สืบเอกลักษณ์ “ท้องถิ่น” สานสรรพสิ่ง “เครื่องเงินไทย” กับ 5 ผู้ประกอบการไทย หวังดังไกลระบือ “โลก”

เครื่องเงินไทย

“เครื่องเงินไทย” คือหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติที่มีการสืบสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กระทั่งยืนยาวมาจนรุ่นลูกหลานในแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งเครื่องเงินนั้นไม่ได้มีเฉพาะแต่ภาคเหนือของไทย แต่ในหลายจังหวัดก็มีอัตลักษณ์ทางเทคนิคการสร้างงาน หรือ การออกแบบลวดลายแตกต่างกันออกไป เช่น เชียงใหม่ จันทบุรี นครศรีธรรมราช

เครื่องเงินที่ว่านี้ไม่ใช่แค่เครื่องประดับ อย่างที่ชินตาอย่าง สร้อย ต่างหู แหวน หรือ กำไล เท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้าวของเครื่องใช้อย่าง ขัน ทัพพี กระจก หรือกระทั่งรูปปั้น ที่มักจะแอบอิงกับลวดลายสะท้อนภาพความเป็นไทยเป็นส่วนมาก

“ประชาชาติธุรกิจ” พามารู้จักกับ 5 ผู้ประกอบการเครื่องเงิน ทั้งสินค้าแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์ ถึงมุมมองต่อเครื่องเงินไทยที่จะไปไกลในระดับโลก และเบื้องลึกการพัฒนาผลงานที่ผสานความเป็นท้องถิ่นไปกับงานเครื่องเงินที่มีมาแต่โบราณ ภายหลังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สืบสานงานเงิน” ของสยามเจมส์ ร้านค้าปลีกเครื่องประดับในดับประเทศ

โมบายกระดิ่งลมลายช้าง : นำชัยเครื่องเงิน

หากพูดถึงเครื่องเงิน อย่างไรก็หนีไม่พ้น “น่าน” จังหวัดที่เลื่องชื่อเรื่องเครื่องเงินที่สุดในประเทศไทย “ประชาชาติธุรกิจ” คุยกับ อุราทิพย์ จารุศิลากุล เจ้าของร้านนำชัยเครื่องเงิน ถึงแรงบันดาลใจในการผลิตงานว่า เครื่องเงินของทางร้านได้รับไอเดียมาจากชุดชนเผ่าเย้า ม้ง และกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่นที่สามารถนำมาดัดแปลงต่อยอดให้เข้ากบการใช้งานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น

เครื่องเงินไทย

สำหรับผลงานที่ร่วมพัฒนากับทางสยามเจมส์นั้น คือ “โมบายกระดิ่งลมลายช้าง” อุราทิพย์ เล่าถึงเหตุผลที่เลือกลายช้างว่า ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ทั้งยังเป็นสัตว์ที่คนจีนชื่นชอบเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นความต้องการที่จะขยายตลาดไปยังลูกค้าคนจีนเพิ่ม

“ลูกค้าคนจีนสนใจเครื่องเงินลายช้างลายปลา สำหรับจีนเขามีเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ขาดงานฝีมือช่าง ซึ่งเอกลักษณ์เครื่องเงินน่านคือเครื่องเงินทำมือ ต่อให้วางดอกแบบเดียวกัน แต่การตอกก็ย่อมต่างจากการทำด้วยเครื่องจักร” เจ้าของร้านนำชัยเครื่องเงินกล่าว และต่อว่า อนาคตนั้นอยากให้ใช้เครื่องเงินกันทุกบ้าน ส่วนตัวเห็นว่ายิ่งใส่เยอะจะยิ่งดูดี ทั้งยังไม่อันตราย “หากนำเครื่องเงินมาประดับผ้าให้สวมใส่ได้ทุกวันจะยิ่งดี”

เครื่องเงินไทย

กระจกสไตล์ขันโตก : เครื่องเงินวัวลาย

นอกจากน่านแล้ว เครื่องเงินยังมีชื่อเสียงในแถบภาคเหนือของไทย อาทิ “เชียงใหม่” หัวเมืองสำคัญทางเหนือของไทยที่ต้อนรับขับสู้นักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี

ว่าที่ ร.ต.ดรณ์ สุทธิภิบาล เจ้าของร้านเครื่องเงินวัวลาย ผู้ผลิตทั้งงานเครื่องเงินและเครื่องทองคำ ประเภทงานของที่ระลึกและของตกแต่ง เล่าว่า งานของตนเป็นงานเครื่องเงินล้านนาทั่วไป ที่มีลวดลายประกอบตัวเรือน อย่างพืช ดอกไม้ แมลง ด้วยการตอกสลักดุน การแกะเป็นรูป และการถักร้อยเชื่อมประกอบ แต่ทางร้านก็พยายามสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา คือ ลวดลายของหม้อบูรณฆฏะ หรือหม้อดอกไม้ของทางล้านนา

การเข้าร่วมโครงการสืบสานงานเงินทำให้ตนได้พัฒนาผลิตภัณ์เป็น “กระจกสไตล์ขันโตก” กระจกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารทางล้านนาที่มีกนั่งทางอาหารกับพื้น โดยมีขันโตกหรือถาดอาหารยกสูงขึ้นมาเพื่อวางสำรับอาหาร

“เราจึงประยุกต์ทำกระจก เพื่อส่องสะท้อนกลับไปเห็นคุณค่าความงาม ความเป็นไทยล้านนา สื่อถึงวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของล้านนา ไม่ใช่แค่การส่องหน้าส่องตา แต่เป็นการส่องให้เห็นคุณค่าขันโตก ร.ต.ดรณ์กล่าว และต่อว่า

“เราทำกระจกเป็นเหมือนขันโตก ซึ่งเป็นกระจกสองชั้น รอบขอบกระจกประดับลวดลายเครื่องเงิน โดยใช้เทคนิคสลักดุน รูปทรงที่ออกแบบเป็นคลื่นขอบถามประดับด้วยดอกบัวเป็นดอกๆ ซึ่งเป็นดอกไม้มงคลที่นำไปบูชาพระ”

สำหรับลูกค้าของทางร้านมีเฉพาะลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยว ไม่มีการส่งออก แต่การร่วมโครงการนี้เป็นการให้โอกาสกับ เครื่องเงินทั่วประเทศ รวมทั้งให้โอกาสทางการตลาด ซึ่งสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการผลิต

“กระจกเป็นมาตรฐานสากลที่ต้องใช้ เราอาจจะนำวัฒนธรรม ประเพณีที่เด่นๆ ของทางล้านนา แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้สื่อไปถึงกลุ่มลูกค้าได้ เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักมาเพื่อดูและซื้อผลงานวัฒนธรรมกลับไป” เจ้าของร้านเครื่องเงินวัวลาย กล่าว

เครื่องเงินไทย

กล่องเก็บเครื่องประดับลายสัตว์หิมพานต์ : บุ ดุน โลหะ

“นครศรีธรรมราช” ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เลื่องชื่อด้านงานเครื่องเงิน โดยเฉพาะเทคนิค “การถมเงิน” เกียรติศักดิ์ บุญโอภาศ เจ้าของร้านบุ ดุน โลหะ ซึ่งมักรับงานตกแต่งโรงแรม รีสอร์ท วัด โบสถ์ เป็นส่วนมาก กล่าวว่า ทางร้านเน้นเทคนิคการสลักดุนโลหะอื่น เช่น ทองแดง ทองเหลือง เงิน ซึ่งเป็นเชิงช่างสืบทอดมาอย่างยาวนาน มาทำให้เป็นศิลปะโลหะ เช่น ของตกแต่งบ้าน ตกแต่งผนัง และขับเน้นความเป็นไทยด้วยการวางลวดลายไทย เรื่องราวของสัตว์ป่าหิมพานต์ ไม่ว่าจะเป็นนกปักษา คชสิงห์ ปักษ์สิงห์

เกียรติศักดิ์ เล่าว่า เมื่อสยามเจมส์จัดงาน ตนเองก็อยากนำเสนองานเครื่องเงินของไทยให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยเฉพาะงานสลักดุนนั้นที่มีคนรู้จักไม่มาก ทั้งนี้ งานแนวอนุรักษ์มักดูว่าไม่ร่วมสมัย ทางเราจึงนำวัสดุอื่นมาร่วม เช่น ไม้ โลหะ เพื่อให้งานมีความน่าสนใจขึ้น

สุดท้ายจึงร่วมกันพัฒนาผลงานมาเป็น กล่องเก็บเครื่องประดับ โดยออกแบบแผ่นติดเป็นลวดลายสัตว์หิมพานต์ ปักษาสิงห์ หัวเป็นนก ตัวเป็นสิงห์ ซึ่งเป็นความเชื่อจากกรีกโบราณว่าจะคุ้มครองดูแลสมบัติให้แก่เจ้าของ

โดยรวมกลุ่มลูกค้าของบุ ดุน โลหะ แบ่งเป็นลูกค้าชาวไทยและลูกค้ายุโรปอย่างละครึ่ง เกียรติศักดิ์ ระบุว่า สำหรับลูกค้าชาวไทยมักสนใจสินค้าที่เน้นความเป็นไทยในเชิงลึก เช่น งานเครื่องทรงพระ ฉัตร เรียกได้ว่าเป็นงานที่ต้องงดงาม ปราณีต และมีข้อมูลในการผลิตที่ถูกต้องเหมาะสม ขณะที่ลูกค้ายุโรปจะชื่นชอบงานที่ตัดทอนความเป็นไทยลงบ้าน เพื่อให้ดูร่วมสมัยขึ้น

การร่วมงานกับสยามเจมส์ให้ข้อมูล แนวคิด เกี่ยวกับการตลาด ว่าลักษณะงานเป็นรูปแบบไหน การทำให้เครื่องเงินเป็นที่รู้จักทั่วไป งานเครื่องถมมีความปราณีต แต่รูปแบบงานให้ร่วมสมัยมากขึ้น

“มองในมุมเครื่องประดับ คนจะรู้จักเครื่องเงินของทางเหนือ แต่เครื่องเงินทางใต้ก็มี หากมองสินค้าของตกแต่งของโชว์” เกียรติศักดิ์ ระบุ และต่อว่า ในส่วนของผม อยากนำเสนองานสลักดุน ที่เน้นลวดลายและกลิ่นอายของความเป็นไทยลงไป รวมทั้งใส่ความร่วมสมัย เพื่อให้คนทั่วโลกเข้าใจมากยิ่งขึ้น

เครื่องเงินไทย

ราชินีผลไม้ มังคุด : ธนาภรณ์ จิวเวอรี่

แม้ “จันทบุรี” จะขึ้นชื่อด้าน “พลอย” มาก แต่งานเครื่องเงินก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน เนื่องจากพลอยย่อมต้องอาศัยตัวเรือนที่ปราณีต ปราชญ์ สุทธาจารเกษม เจ้าของร้านธนาภรณ์ จิวเวอรี่ ล่าว่า ในฐานะผู้ผลิตเครื่องเงินประดับพลอย ทางร้านจึงชูเรื่องพลอยและลวดลายบนงานตัวเรือนเงินเป็นหลัก เช่น ลวดลายไทย การแกะสลัก ส่วนอัญมณีที่ใช้นั้นได้ทั้งพลอยเนื้อแข็ง-เนื้ออ่อน เช่น ทับทิม ไพลิน อเมทิสต์ และซิทรี

นอกจากของขึ้นชื่ออย่างพลอยแล้ว ผลไม้ ก็คืออีกหนึ่งเอกลักษณ์ของจันทบุรี ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับทางสยามเจมส์

ปราชญ์เล่าว่า ระหว่างร่วมออกไอเดียกับทางสยามเจมส์ ตนเคยนึกถึง ทะเล แต่ท้ายที่สุดเมื่อยึดว่าไรจะทำให้เข้าถึงตัวตนของจันทบุรี ประเทศไทยได้ ข้อสรุปสุดท้ายจึงตกมาที่ มังคุด ราชินีแห่งผลไม้ ไอเดียหลักในการผลิตชิ้นงานให้ออกมาเป็นเซ็ทเครื่องประดับ สร้อยข้อมือ ต่างหู และแหวน 3 เครื่องประดับนี้เป็นที่นิยมสวมใส่โดยทั่วไป

“ตัวเรือนเงินที่โชว์ลวดลายและอัญมณีแท้ อย่างพลอยแท้อเมทิสต์ ซึ่มีสีม่วง ทำเป็นลวดลายลูกมังคุด ส่วนกลีบและใบประดับอัญมณีสีเขียวอย่างทับทิม” ปราชญ์กล่าว

สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีแต่เดิมนั้น แบ่งออกเป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย 50 % ลูกค้าคนจีน 30 %  และลูกค้าชาติตะวันตก 20 % แต่ในอนาคต เจ้าของร้านธนาภรณ์ จิวเวอรี่มองว่า มีโอกาสที่จะขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนซึ่งชื่นชอบหยก และกลุ่มลูกค้าอินโดนีเซียซึ่งตามกฎศาสนาอิสลามนั้นห้ามใส่ทอง

“สยามเจมส์เปิดโอกาสหรือเวทีให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้ามา เพื่อให้ไปเวทีโลก โดยดึงช่างฝีมือท้องถิ่นมารวมกลุ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และขยายช่องทาง ทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติ ซึ่งชอบลวดลายที่สวยงามของเครื่องเงินและอัญมณี”

ของขลังไทยลายผ้าซิ่น : ปัณณะศรัล

นอกเหนือจากร้านพื้นถิ่นที่มีประวัติการสืบสานมาอย่างยาวนานแล้ว อีกหนึ่งนักออกแบบจิวเวอรี่ที่ผันตัวมาเปิดร้านเองในชื่อ ร้านปัณณะศรัล นั้น ปัณณศรัณย์ แก้วประเสริฐ เล่าว่า แม้จะมาในฐานะนักออกแบบ แต่เอกลักษณ์ที่เป็นจุดแข็งไม่แพ้งานดีไซน์ซึ่งเชื่อว่ามีความโดดเด่นกว่า คือการใช้เทคนิคลงยาแบบโบราณ

แม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการ แต่ก็มีออดอร์จากต่างประเทศ เช่น ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา จากคอลเลคชั่นแรกซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากดอกบัว ที่มีความอ่อนช้อยงดงาม มาเป็นไอเดียในการผลิตงานเครื่องประดับ

เมื่อร่วมงานกับทางสยามเจมส์ งานดีไซน์ต่อเนื่องจากความเป็นไทยจึงปรับมุมมองให้แข็งแกร่งขึ้นมาเป็นเครื่องประดับรูปทรงกระบอกคล้ายตะกรุด ใส่ลวดลายผ้าซิ่นหรือผ้าถุง โดยใช้ชื่อคอลเลคชั่นว่า “ผ้าซิ่นแม่”

“โครงการของสยามเจมส์เป็นโครงการที่ดีมาก ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยไปสู่สากล ต่อยอดการตลาด ยิ่งมีการขยายช่องทางการจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในประเทศ นำพาเครื่องประดับไทยที่มีความสง่างามไปสู่สายตาชาวโลก” ปัณณศรัณย์ กล่าว และต่อว่า

“ความตั้งใจของพี่ มีเป้าหมายให้แบรนด์ไปสู่สายตาชาวโลก พี่จะพัฒนาตัวเองต่อๆ ไป พี่มั่นใจว่าต้องทำแบรนด์ไทยดังไกลทั่วโลก”

ด้าน นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่เล็งเห็นความสำคัญของเครื่องเงินไทยว่า เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน สยามเจมส์ กรุ๊ป จึงมุ่งมั่นที่จะช่วยสนับสนุน เพื่อมุ่งยกระดับและต่อยอดสินค้าไทยให้ตรงความต้องการของตลาดเป้าหมาย รวมถึงสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการเครื่องเงินไทย ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ

อ่าน “สยามเจมส์” เปิดโครงการ “สืบสานงานเงิน” ต่อยอดเครื่องเงินไทยสู่ตลาดโลก