เนสท์เล่ เปิดโรงงานยูเอชที 1.5 พันล้าน เน้นเทคโนโลยีล้ำสมัย สร้างความยั่งยืน

“เนสท์เล่” เปิดโรงงานยูเอชทีแห่งใหม่ ที่ นวนคร 7 ปทุมธานี ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1,530 ล้านบาท เน้นเทคโนโลยีล้ำสมัย สร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต

วันที่ 17 ธันวาคม 2563 เนสท์เล่ เปิดโรงงานยูเอชทีแห่งใหม่ที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1,530 ล้านบาท เน้นเทคโนโลยีล้ำสมัย หวังสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมเปิดแผนปี 64 ลดใช้ฟิล์มพลาสติกบนบรรจุภัณฑ์ เตรียมติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน

นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า การเปิดโรงงานยูเอชทีแห่งใหม่นี้ สอดคล้องกับเป้าหมาย เนสท์เล่ ระดับโลกในเรื่องของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้สามารถรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ตลอดจนลดการใช้พลาสติกที่ผลิตใหม่ลงให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2568

และมีแผนงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งได้ใช้เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,530 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนให้ตรงกับเป้าหมาย ด้วยการชูนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเริ่มต้นการผลิตตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ด้านนายไชยงค์ สกุลบริรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์นมและโภชนาการสำหรับผู้ใหญ่ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า โรงงานยูเอชที เนสท์เล่นวนคร 7 จะผลิตเครื่องดื่มยูเอชทีภายใต้แบรนด์ไมโล และนมตราหมี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจหลักของเนสท์เล่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยเนสท์เล่ ได้คำนึงถึงความยั่งยืนในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่แห่งคุณค่า ตั้งแต่กระบวนการผลิต ที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาเครื่องโฮโมจีไนเซอร์ ที่ใช้ในการผลิตไมโล โดยเทคโนโลยีเมมเบรน แทนระบบเก่าที่เป็นแบบลูกสูบ ส่งผลให้มีการใช้พลังงานน้อยลง และลดความถี่ในการซ่อมบำรุง รวมถึงการใช้ Heat Recovery System เพื่อนำความร้อนจากไอน้ำและน้ำร้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลับมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดการใช้พลังงาน

นอกจากนั้น โรงงานยังเลือกใช้สารทำความเย็นที่ไม่ทำลายชั้นโอโซนในระบบการทำความเย็นของโรงงาน และยังมีการวางระบบจัดการของเสียและน้ำเสียจากการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพตามประเภทของขยะ เช่น การนำไปรีไซเคิล การนำไปสร้างเป็นพลังงานใหม่ และการนำไปทำปุ๋ย ทำให้ไม่มีของเสียไปฝังกลบ

การใช้นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เช่น การนำหลอดกระดาษแบบโค้งงอได้ มาใช้กับผลิตภัณฑ์ไมโลยูเอชที รวมถึงลดปริมาณการใช้กระดาษลูกฟูกในการบรรจุสินค้า ด้วยการออกแบบกล่องให้เป็นแบบ Wrap Around แทนกล่องพับฝาชนทั่วไป

 

จนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ผ่านโครงการ “กล่องนมรักษ์โลก” ซึ่งเป็นกิจกรรมให้ความรู้กับนักเรียนในโรงเรียนนำร่องเกี่ยวกับการจัดการบรรจุภัณฑ์ยูเอชทีภายหลังการบริโภคอย่างถูกวิธี รวมทั้งมีกระบวนการเก็บบรรจุภัณฑ์ยูเอชทีกลับมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง

“จากนวัตกรรมดังกล่าวที่เริ่มเปิดมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้โรงงานใหม่นี้ ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 4,420 จิกะจูล/ปี หรือเทียบเท่าการเปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 18,000 BTU ตลอด 24 ชม. นานถึง 77 ปี นอกจากนี้ จากการนำเสนอนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถประหยัดกระดาษไปได้ 752 ตัน หรือเท่ากับกระดาษ A4 150 ล้านแผ่น พร้อมลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ 142 ตัน เท่ากับถุงพลาสติก 26 ล้านใบทุกปี”

ทั้งนี้ โรงงานยูเอชที เนสท์เล่นวนคร 7 ยังมีแผนที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในปี 2564 โดยจะติดตั้ง
แผงโซลาร์เซลล์ที่หลังคาโรงงานและที่จอดรถ รวมไปถึงมีแผนจะเปลี่ยนมาใช้กาวกันกล่องลื่นทดแทนการใช้ฟิล์มพลาสติกที่ใช้ยืดพันพาเลทในขั้นตอนการขนส่ง พร้อมทั้งลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ด้วยการใช้ฟิล์มหุ้มบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล 30%