“ดิอาจิโอ” มุ่งสู่ความยั่งยืน ลดคาร์บอนเป็นศูนย์-ใช้ขวดกระดาษ

Join The Pact_Drink Drive

เมื่อปี 2563 บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ ประเทศไทย หรือ DMHT เปิดตัวแผนงาน SOCIETY 2030 : SPIRIT OF PROGRESS ที่เรียกว่าเป็นแผนทศวรรษแห่งการลงมือทำเพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และยังสอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทที่ต้องการสร้างสังคมแห่งการดื่มอย่างรับผิดชอบ

โดยอาศัยความพยายามจากทุกภาคส่วนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อสังคมโดยรวม ล่าสุดบริษัทมีแนวทางเปลี่ยนขวด Johnnie Walker ให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ เพื่อให้ผู้บริโภคเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก

“จูลส์ นอร์ตัน แซลเซอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พันธกิจหลัก 3 ด้านของดิอาจิโอ คือ

จูลส์ นอร์ตัน แซลเซอร์
จูลส์ นอร์ตัน แซลเซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด

หนึ่ง การส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบ (positive drinking) เน้นส่งเสริมผู้บริโภคให้รู้จักการดื่มอย่างรับผิดชอบ ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการอบรม “DRINKiQ-รู้ทันแอลกอฮอล์”

สอง การสร้างความเป็นเลิศด้านความหลากหลาย (inclusion and diversity) มุ่งส่งเสริมให้ทีมงานและคนในองค์กรโอบรับความหลากหลายในด้านต่าง ๆ เช่น ความหลากหลายทางเพศ

สาม การเป็นผู้บุกเบิกสร้างความยั่งยืนในทุกขั้นตอนการผลิต (grain to glass) มุ่งมั่นที่จะปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2030 รวมไปถึงการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นแบบ paper-based หรือการเปลี่ยนจากขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากกระดาษแทน และจะสื่อสารกับซัพพลายเออร์ในเรื่องนี้มากขึ้นในอนาคต

Advertisment

“พันธกิจหลักทั้ง 3 ข้างต้นเชื่อมโยงกับเป้าหมาย 6 อย่างของเป้าหมายแห่งความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจของเรา และยังมีประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ”

ทั้งนี้ ช่วง 10 ปีผ่านมาจะเห็นว่าเทรนด์ของโลกหลัก ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของความยั่งยืน เช่น ผู้บริโภคเลือกซื้อแบรนด์ที่มีคุณค่าต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางดิอาจิโอมองเห็นความสำคัญเรื่องนี้ และต้องการนำแนวคิดนี้มาใช้ในแบรนด์อย่างจริงจัง”

Advertisment

สำหรับการส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบ ทั้งดื่มให้พอดี ขับขี่ปลอดภัย และป้องกันการดื่มก่อนวัยอันควร ถือเป็นโครงการหลักของดิอาจิโอ เพื่อแก้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคดื่มอย่างรับผิดชอบ โดยเราจะสื่อสารกับทางผู้บริโภค

โดยเน้นประสบการณ์การดื่ม ไม่ใช่ปริมาณการดื่ม ยกตัวอย่างเช่น ในไทยเรามุ่งมั่นให้วาระการดื่มอย่างรับผิดชอบเป็นวาระสำคัญในปี 2030 และตั้งเป้าว่าจะมีผู้บริโภคตอบแบบสอบถามผ่านเว็บไซต์ DRINKiQ ให้ได้ถึง 250,000 ราย

“ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2563 มีคนทำแบบสอบถามไปแล้วประมาณ 35,000 คน ถือว่าบรรลุเป้าในปี 2020 โดย DRINKiQ จะมีแบบสอบถามต่าง ๆ เพื่อทดสอบผู้บริโภคว่าจะดื่มแอลกอฮอล์อย่างไรให้ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น โดยเน้นส่งเสริมความรู้ผู้บริโภค”

“จูลส์ นอร์ตัน แซลเซอร์” กล่าวต่อว่า ส่วนการส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัยปราศจากแอลกอฮอล์ เราดำเนินการผ่านโครงการ Don’t Drink Drive และจะเปิดตัวแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิ่ง Wrong Side of the Road ช่วงสงกรานต์ปี 2565 เพื่อเป็นช่องทางในการให้ความรู้ ผู้บริโภคจะได้ดูตัวอย่างอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับที่เกิดขึ้นจริง โดยผู้ที่เข้ามาในแพลตฟอร์มสามารถสื่อสารโต้ตอบกันได้ นับเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สร้างความตระหนักรู้และก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทางดิอาจิโอ ประเทศไทย หวังว่าจะเปิดตัวโครงการนี้ในไทยก่อนช่วงสงกรานต์ปีหน้า

“ขณะที่โครงการที่มุ่งป้องกันการดื่มก่อนวัยอันควร เน้นให้ความรู้เรื่องการดื่มแก่เยาวชน 13-15 ปี ผ่านโครงการ SMASHED ซึ่งดำเนินการในหลายประเทศรวมถึงไทย เป็นเสมือนเวิร์กช็อปแบบเชิงโต้ตอบกับผู้สอนได้ โดยโครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2016 และมีนักเรียนจากหลายประเทศเข้าร่วมมากกว่า 9,000 คน”

นอกจากนี้ บริษัทมีการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นบาร์เทนเดอร์ ร้านอาหาร รวมถึงผู้บริโภค เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงพูดคุยกับอีกหลายภาคส่วนในหลาย ๆ มิติ เพื่อให้เห็นเป็นภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น

“ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทไม่ได้หยุดโครงการเหล่านี้ โดยเดือนเมษายน-มิถุนายนผ่านมา ถือเป็นช่วงพีกของโรคระบาดนี้ ทางดิอาจิโอจึงร่วมมือกับสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยจัดแคมเปญออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพื่อส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบ และทำงานอย่างใกล้ชิดกับพนักงานของดิอาจิโอ เพื่อให้แนวทางดำเนินการต่าง ๆ สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน เราคาดหวังว่าทางผับและบาร์น่าจะกลับมาเปิดเป็นปกติมากขึ้นในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ และจะเข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยการดื่มอย่างรับผิดชอบ และดื่มไม่ขับ”

“จูลส์ นอร์ตัน แซลเซอร์” กล่าวถึงเป้าหมาย neutral carbon ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิอาจิโอกำลังดำเนินการอย่างมุ่งมั่น โดยต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เฉพาะทางตรงเท่านั้น แต่รวมถึงกระบวนการทางอ้อมทั้งซัพพลายเชน เช่น ซัพพลายเออร์ต้องลดให้ได้ 50% ภายในปี 2030 ด้วย นอกจากนั้นยังรวมถึงการที่บริษัทจะนำวัสดุรีไซเคิลหรือบรรจุภัณฑ์ที่นำไปรีไซเคิลมาใช้ในแบรนด์ให้มากขึ้น

“ดิอาจิโอตั้งใจเปลี่ยนขวด Johnnie Walker ให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากกระดาษ โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปีที่ผ่านมาถึงความเป็นไปได้ โดยเรื่องนี้สามารถสร้างกระแสในตลาด สร้างความตื่นเต้นค่อนข้างมาก เพราะผู้บริโภคตื่นตัวเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น”

“และหลังจากที่ประกาศแผนการนี้ออกไปเมื่อปีที่แล้ว เราเริ่มทำต้นแบบขวดกระดาษ ส่วนของจริงน่าจะใช้เวลาอีกสักพัก ผมมองว่าการเพิ่มตัวเลือกบรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของดิอาจิโอ ไม่เพียงแค่กระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากซื้อผลิตภัณฑ์”

“แต่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก โดยจะคงราคาให้เท่าเดิม แม้ว่าจะเป็นพรีเมี่ยมแบรนด์ก็ตาม เพราะเจตนาของเราคือให้แบรนด์ก้าวหน้าสู่ความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เรื่องราคาไม่ควรจะส่งผลกระทบและควรจะใกล้เคียงกับปัจจุบัน และผมมองว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ความหวังของผู้บริโภคในเรื่องการสร้างความยั่งยืนของแบรนด์ต่าง ๆ จะมีมากขึ้น ดังนั้น ดิอาจิโออยากจะเป็นผู้นำในด้านนี้ ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ซึ่งจะเป็นการสร้างจุดแข็งให้แบรนด์ของเราแตกต่างจากคนอื่นด้วย”

“สำหรับการอนุรักษ์น้ำ สิ่งที่ดิอาจิโอทำคือเปลี่ยนวิธีการใช้น้ำให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยเราจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้ได้ 30% และเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการการใช้น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลนน้ำเป็นพิเศษ ปัจจุบันโครงการนี้ของเราครอบคลุมชุมชนถึง 160 แห่ง โดยการเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการใช้น้ำมากยิ่งขึ้น โดยผ่านการเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานท้องถิ่น รวมไปถึงภาคการผลิตทั้งในเอเชียและแอฟริกา”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว