วิวาทะ กรณ์-สฤณี ปม ‘ธนาธร’ โอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust ?

จากกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตัดสินใจโอนทรัพย์สินหลายพันล้านบาทให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร เป็นผู้ดูแลจัดการ โดยไม่มีอำนาจสั่งการ หรือยุ่งเกี่ยว จนกว่าจะพ้นจากการเมือง 3 ปี โดยถือว่าเป็นนักการเมืองไทยคนแรก ที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวและเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะ และยินดีถูกตรวจสอบในทุกกระบวนการ

ต่อมา ถูกนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โต้แย้งว่าการดำเนินการดังกล่าวก็มีนักการเมืองหลายคนเคยทำ และชี้ว่ายิ่งมองไม่เห็น ยิ่งตรวจสอบยากต่างหาก โดยระบุว่า

ยิ่งมองไม่เห็น ยิ่งตรวจสอบไม่ได้

จากการแถลงข่าวเรื่อง “blind trust” ของคุณธนาธร ทำให้มีสื่อบางรายได้ทักท้วง สรุปความได้ว่า การอ้างว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการทำเช่นนี้ เป็นการอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เคยมีนักการเมืองอีกหลายท่านรวมทั้งผมด้วย เคยทำเช่นนี้มาก่อนแล้ว..

ผมขอชี้แจงตามนี้ว่า

1.“Blind Trust” ยังไม่มีจริงในประเทศไทย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นที่คุณธนาธรลงนามไปนั้น ไม่ใช่ blind trust และไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน

2.คุณธนาธรได้โอนทรัพย์สินให้สถาบันการเงินดูแล อันนี้หลายคนน่าจะเคยทำเหมือนกัน ผมก็เคยและวันนี้ก็ยังมีอยู่ โดยที่ผมก็ได้ลงนามสัญญาให้เขาบริหารโดยอิสระเช่นเดียวกัน

3.ผมเองเคยมี Trust อยู่ที่ต่างประเทศ และรายงานรายละเอียดทั้งหมดกับ ป.ป.ช.ตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการรายงานบัญชีทรัพย์สิน

4.แต่หลายปีมาแล้วผมได้ตัดสินใจทำสวนทางกับที่คุณธนาธรพยายามที่จะทำ คือผมยกเลิก Trust ที่มีอยู่ เพราะผมคิดว่าความโปร่งใสสำคัญกว่า ผมคิดว่าประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในสิ่งที่คุณธนาธรได้ประกาศวันนี้ ไม่ใช่ว่าท่านเป็นคนแรกหรือไม่ แต่ที่ท่านบอกว่าทรัพย์สินที่ท่านโอนไปนี้จะ “มองไม่เห็น” เพราะเมื่อทุกคนบอดสนิทกับข้อเท็จจริงว่าท่านมีทรัพย์สินอะไรบ้าง การตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะเกิดขึ้นไม่ได้

จริงๆ แล้ววิธีที่ชัดเจนที่สุดที่จะปลดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนคือการขายขาด (แต่อย่าขายให้ nominee กันอีกนะครับ)

แต่หากไม่ขาย ผมว่าที่ดีที่สุดคือเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ และที่ไม่ควรคือการโอนเข้าไปในที่ที่ “มองไม่เห็น”

***ความเห็นเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจน: หลายคนบอกว่ายังไงๆ ก็ต้องเห็นว่าลงทุนในอะไรบ้าง เพราะต้องรายงาน ป.ป.ช. ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ควรจะอ้างว่า “มองไม่เห็น” ครับ มันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง

ส่วนการจัดตั้ง Blind Trust นั้นช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นหรือไม่ ผมคิดว่าช่วยได้จริงครับ แต่ต้องเปิดให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา คือพูดง่ายๆ ต้อง “เห็น” และมีความโปร่งใสตลอดเวลา ซึ่งปัญหาก็ยังจะมีอยู่ว่าเมื่อผู้มีอำนาจที่เป็นเจ้าของกองทุน “เห็น” แล้ว เขาก็สามารถเอื้อต่อทรัพย์สินของเขาได้อยู่ดี แต่อย่างน้อยเราติดตามและตรวจสอบได้

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ประชาธิปัตย์เพิ่งแถลงไปว่านักการเมืองทุกคนควร “เปิดเผยผลประโยชน์ที่ตนและทุกคนในครอบครัวมี” และไม่ควรทำอะไที่ทำให้คน “ไม่เห็น” ครับ

ส่วนโพสต์ที่ลบออกไปบ้างเป็นเพราะหยาบคายและไม่อยู่ในประเด็นครับ ความเห็นต่างที่สุภาพและอยู่ในประเด็นผมเปิดให้ได้อ่านโดยทุกคน

ต่อมา สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง แสดงความเห็นตอบโต้ความเห็นของนายกรณ์ ระบุว่า

ไม่คิดจะเขียนเรื่องนี้อีกแล้วนะคะ แต่พอดีได้คำถามหลังไมค์มารัวๆ หลายอัน เลยคิดว่าตอบทีเดียวเป็นสาธารณะดีกว่า ก่อนจะมีมาอีก 55

ความเห็นต่อโพสต์ของคุณกรณ์ (ดูได้ในเพจ KornChatikavanijDP) ต่อกรณี blind trust คุณธนาธร

1.ในฐานะนักการเงิน คุณกรณ์ย่อมเข้าใจดีว่า blind trust คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ทำงานแบบไหนในต่างประเทศ การนำคำว่า “มองไม่เห็น” มาเล่น บิดคำให้กลายเป็นเท่ากับหมายความว่า “ตรวจสอบไม่ได้” จึงไม่ถูกต้อง เพราะ blind ในคำว่า blind trust ไม่ใช่แปลว่าตรวจสอบไม่ได้ คำว่า “มองไม่เห็น” แปลตรงตัวว่า เจ้าของทรัพย์สินไม่มีสิทธิมองเห็นหรือบงการการจัดการทรัพย์สินใดๆ เท่านั้น

2.ไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ blind trust ก็จริง แต่คุณธนาธรก็ได้แสดงความประสงค์ชัดเจนแล้วใน MOU ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะว่า จะสร้างเงื่อนไขแบบ blind trust ขึ้นมาในสัญญาบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล

3.blind trust ที่คุณธนาธรตั้งในครั้งนี้ เป็นการทำสัญญากับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสัญชาติไทย อยู่ในรูปกองทุนส่วนบุคคล (private fund) ในเมืองไทย ซึ่งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ทุกประการ ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ไม่ใช่ trust ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (แบบที่คุณกรณ์โพสต์ว่าเคยทำ) และในเมื่อคุณธนาธรยังคงเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (กองทุนเพียงแต่รับมอบอำนาจในการจัดการมา) จึงยังต้องรายงานทรัพย์สินถ้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกฎระเบียบของ ป.ป.ช. (เหมือนกับที่รัฐมนตรีคนก่อนๆ ที่โอนทรัพย์สินให้กองทุนส่วนบุคคลจัดการ มีหน้าที่ต้องทำเช่นเดียวกัน — แต่ย้ำอีกทีว่า ไม่มีข้อมูลค่ะว่ากองทุนเหล่านั้นอันไหนเข้าข่าย blind trust บ้าง)

4.การรายงานทรัพย์สินใน trust นี้ ต่อ ก.ล.ต. และ ป.ป.ช. (ซึ่งเป็นหน้าที่ของ trustee หรือผู้ดูแล trust) จะต้องละเอียดแค่ไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่เจ้าของโพสต์นี้ไม่แน่ใจ (เพราะกฎหมาย blind trust ตรงๆ ยังไม่มีนั่นแหละ) แต่ในหลักการ การจัดตั้งโครงสร้างแบบนี้ถือว่าเป็นการวางมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ดังนั้นถ้าจะต้องเปิดเผย อย่างมากก็ควรเปิดเผยทรัพย์สินเดิม (ณ ตอนที่สร้าง trust นั้นขึ้นมา เพราะถือว่ามีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับทรัพย์สินเดิม เพราะเจ้าของรู้ว่ามีอะไรบ้าง) และยอดรวมของมูลค่าทรัพย์สินใน trust ตามกำหนดการยื่นของ ป.ป.ช.เท่านั้น (เราอยากรู้รายละเอียดทรัพย์สินก็เพราะเจ้าของทรัพย์สินมีอำนาจจัดการ สุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเขาโอนอำนาจการจัดการไปแล้ว เราก็ไม่ต้องรู้ละเอียดขนาดนั้นก็ได้)

5.ดังนั้นคำพูดของคุณกรณ์ที่ดูจะชี้นำว่า “มองไม่เห็น” = “ตรวจสอบไม่ได้” จึงไม่เป็นความจริง พูดไม่ครบ และทำให้คนเข้าใจผิดได้ค่ะ

เสริมอีกนิดว่า คุณธนาธรเป็นนักการเมืองคนแรกที่รู้จัก ที่ 1) ประกาศว่าจะจัดตั้ง blind trust ก่อนรู้ผลการเลือกตั้ง 2) เปิดเผย MOU ต่อสาธารณะ 3) ในสัญญาจะกำหนดข้อบังคับว่า trustee จะต้องไม่ซื้อหุ้นไทย และ 4) ไม่รับโอนทรัพย์สินคืนจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 3 ปี — ทั้งสี่ข้อนี้เป็นมาตรฐานสูงที่ไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหนทำมาก่อนค่ะ

ที่มา:มติชนออนไลน์

คลิกอ่าน.. “ธนาธร” ลงนาม mou เซ็นโยกทรัพย์สิน 5 พันล. เข้ากองทุน blind trust

คลิกอ่าน.. อธิบดีสรรพากรชี้ “blind trust” หลบภาษีไม่ได้