“ดอยคำ” ใช้น้ำเสียผลิตก๊าซ ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ชุมชน

น้ำทิ้งจากโรงงาน

เมื่อช่วงไม่นานที่ผ่านมา บริษัท ดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้เปิดอาคารผลิตก๊าซไบโอมีเทน ที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ที่ 3 (เต่างอย) ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ขึ้นมา ภายใต้โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG)

ด้วยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน

โครงการดังกล่าวได้ศึกษาระบบผลิตก๊าซชีวภาพอัด ด้วยการนำน้ำทิ้งที่ผ่านกระบวนการผลิตในโรงงาน มาผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทน หรือ CBG (compressed biomethane gas) สำหรับเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพื่อให้ชุมชนรอบโรงงานใช้ในครัวเรือน

“พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวถึงแผนการดำเนินงานพัฒนาสังคม และชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงงานหลวงฯว่า ทั้ง 4 แห่งที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย บุรีรัมย์ และสกลนคร ในแต่ละที่จะใช้รูปแบบที่แตกต่างกัน

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานหลวงฯที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนครเป็นโรงงานอบแห้ง มีมะเขือเทศอบแห้งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก และกระบวนการผลิตในขั้นตอนล้างมะเขือเทศส่งผลให้เกิดน้ำทิ้งปริมาณมาก บริษัทจึงได้เข้าร่วมโครงการ โดยเล็งเห็นถึงแหล่งพลังงานทางเลือกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สวพ.นำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตของบริษัทไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และจัดตั้งเป็นสถานีผลิตและจ่ายก๊าซ พร้อมทั้งออกแบบสร้างระบบส่งก๊าซด้วยระบบท่อส่งให้มีความปลอดภัยในด้าน
วิศวกรรม และมาตรฐานการวางท่อก๊าซในชุมชน ขณะที่บทบาทของดอยคำคือประสานงานกับผู้นำชุมชนรอบโรงงาน

ได้แก่ บ้านนางอย และบ้านโพนปลาโหลในการนำก๊าซที่ผลิตได้ไปใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม อีกทั้งยังสนับสนุนชุมชนจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพลังงานไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล เพื่อบริหารกองทุนก๊าซ

“ตอนนี้วิสาหกิจชุมชนกำลังเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการจัดการบริหารทั้งกระบวนการ มีการกำหนดกฎระเบียบสำหรับผู้ใช้ก๊าซ ดอยคำจะทำหน้าที่เป็นเสมือน ‘พี่เลี้ยง’ ลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องระบบบัญชี มีกองทุน การจัดเก็บค่าก๊าซ ค่าบำรุงรักษาระบบ”

ในส่วนของการกำหนดราคาจำหน่ายก๊าซ “พิพัฒพงศ์” ระบุถึงความคืบหน้าว่า อยู่ในระหว่างพิจารณาราคาที่เป็นมาตรฐานต่อกิโลกรัม อีกทั้งราคาก๊าซต้องอิงกับราคาก๊าซที่ปรับขึ้น-ลงตามตลาด สมมติในตลาดขายกิโลกรัมละ 30 บาท ก๊าซจากโครงการอาจจะขายที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม ฉะนั้นการกำหนดราคาก๊าซจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนหลังเปิดใช้งานนับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.เป็นต้นไป

หลังจากนั้นจึงเริ่มเก็บตัวเลขปริมาณการใช้เพื่อนำมาประกอบการคำนวณออกมาเป็นราคาต่อไป ค่อยมาเก็บตัวเลขว่าควรขายให้ชาวบ้านราคาเท่าไหร่ ตอนนี้ให้ชาวบ้านทดลองใช้ฟรีอยู่ ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อกำหนดค่าใช้ก๊าซต่อไป

“ทั้งนี้ เป้าหมายโรงงานสีเขียวของดอยคำกำลังค่อยเป็นค่อยไป เพราะเราไม่ใช่บริษัทที่มีเงินมหาศาล ในแต่ละปีเราวางกำไรไว้ไม่เกิน 3-5% (net profit) เพราะฉะนั้น ในแง่การพัฒนาอะไรใหม่ ๆ ก็ยากพอสมควร จึงต้องค่อย ๆ ศึกษา ตอนนี้มีการใช้โซลาร์เซลล์ในโรงงาน ขณะที่ในส่วนของการผลิตสินค้า”

“เราตั้งให้เป็น zero waste อยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น แพ็กเกจจิ้งทั้งหลาย บางตัวเราก็เอาไปขายแล้วได้เงินกลับมาก็เอามาเก็บไว้ในส่วนของกิจการทางสังคม อีกส่วนคือส่วนที่นำกลับมาใช้ไม่ได้ เช่น กากและเปลือกมะเขือเทศ เมื่อก่อนเราจะนำไปทิ้ง แต่ทำให้มีปัญหาเรื่องกลิ่น ตอนนี้จึงพยายามคอนเน็กชั่นกับปศุสัตว์ให้ชาวบ้านนำเอาไปเลี้ยงวัวนม และนำไปใส่ในพื้นที่นา เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของดอยคำเลิกใช้พลาสติก โดยหันมาใช้แก้วกระดาษ หลอดกระดาษ กล่องกระดาษ แต่มีบางส่วนที่ยังใช้อยู่ เช่น ฝาครอบแก้ว ถ้าของหมดสต๊อกเมื่อไหร่คงต้องเลิกใช้ ขณะเดียวกันไม่ใช่แค่เรื่องพลังงาน อนาคตก็อยากสร้างแบรนด์ให้คนเข้าใจว่าดอยคำเป็นแบรนด์ออร์แกนิก ปลอดภัยอย่างผลิตภัณฑ์น้ำส้มสกัดเย็น

วันนี้แปลงส้มของโรงงานที่อยู่เชียงใหม่ได้ GAP (Good Agriculture Practices) หมด และขั้นตอนการผลิตมีการล้าง และนำมาคั้นอย่างดี สกัดเย็น โดยไม่ผ่านความร้อน

ในส่วนของ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นการต่อยอดจากที่สถาบันได้คิดค้นวิจัยในการดำเนินการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดด้วยการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ และความชื้นออกจากก๊าซชีวภาพ เพื่อให้ได้ก๊าซไบโอมีเทนอัด มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซเอ็นจีวี (NGV) สามารถนำไปใช้สำหรับยานยนต์ และนำไปบรรจุถังสำหรับใช้ในภาคครัวเรือนเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ซึ่งโครงการนี้ก็ได้ศึกษามานาน 3 ปี ผ่านอุปสรรคมากมายจนสามารถทำได้สำเร็จสู่การจัดตั้งสถานีผลิต และจ่ายก๊าซไบโอมีเทนที่โรงงานดอยคำได้โดยใช้งบในการดำเนินงานประมาณ 20 ล้านบาท ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

สำหรับสถานีจ่ายก๊าซแห่งนี้แต่ละช่วงจะมีปริมาณน้ำไม่เท่ากัน อย่างช่วงฤดูการผลิตเดือน ม.ค.-เม.ย. จะมีน้ำจากโรงงานราว 600-800 ลูกบาศก์เมตร และไม่เกิน 200 ลูกบาศก์เมตรในช่วงอบแห้ง โดยน้ำเสียจะส่งผ่านท่อใต้ดินมายังบ่อหมัก

จากนั้นเข้าสู่กระบวนการผลิตก๊าซไบโอมีเทนด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน (membrane system) จะได้ก๊าซไบโอมีเทนที่สามารถผลิตได้ 263 กิโลกรัมต่อวัน โดยมีราคาต้นทุน 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถูกกว่าราคาก๊าซตลาดที่น่าจะขายราว 18.87 บาทต่อกิโลกรัม

“ปัจจุบันได้แจกจ่ายให้กับชุมชนใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้มแอลพีจีจำนวน 280 ครัวเรือน โดยส่งผ่านท่อมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. ขนาด 2 นิ้ววางลึก 1 เมตร รวมระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงหน้าบ้านตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีมิเตอร์สำหรับวัดหน่วยการใช้ก๊าซคล้ายมิเตอร์การใช้ไฟฟ้า”

“ทั้งนี้ก็ได้แจกเตาลัคกี้เฟลมให้ชาวบ้านทั้ง 280 ครัวเรือน เพราะก๊าซมีลักษณะเบากว่าก๊าซแอลพีจี จึงใช้หัวเตาธรรมดาไม่ได้ ซึ่ง มช.ได้ทำความร่วมมือกับลัคกี้เฟลมในการผลิตเตานี้โดยเฉพาะ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพูดคุยเพื่อวางแผนบริหารจัดการการใช้กันต่อไป”