับการใช้ยาฆ่าสัตว์ หรือที่เห็นกันได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ การที่แบรนด์ต่าง ๆมีระยะเวลาในการออกคอลเล็กชั่นใหม่ของสินค้าในระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น และใช้เครื่องมือตลอดจนกิจกรรมทางการตลาดที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้านั้น ๆ ส่งผลให้มีขยะและของเสียเหลือทิ้งทั้งจากการผลิต และการบริโภคที่มากเกินความจำเป็น โดยไม่ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าและการสูญเสียทรัพยากรในการผลิตเท่าที่ควร

Your Strategy Needs a Strategy จากหนังสือ HRS’s 10 Must Reads for CEOs ยกตัวอย่างแบรนด์เสื้อผ้าหนึ่งที่ได้รับความนิยมในประเทศของเราค่อนข้างสูงว่าสามารถออกแบบ ผลิต และวางสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ได้ภายในระยะเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ จากวงจรปกติที่ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

2.แฟชั่น – ธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสังคม (human rights, modern slavery, wages)

นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว แฟชั่นยังส่งผลต่อสังคม โดยสันนิษฐานว่าธุรกิจแฟชั่นนั้นเกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานสูงถึงกว่า 60 ล้านคนทั่วโลก นี่ย่อมหนีไม่พ้นประเด็นในเรื่องการใช้แรงงานทาส ทั้งที่เป็นลักษณะแรงงานบังคับ (อาจบังคับให้ต้องทำงานล่วงเวลา หรือทำงานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด) การใช้แรงงานเด็ก รวมไปถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

ซึ่งวิธีการหนึ่งที่เริ่มนำมาใช้เพื่อตรวจสอบผลกระทบในเรื่องนี้คือการตั้งคำถามถึงที่มาของแฟชั่นต่าง ๆอาทิ ใครเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ให้พวกเราได้สวมใส่ อาทิ Asket แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายจากสวีเดนที่นำเสนอรายละเอียดที่มาของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้า สถานที่ผลิตสินค้า ไปถึงการตกแต่งเก็บความเรียบร้อยจนสำเร็จเป็นสินค้าในมือของลูกค้า ความสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) นี้ถือเป็นการสร้างความมั่นใจ และความโปร่งใสถึงกระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีมากขึ้น

3.ความยั่งยืน – วาระสำคัญแถวหน้าสำหรับวงการแฟชั่น

จากรายงาน What’s next for Sustainable Business ? ของSustainAbility ยกให้ 1 ใน 10 แนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืน คือ sustainable consumption (การบริโภคอย่างยั่งยืน) โดยระบุว่า generation Z และ millennials มีวิถีการดำเนินชีวิตที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และความต้องการนี้กระตุ้นให้แบรนด์ต่าง ๆ หันมาใส่ใจในเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืนมากขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้า

เนื่องจากผู้บริโภค และกลุ่มลูกค้าเริ่มให้ความสำคัญต่อเรื่องการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยพวกเขามีแนวโน้มที่จะเลือกใช้แบรนด์สินค้า และดำเนินชีวิตในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสังคมสูงขึ้น

ประเด็นนี้สอดคล้องกับรายงานของ McKinsey เรื่อง The State of Fashion 2020 : Navigating Uncertainty ว่า 1 ใน 10 ธีมสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นในปี 2020 คือ เรื่องความยั่งยืน โดยในรายงานของ McKinsey กล่าวว่าวงการแฟชั่นต้องเริ่มขยับตัวเองไปสู่แนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องการใช้พลังงาน, การลดการสร้างมลพิษ และการลดจำนวนของเสียที่อุตสาหกรรมนี้สร้างขึ้นอย่างมากมาย

4.เจตนารมณ์และผลงานด้านความยั่งยืน

เมื่อความยั่งยืนกลายเป็นวาระสำคัญเราจึงเริ่มเห็นแบรนด์ต่าง ๆ ออกประกาศเจตนารมณ์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม และสังคม อาทิ Kering ที่ Mr.Francois-Henri Pinault CEO ประกาศว่า ภายในปี 2050 Kering จะเป็นบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net-zero),Inditex Group ที่มีแบรนด์ในเครืออย่าง Zara, Massimo Dutti, Pull&Bear หรือ Oysho เป็นต้น ประกาศว่า ภายในสิ้นปี2020 ทุกสาขาและร้านค้าของกรุ๊ปจะต้องมีพื้นที่สำหรับรับเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วของลูกค้าเพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่ เพื่อลดขยะของเสียจากเสื้อผ้าให้น้อยลง

และก่อนปี 2025 วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต อาทิ คอตตอน, ลินิน ทั้งหมดจะต้องได้ชื่อว่าเป็นวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน รวมไปถึง Starbucks ที่ประกาศความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 50% ลดการเกิดของเสียจากร้านค้าและกระบวนการผลิตลง 50% ภายในปี 2030 เหล่านี้ เป็นต้น

นอกจากการประกาศเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนแล้วแบรนด์ต่าง ๆ ยังริเริ่มงานด้านความยั่งยืนมากขึ้น อาทิ ประกาศความร่วมมือในการออกแบบรองเท้ากีฬาที่ไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (zero-carbon impact)ตลอดกระบวนการผลิตระหว่าง adidasและ Allbirds หรือการเพิ่มคำว่า recycled fabrics ให้เป็นอีกหนึ่งในตัวคัดกรองการค้นหาสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านความยั่งยืน บนแพลตฟอร์ม e-Commerceของ mutibrand สัญชาติอังกฤษอย่าง Asos

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่มากกว่าการประกาศจุดยืน และการดำเนินการของแบรนด์ด้านความยั่งยืนแล้วแบรนด์ยังควรต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดการบริโภคอย่างยั่งยืนด้วย คือ การบริโภคอย่างมีสติและรู้จักพอเพียง

ปี 2020 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายของทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงแต่วงการแฟชั่นเท่านั้น เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวจากผลของโควิด-19 ซึ่งยิ่งส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับการบริโภคอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เห็นได้จากที่หลาย ๆ แบรนด์มีการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนทั้งขององค์กร และสินค้ามาสื่อสารเพื่อเป็นจุดขาย หรือเครื่องมือทางการตลาดอีกทางหนึ่งที่กระตุ้นให้ลูกค้าสนใจ

โดยส่วนตัว ดิฉันมองว่าหากแต่ละแบรนด์สามารถนำเสนอแนวคิดด้านความยั่งยืนของตนเองออกมาได้อย่างชัดเจน จะสามารถเป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างทรงประสิทธิภาพที่ไม่เพียงกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจแบรนด์ของเราเท่านั้น แต่ถ้าหากลูกค้ามีความเชื่อ และให้คุณค่าในแนวทางด้านความยั่งยืนเช่นเดียวกับแบรนด์ด้วยแล้ว จะเป็นการสร้างความผูกพัน (engagement & bonding) กับลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย

ซึ่งสำหรับดิฉันสามารถถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “sustainable brand” ได้ด้วยค่ะ