UNHCR เปิดกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย แม่เลี้ยงเดี่ยวซีเรีย

UNHCR เปิดตัว “กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย” ในประเทศไทย สร้างเครือข่ายผู้หญิงถึงผู้หญิง ส่งความช่วยเหลือแก่แม่เลี้ยงเดี่ยวชาวซีเรีย และที่กำลังลี้ภัยทั่วโลก

วันที่ 4 มีนาคม 2565 หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญสงครามและความขัดแย้ง ทำให้การพลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมากกว่าครึ่งคือผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตเพียงลำพัง เป็นหัวหน้าครอบครัว กำลังตั้งครรภ์ พิการ หรือเป็นผู้สูงอายุที่กำลังเปราะบาง กว่าทศวรรษที่วิกฤตในประเทศซีเรียบังคับให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นมากที่สุดในโลก สูงถึง 12 ล้านคน และ 1 ใน 3 ของหัวหน้าครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศจอร์แดน คือ ผู้หญิงที่ขาดโอกาสในการทํางาน การศึกษา และทักษะการประกอบอาชีพ ทําให้พวกเธอตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นสุด ไร้บ้าน และขาดแคลนอาหารเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวโดยลําพัง

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้จัดตั้ง “กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย” ร่วมกับ แวววรรณ กันต์นันท์ธร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรสโกลด์ (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเครือข่ายแห่งการแบ่งปันจากผู้หญิงถึงผู้หญิง ส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพผู้หญิงยุคใหม่ในประเทศไทยผ่านการให้และการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการทำงานด้านมนุษยธรรมระดับโลก โดยเงินค่าสมาชิกรายปีของกองทุนฯ จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นเงินช่วยเหลือที่ UNHCR นำไปมอบให้แม่เลี้ยงเดี่ยวชาวซีเรียที่กำลังลี้ภัยและดูแลครอบครัวเพียงลำพังในประเทศจอร์แดน

นาวีน อัลเบิร์ต รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินของ UNHCR ช่วยให้ครอบครัวผู้ลี้ภัยแต่ละครอบครัวที่มีความต้องการที่ต่างกันสามารถใช้จ่ายดูแลครอบครัวในเรื่องที่จำเป็นที่สุดในแต่ละเดือนของตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน และช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าอาหารที่ขาดแคลน หรือการศึกษาของลูกๆ ผู้ลี้ภัยสามารถตัดสินใจได้เองอย่างมีศักดิ์ศรี

ด้านแวววรรณ กันต์นันท์ธร ประธานและผู้ก่อตั้งกองทุนฯ กล่าวว่า กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย ได้รับการจัดตั้งเป็นครั้งแรกในประเทศออสเตรเลีย โดยผู้ก่อตั้งคือผู้ที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ และมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน ในประเทศไทย

“ในวันที่เรามีความพร้อม สิ่งที่ตั้งใจคือการคืนกลับสู่สังคม และถ้าเรารวมกลุ่มผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน พลังที่เราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผู้หญิงลี้ภัยได้จะยั่งยืนและมั่นคง ดิฉันตั้งใจสร้างเครือข่ายแห่งการให้ที่ดีกับตัวเราและเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมุนษย์”

ทั้งนี้ กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัย ยังได้รับความสนับสนุนจากนักธุรกิจหญิงและผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จจากหลากหลายอุตสาหกรรมในวงการธุรกิจของประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของกองทุนฯ เพื่อพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตและครอบครัวผู้ลี้ภัย

ขณะที่ ซอนญ่า สิงหะ นักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่และผู้มีชื่อเสียง หนึ่งในผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของกองทุนฯ กล่าวว่า นอกจากความสำเร็จที่ดิฉันได้รับจากการทำธุรกิจของตัวเองแล้ว การเป็นผู้ให้มีความสำคัญมากที่คอยเตือนใจให้เรานึกถึงคนรอบตัวอยู่เสมอ กองทุนฯ นี้เติมเต็มการให้ของดิฉันแบบไม่มีพรมแดน และการได้รวมตัวกับกลุ่มนักธุรกิจหญิงแถวหน้าของประเทศเพื่อช่วยผู้หญิงอีกกลุ่มนึงบนโลกที่กำลังลี้ภัยกับ UNHCR ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในเครือข่ายแห่งการแบ่งปันนี้

อย่างไรก็ตาม สมาชิกของกองทุนฯ จะมีโอกาสติดต่อกับผู้ลี้ภัยหญิงเป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ ผ่านแอปพลิเคชัน คอนเน็คติ้ง เวิร์ดส์ (Connecting Worlds) ที่ UNHCR พัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมโยงโลกของผู้บริจาคและผู้รับในคนละซีกโลกเข้าด้วยกัน ถือเป็นแอปพลิเคชันแรกของโลกที่เปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนฯ และผู้ลี้ภัยหญิงชาวซีเรียในประเทศจอร์แดนสามารถแลกเปลี่ยนข้อความและรูปภาพถึงกันโดยตรง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยกัน

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า นอกจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะมีประโยชน์ในโลกธุรกิจแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อการเชื่อมโยงคนที่อยู่กันคนละมุมโลกเข้าด้วยกันได้ ถือเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีคุณค่าทางจิตใจผ่านการเชื่อมโยงคนในแต่ละมุมโลกเข้าด้วยกัน การส่งข้อความง่าย ๆ ให้กับผู้ลี้ภัย มีความหมายที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับพวกเขา ถือเป็นต้นแบบของการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ทุกคนไม่ว่าเป็นใครก็สามารถปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมได้

ร่วมเป็นสมาชิกกองทุนฯ เพื่อสร้างเครือข่ายแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยการสมัครสมาชิกรายปี 72,000 บาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่แม่เลี้ยงเดี่ยวชาวซีเรียที่ลี้ภัยในประเทศจอร์แดนและครอบครัวให้พวกเธอได้ใช้จ่ายตามความขาดแคลนของตนเอง อาทิ การศึกษาของลูก ค่าเช่าบ้าน และการรักษาพยาบาล เป็นต้น ในฐานะสมาชิกกองทุนฯ และจะได้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อพัฒนาตนเองและธุรกิจ และเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานด้านมนุษยธรรมในระดับโลกร่วมกับนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศอีกมากมาย สมัครสมาชิกได้ที่ www.unhcr.org/th/leading-women-fund