วิธี-ค่าใช้จ่าย นำเข้าแรงงาน MOU ช่วงโควิด เร่งล็อตแรก ธ.ค. นี้

เปิดค่าใช้จ่ายนายจ้าง ต่อการนำเข้าแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน
แฟ้มภาพ

กระทรวงแรงงานเร่งนำเข้าแรงงานตาม MOU แก้ลักลอบเข้าประเทศทะลัก จัดประชุมหาแนวทางนำเข้า สรุปกักตัว 7-14 วัน และช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านวัคซีน เสนอ ศบค. 12 พ.ย.นี้

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กรมควบคุมโรค และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

พร้อมนำเข้าแรงงาน ธ.ค. นี้

สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับกระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทะลักหลังการเปิดประเทศ

ผลการสำรวจความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พบความต้องการถึง 4 แสนกว่าอัตรา ซึ่งผลการประชุมวันนี้ มีการหารือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พร้อมทั้งรับฟังความเห็นจากรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อทบทวนและหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

โดยหลังหารือทุกหน่วยงานเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการฯตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และเตรียมเสนอต่อ ศบค. ในวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และคาดว่าจากนี้ 30 วัน (ช่วงเดือนธันวาคม) จะสามารถนำเข้าแรงงานตาม MOU ได้ทันที

“สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีความพร้อมเรื่องวัคซีนแล้ว ในส่วนนี้ผมเตรียมไว้ 4-5 แสนโดส เพื่อฉีดให้แก่แรงงานต่างด้าวในวันสุดท้ายของการกักตัว โดยแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีนยังไม่ครบจะต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT–PCR เป็นจำนวน 2 ครั้ง โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ค่ารักษากรณีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อ โดยมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารวม 9,700 – 26,720 บาท”

มติ 28 ก.ย. เก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า แนวทางแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางกลุ่มอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน จะสิ้นสุด 30 พฤศจิกายน 2564

โดยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางกลุ่มอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว เป็นระยะเวลา 30 วัน และเพื่อเก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง

โดยจะบันทึกข้อมูลนายจ้างและแรงงานต่างด้าว กำหนดวันนัดหมายให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย และได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี

หากอยู่ในกิจการที่มีประกันสังคมมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และได้รับการคุ้มครอง และสิทธิการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือหากไม่อยู่ในกิจการที่มีประกันสังคมก็ได้รับสิทธิประกันสุขภาพตามสิทธิประกันที่มีการกำหนดให้ทำเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย

7 ขั้นตอน นำเข้าแรงงาน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเสริมว่า นายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงาน โดยไม่มีใบอนุญาตมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อลูกจ้างต่างด้าว 1 คน หรือจ้างโดยไม่มีใบอนุญาต หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท ทั้งยังถูกส่งตัวกลับ และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

ทั้งนี้ แนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้

1. ยื่นแบบคำร้อง

นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศยื่นแบบคำร้อง ณ กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ 1-10 ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน (เปลี่ยนจากก่อนหน้านี้ที่วางไว้ว่า ต้องแจ้งความประสงค์กรมการจัดหางานโดยตรง ไม่ให้ผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ 1-10)

ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งบอร์ดที่ส่วนกลางพิจารณานายจ้างที่มีความพร้อม เช่น พร้อมรับภาระค่าใช้จ่าย ค่ากักตัวแรงงานต่างด้าวที่นำเข้า มีความพร้อมในการจ้างงานที่มีความมั่นคงและปลอดภัย เป็นต้น

โดยนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการกักตัวคนต่างด้าว ได้แก่

  • ค่าสถานที่กักตัว
  • ค่าตรวจโรคโควิด-19
  • ค่าบริการทางการแพทย์
  • ค่ารักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือจัดให้มีกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ และรักษาพยาบาลซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19
  • ค่าใช้จ่ายอื่นที่อาจเกิดขึ้นขณะกักตัว รวมถึงกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือโรคอื่นระหว่างกักตัว

พร้อมแสดงหลักฐานการจอง การชำระค่าใช้จ่ายสถานที่กักตัว ซึ่งทางราชการกำหนดหรือสถานที่กักตัวเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการในประเทศ และนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ ต้องมียานพาหนะเพื่อรับคนต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัวโดยไม่เดินทางร่วมกับบุคคลอื่น รวมถึงห้ามแวะพักสถานที่ใด ๆ ก่อนถึงสถานที่กักตัว ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสาร ออกใบรับ และจัดทำหนังสือส่งคำร้องให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศต้นทางของคนต่างด้าว

2. ประเทศต้นทางหาแรงงาน

ประเทศต้นเปิดรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา จัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าวส่งให้นายจ้างไทย

3. นายจ้างยื่นขอทำงานแทนแรงงานต่างด้าว

นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (name list) ที่ผ่านการรับรองจากประเทศต้นทางของคนต่างด้าวแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานที่ระบุในแบบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว

รวมถึงแสดงเอกสารหรือหลักฐานการได้รับวัคซีนของคนต่างด้าวครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด ซึ่งต้องเป็นวัคซีนที่รับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทาง (ถ้ามี)

ให้นายจ้างจัดซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 และจัดให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการที่ต้องเข้าประกันสังคมเข้าระบบประกันสังคม กรมการจัดหางานตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารหลักฐานต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดเก็บเงินค่ายื่นคำขอค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท และค่าหลักประกัน (กรณีนายจ้างนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานเอง) 1,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน และออกใบเสร็จรับเงินให้นายจ้าง

4. ทำหนังสือถึงสถานทูตแต่ละประเทศ

กรมการจัดหางานจัดทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทาง (กัมพูชา และลาว) และถึงสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อพิจารณาตรวจลงตราวีซ่า (non – immigrant L-A) ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาท

แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้ โดยนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ รับหนังสือจากกรมการจัดหางานและจัดส่งให้คนต่างด้าว พร้อมแจ้งกำหนดวันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามวันที่ได้รับคิวเข้ารับการกักกันตัว

5. ลงตราอนุญาตให้อยู่ไทยชั่วคราว

เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงเอกสาร หรือหลักฐานที่ได้รับจากนายจ้าง และแสดงใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ตรวจโดยวิธี RT-PCR มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางเข้ามา และใบรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการทำงาน (non – immigrant L-A) เป็นระยะเวลา 2 ปี

จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานแจ้งไว้เท่านั้น โดยต้องเดินทางตามเส้นทางที่กำหนด ห้ามแวะสถานที่ใด ๆ ก่อนถึงสถานที่กักตัว และยานพาหนะต้องสามารถบันทึกภาพได้ตลอดระยะเวลาเดินทาง

6. กักตัว-ตรวจหาเชื้อ

คนต่างด้าวต้องเข้ารับการกักตัว และมีการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ดังนี้

  • กรณีคนต่างด้าวฉีดวัคนมาจากประเทศต้นทางครบแล้ว (กลุ่มสีเขียว) ต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง
  • กรณีคนต่างด้าวได้รับการฉีดวัคซีนแต่ยังไม่ครบตามเกณฑ์ (กลุ่มสีเหลือง) และคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน (กลุ่มสีแดง) ต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะจัดเตรียมการฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าว โดยนายจ้างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และจะดำเนินการฉีดให้แรงงานในวันสุดท้ายของการกักตัว แต่หากตรวจพบเชื้อโควิด-19 ให้แรงงานเข้ารับการรักษา โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นส่วนที่นายจ้าง หรือกรมธรรม์ที่นายจ้างทำให้แรงงานต่างด้าวเป็นผู้ฝ่ายผิดชอบ

เมื่อคนต่างด้าวกักตัวครบตามกำหนดและตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 หรือได้รับการรักษาหายแล้ว คนต่างด้าวดำเนินการตรวจโรค 6 โรค (500 บาทต่อคน) และนายจ้างผู้รับอนุญาตฯ จึงรับคนต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ

7. อบรมผ่านระบบวิดีโอ

แรงงานต่างด้าวจะได้รับการอบรมผ่านระบบ video conference ณ สถานประกอบการ และเมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 15 วัน นับจากวันที่รับการอบรม โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

สถานประกอบการยินดีจ่าย

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU มีประโยชน์มากในสถานการณ์ที่มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก

โดยประเภทกิจการที่ต้องการจ้างแรงงานต่างชาติมากที่สุด เช่น เกษตรและปศุสัตว์ ก่อสร้าง บริการ ส่วนจังหวัดที่ต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติมากที่สุด เช่น กทม. สมุทรสาคร เป็นต้น

“ส่วนเรื่องค่าใช่จ่ายในการกักตัว ผมคิดว่าสถานประกอบการยินดีจะจ่าย เพราะอัตราการกักตัวมีให้เลือกตั้งแต่ 500-1,000 บาทต่อวัน ส่วนเรื่องวัคซีนรัฐบาลก็เป็นผู้รับผิดชอบ”