‘ไลน์แมน วงใน’ ร่วม SOS ต่อยอดอาหารส่วนเกินให้ชุมชนวัดแคนางเลิ้ง

อาหารที่ไม่ได้ถูกใช้แต่มีคุณภาพจะถูกนำมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน

LINE MAN Wongnai ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์อาหาร เปลี่ยนวัตถุดิบส่วนเกินจากร้านอาหารและกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นอาหารคุณภาพ แก่ชาวบ้านชุมชนวัดแคนางเลิ้ง

“ทานข้าวให้หมดจาน” วลีที่เราทุกคนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก แต่ถึงแม้ว่าเราจะทานอาหารเกลี้ยงจานแค่ไหน ตลอดเส้นทางของกระบวนการผลิตอาหารจนถึงขั้นตอนการประกอบอาหาร ยังมีอาหารส่วนเกินหรือที่เรียกว่า surplus food เหลือทิ้งอยู่ ยืนยันได้ด้วยตัวเลขการสูญเสียอาหารบนโลกที่สูงถึง 1,300 ล้านตันต่อปี หรือ 30% ของปริมาณอาหารที่ผลิต เพื่อบริโภคทั้งหมด

ปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือของ 3 ภาคส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง ได้แก่ LINE MAN Wongnai ผู้นำแพลตฟอร์มออนดีมานด์และข้อมูลร้านอาหารของไทย, มูลนิธิรักษ์อาหาร ประเทศไทย (Scholars of Sustenance – Thai SOS), และผู้นำชุมชนวัดแคนางเลิ้ง เพื่อนำอาหารส่วนเกินที่ถูกส่งจากร้านอาหารและกลุ่มอุตสาหกรรม มาเป็นอาหารคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ชาวบ้านชุมชนวัดแคนางเลิ้ง

เห็นความสำคัญของปัญหาใกล้ตัว

“ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมน วงใน กล่าวว่า เราเป็นแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดขยะจากการเดลิเวอรี ซึ่งบริษัทตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และมีเป้าหมายในการช่วยเหลือทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม

“ทุกวันนี้หลายคนอาจจะเคยชินกับปัญหาขยะจากอาหารจนมองว่าคือเรื่องปกติ แต่ยิ่งปัญหาเล็กน้อยถูกละเลยมากเท่าไหร่ มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถ แก้ไขได้ทันเวลา”

วิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของเราเลือกที่จะดำเนินตามหลัก Sustainable Development Goals (SDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 2 เป้าหมายคือ Zero Food Waste และ Zero Hunger

โดยสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือการลดการเกิดขยะจากอาหาร ด้วยการจัดกิจกรรม LINE MAN Wongnai SOS Rescue Kitchen ให้พนักงานในบริษัทมาร่วมกันทำอาหาร เปลี่ยนอาหารส่วนเกินและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ได้รับบริจาคมาจากโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และโรงงาน เป็นเมนูอาหารที่อร่อย พร้อมทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ส่งมอบให้ชุมชนที่มีความต้องการ และในขณะเดียวกัน ยังได้ช่วยเหลือสังคมด้วยการเยียวยาผ่านอาหารเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวงจรการผลิต และบริโภคที่ยั่งยืน”

ยอด ชินสุภัคกุล

เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเห็นถึงปัญหา และช่วยกันยับยั้งปัญหาขยะที่เกิดขึ้น ไลน์แมน วงในจะให้ความสำคัญกับการจัดการ zero food waste ผ่านการร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ และหารใครอยากร่วมมือ สามารถทำได้ด้วยการบริจาคเงินคนละ 20 บาทให้กับมูลนิธิรักษ์อาหาร เพื่อเป็นค่าอาหารให้กับคนใน 107 ชุมชน ภายใต้เครือข่ายของมูลนิธิฯ

จิ๊กซอว์ที่เชื่อมอาหารส่วนเกิน

“ศศิวรรณ ใจอาสา” ผู้ประสานงานชุมชนมูลนิธิรักษ์อาหาร ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ขยะอาหารที่คนไทยทิ้งมีปริมาณสูงถึง 5 – 6,000 ตันต่อวัน ถ้าคำนวนแล้วขยะอาหารที่ถูกทิ้งทั้งหมด สร้างปริมาณก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 8 ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า

ยิ่งไปกว่านั้น ทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนหลายล้านคน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิฯจึงทำหน้าที่รับบริจาคอาหารมาส่งต่อให้ชุมชนที่ต้องการเพื่อไม่ให้อาหารเหลือใช้ ต้องกลายเป็นขยะ

“เราทำหน้าที่เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ ที่เชื่อมระหว่างจิ๊กซอว์ 2 ตัว โดยจะเลือกชุมชนที่เข้าไปแจกอาหาร จากข้อมูลตามเส้นแบ่งความยากจน แล้วผู้ประสานงานชุมชนของมูลนิธิฯจะลงพื้นที่ไปพูดคุยกับหัวหน้าชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นว่าคนในพื้นที่นั้นมีผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียงกี่คน”

ศศิวรรณ ใจอาสา (กลาง)

อย่างชุมชนวัดแคนางเลิ้งเป็นย่านเก่าแก่ที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้รับผลกระทบ จากพิษเศรษฐกิจช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถรับจ้างหรือค้าขายได้เหมือนเดิม แต่ไม่ใช่เพียงปัจจัยทางสังคม เท่านั้น ชุมชนจำเป็นต้องมีทีมเข้ามาบริหารจัดการอาหารด้วยเช่นกัน

“สำหรับโครงการนี้ วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่รับมาจะเป็นผัก เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 200 กิโลกรัม รวมเนื้อสัตว์ด้วยอีกประมาณ 30 กิโลกรัม ถือว่าได้อาหารสำหรับ 300 คน พอได้มาแล้วเราจะมีทีมจากชุมชนช่วยจัดระบบการทำอาหาร แจกอาหาร ซึ่งผลจากโครงการสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย ให้กับชุมชนประมาณ 384 บาท ต่อเดือน/คน”

เชฟมือฉมังจากชุมชนวัดแคนางเลิ้ง

“สุวัน แววพลอยงาม” ผู้นำชุมชนวัดแคนางเลิ้ง บอกว่า จะรู้ว่าวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารแจกคนในชุมชนมีอะไรบ้างตอนมาถึงครัวแล้ว วัตถุดิบบางอย่างพวกเราก็ไม่รู้จัก พี่เคยเจอลูกกลม ๆ เหมือนฝรั่ง ตอนนั้นสมาชิกในชุมชนที่ทำอาหารเก่ง ๆ ได้รับหน้าที่เป็นเชฟเอามาทำส้มตำแต่มารู้ทีหลังว่าคือผลซาโยเต้ ดังนั้น การคิดค้นสูตรอาหารจึงเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้ชุมชนและอาสาสมัครได้มาใช้เวลาร่วมกันสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ

“ท่ามกลางการพัฒนาของพื้นที่ที่เกิดขึ้นโดยรอบ วิถีชีวิตย่านนางเลิ้งยังคงอยู่ เราอยู่ในพื้นที่ของความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นความเปราะบางทางจิตใจ และทุกคนต้องพยายามหาช่องทางสร้างรายได้ตลอดเวลา”

สุวัน แววพลอยงาม

ยิ่งโควิด-19 มาทุกคนได้รับปัญหาหมด และช่วงที่ไวรัสระบาดรอบแรกตอนนั้นมีคนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงติดไวรัส 1 คน ส่งผลให้คนในชุมชนวัดแคนางเลิ้งต้องกักตัว ตอนนั้นทุกคนขาดรายได้ เลยต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ พอดีทางมูลนิธิรักษ์อาหารเข้ามาช่วยในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่พวกเรา และก็เป็นความท้าทายในการสร้างความเข้าใจว่า วัตถุดิบที่ได้มาจากมูลนิธิฯไม่ได้ใกล้เสีย ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าคืออาหารส่วนเกินที่ยังสภาพดีอยู่ ปลอดภัยต่อการกิน แล้วก็ทำอาหารให้เขาดูเลย สุดท้ายเราเปลี่ยนมุมมองคนในชุมชนได้”

“ทีมงานมูลนิธิรักษ์อาหารและอาสาสมัครจากไลน์แมน วงในทำให้กลไกชุมชนวัดแคนางเลิ้งเปลี่ยนไป มีอาสาสมัครเข้ามาร่วมมากขึ้น เพื่อมาเรียนรู้และช่วยงาน”