ภารกิจจิตอาสา หาเตียง-พากลับบ้าน-ทุกคนต้องรอด

รถตรวจโควิด หมอแล็บแพนด้า

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ระลอกสี่ โดยเฉพาะ กทม.พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) กว่า 50% ซึ่งสายพันธุ์นี้สามารถแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ทั้งยังมีรายงานว่ามีการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 กระจายทั่วทุกเขตของ กทม. และอีกหลาย ๆ จังหวัด ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 5-7 พันราย

และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเรื่อย ๆ จึงทำให้ระบบสาธารณสุขทำงานหนัก โรงพยาบาลเตียงไม่พอรองรับ ผลเช่นนี้ทำให้หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน จึงจับมือกันอีกครั้ง เพื่อยกระดับความช่วยเหลือพาคนไทยฝ่าวิกฤต

“เราต้องรอด” อาสาหาเตียง

โครงการ “เราต้องรอด” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการประสานหาเตียง โรงพยาบาลแก่ผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีผู้ริเริ่มคือ “ไดอาน่า จงจินตนาการ” และ “นงผณี มหาดไทย” พร้อมด้วยสมาชิกในทีมมากกว่า 10 คน

“ไดอาน่า” เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นโครงการ “เราต้องรอด” ให้ฟังว่า มาจากการได้ช่วยประสานหาเตียงให้กับผู้ป่วยรายหนึ่ง เมื่อครั้งเกิดโควิดระลอก 2 และมีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น จึงได้ตั้งเพจ “เราต้องรอด” ขึ้นมา พร้อมด้วยไลน์ออฟฟิเชียลในชื่อเดียวกัน เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นระบบมากขึ้น

“ลักษณะการทำงานคือผู้ป่วยจะติดต่อเข้ามาผ่านเพจ และจะให้กรอกรายละเอียดพร้อมกับแนบบัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสสปอร์ต (ถ้าเป็นคนต่างด้าว) พร้อมกับผลตรวจว่าไปตรวจที่ไหนมา เมื่อได้รับข้อมูลแล้วจะส่งเคสไปที่ไลน์ออฟฟิเชียล ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานในเรื่องเอกสารให้ว่า ตามสิทธิต้องไปรักษาที่ใด, มีประกันหรือไม่ จากนั้นจะส่งไปรักษาตามสิทธิที่มี จากนั้นจะมีทีมงานคอยมอนิเตอร์อาการของผู้ป่วยเคสต่าง ๆ”

Advertisment

“เพราะแต่ละคนที่กำลังรอเอกสาร อาจทำให้อาการของเขาจากกลุ่มสีเขียวที่มีอาการน้อย อาจกลายเป็นสีเหลืองได้หรือจากสีเหลืองก็อาจกลายเป็นสีแดงต่อไปอีก ตรงนี้เราจึงร่วมกับทีม EMT จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยฉุกเฉิน เพราะเขามีเครื่องผลิตออกซิเจนสามารถเข้ามาช่วยลงพื้นที่ประเมินหน้างานให้ได้ว่า ผู้ป่วยที่พบอยู่คือผู้ป่วยกลุ่มใด”

“โดยทีมนี้จะให้ยาสามัญประจำบ้านและเครื่องออกซิเจนแก่ผู้ป่วยเอาไว้ และคอยติดตามอาการ เมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยได้รับตัวไปรักษาในโรงพยาบาลแล้ว จึงจะไปรับเครื่องผลิตออกซิเจนกลับคืนมา และก็ทำความสะอาดบ้านให้ด้วย”

เราต้องรอด

Advertisment

หมอแล็บแพนด้าส่งต่อความรู้

ขณะที่ “เพจหมอแล็บแพนด้า” ก็เป็นอีกหนึ่งเพจที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการประสานหาเตียงแก่ผู้ป่วยโควิด ทั้งยังคอยให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่คนไทย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจากข่าวปลอมที่ถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย

“ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน” นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าของเพจหมอแล็บแพนด้า เคยกล่าวในงานเสวนาออนไลน์ Decade of Action, Decade of Innovation ทศวรรษแห่งการลงมือทำ ทศวรรษแห่งนวัตกรรม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า

สิ่งที่ทำมาโดยตลอดคือการโพสต์ให้ความรู้ที่ถูกต้อง ด้วยการศึกษาจากแหล่งข้อมูลงานวิจัยที่เชื่อถือได้ เพื่อนำมาแปลเป็นภาษาอย่างง่าย ๆ เพื่อให้คนเข้าใจโรคโควิด-19 และการป้องกันตัวเอง จะได้ทำให้คนมีความรู้ที่ถูกต้อง และไม่ตื่นตระหนก จะได้ดูแลตัวเอง และดูแลสังคมต่อไป

“ทนพ.ภาคภูมิ” กล่าวต่อว่า นอกจากเพจที่ให้ความรู้อยู่ตลอด ผมอยากให้โควิดจบเร็วที่สุดในแบบที่ผมทำได้ จึงใช้ความรู้ด้านแล็บ, เครื่องมือแพทย์ สร้างรถตรวจเชิงรุกไปตามชุมชน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อจากชุมชนไปรักษา เพื่อไม่ต้องการให้ประชาชนไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาล และด้วยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน เช่น กรุงเทพมหานคร, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ

รถตรวจที่ออกแบบมาสามารถตรวจครั้งเดียว พร้อมกันได้ 3 ราย ทำให้สามารถตรวจได้ 3,000 เคสต่อวัน ข้อดีคือทำให้ตรวจเชิงรุกได้เร็ว ทั้งยังถือเป็นคันแรกของประเทศไทย และตอนนี้เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายมาก

“ที่สำคัญ ขณะนี้เรากำลังทำโปรเจ็กต์สร้างโรงพยาบาลชั่วคราวร่วมกับทีมวิศวกร โดยจะนำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ได้ใช้ มาแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ เช่น ห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วย และห้องความดันบวกสำหรับเจ้าหน้าที่, แพทย์ เพื่อให้สามารถประยุกต์ทำเป็นห้องตรวจโรค, สวอบ, ให้คำปรึกษา หรือไอซียู ผมคิดว่าหากเรานำตู้คอนเทนเนอร์หลาย ๆ ตู้มาประกอบกันสามารถทำเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีคุณภาพได้ด้วย”

BackHome รักษาตัวที่บ้านเกิด

สำหรับโครงการ “BackHome” ถือเป็นทางออกอีกทางในการช่วยแก้วิกฤตเตียงล้นในมหานครกรุงเทพอันสอดคล้องกับหลาย ๆ จังหวัดที่มีประกาศรับผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนา โดยมี “ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า” อายุรแพทย์ระบบประสาท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม หอพักหญิงที่ 26 จ.ขอนแก่น ที่อยากให้ระบบการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดแต่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯได้กลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด เพราะยังพอรองรับผู้ป่วยได้

“ผมมองว่าการให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิดเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อสภาพจิตใจผู้ป่วยเองด้วย โดยโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งรายการเรื่องเล่าเช้านี้, เพจเราต้องรอด และเพจหมอแล็บแพนด้า รวมถึงอีกหลาย ๆ องค์กรที่เข้ามาช่วยประสานหาเตียง และพาหนะที่ได้มาตรฐานในการขนย้ายผู้ป่วยข้ามจังหวัด เงื่อนไขคือผู้ป่วยที่เคลื่อนย้ายจะต้องมีอาการน้อยหรืออยู่ในกลุ่มสีเขียว หรือสีเหลืองอ่อนเท่านั้น ทั้งยังต้องได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นจากแพทย์ก่อนเคลื่อนย้าย”

“โดยผู้ป่วยที่ประสงค์จะไปรักษาต่างจังหวัด ต้องติดต่อมายังเจ้าหน้าที่ของ BackHome ก่อน ถึงจะมีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อประเมินอาการ และติดต่อไปยังโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามในจังหวัดปลายทาง เพื่อจัดหาเตียงให้ แต่ทั้งนี้ การทำโครงการยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการนำตัวผู้ป่วยออกจากกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่สีแดง และการกักตัว 14 วัน เมื่อเข้าถึงพื้นที่ปลายทาง โครงการ BackHome จะต้องประสานกับทางกรุงเทพฯ และภาครัฐต่อไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายสูงสุด”

“ราชวิถี” ผุดแท็กซี่ฉุกเฉิน

ขณะที่โรงพยาบาลราชวิถี ผุดโครงการ “Ambulance Taxi” หรือ “แท็กซี่ฉุกเฉิน” รับส่งผู้ป่วยจากต้นทางถึงปลายทาง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่เบื้องต้นเปิดช่องทางการรับบริจาคเพื่อเป็นทุนในการช่วยเหลือ

โดยเรื่องนี้ “นายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา” รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ดำเนินการแบบเต็มกำลังเกิน 100% จนปัจจุบันต้องดูแลเคสที่มีความรุนแรงมากที่สุดในการรักษาผู้ป่วย ตอนนี้เราพยายามอย่างที่สุด โดยใช้หลักมนุษยธรรมในการรักษา แต่ปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่มองเห็นว่า ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงที่หมายทั้งโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยวิกฤต, โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยสีเขียว หรือเหลือง หรือแม้กระทั่งจุดกักตัวอื่น ๆ ล้วนมีปัญหาเรื่องการเดินทางทั้งสิ้น

แท็กซี่ฉุกเฉิน

“เพราะการเดินทางแต่ละครั้งเพื่อไปยังจุดต่าง ๆ เหล่านี้ หลายคนต้องใช้เวลารอรถฉุกเฉินที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากผู้ป่วยเดินทางมาเอง โดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ก็จะมีความเสี่ยงต่อผู้ที่โดยสารที่ร่วมมาด้วย จากเหตุการณ์นี้จึงทำให้เกิดความคิดที่อยากจะชวนแท็กซี่ฮีโร่มาเป็นหนึ่งในการลำเลียงขนส่งผู้ป่วย แม้จะเน้นกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง เพื่อแบ่งเบาภาระรถฉุกเฉินของโรงพยาบาล และรถของหน่วยกู้ภัยต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะผู้ติดเชื้อทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

“แต่สำหรับ Ambulance Taxi จะมีส่วนช่วยอย่างมาก เพราะพวกเขาทุกคนจะได้รับการฝึกอบรมการทำความสะอาดรถ, การฆ่าเชื้อ และการป้องกันตัวเอง ทั้งยังมีการทดสอบระบบความปลอดภัยทุก ๆ 1 สัปดาห์ โดยอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการป้องกันจะเป็นแผ่นกั้นพลาสติกระหว่างผู้ป่วยและคนขับ”

“ที่สำคัญ เราจะเน้น 6 มาตรการความปลอดภัย ได้แก่ สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างการเดินทาง, งดหรือลดการคุยโทรศัพท์ยกเว้นกรณีที่จำเป็นเท่านั้น, ห้ามรับประทานอาหารระหว่างการเดินทาง, ไม่พูดคุยกับผู้โดยสารที่ร่วมโดยสารระหว่างการเดินทาง, งดการสัมผัสพลาสติกที่กั้นระหว่างผู้นั่งและผู้ขับ สุดท้ายผู้ป่วยจะต้องไม่พยายามเคาะเรียกผู้ขับระหว่างการเดินทาง”

เพียงเท่านี้ก็จะทำให้จิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ปลอดภัย

จึงนับเป็นภารกิจเพื่อชาติอย่างแท้จริง