สินค้ารับสังคมสูงวัย ดีไซน์แบบไหนที่รุ่นใหญ่อยากเพย์

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย คือเรื่องที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ซึ่งการจะเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ทำให้มีความกังวลตามมาหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ เพราะคนสูงวัยเป็นวัยที่ต้องพึ่งพิงคนวัยหนุ่มสาว


ขณะที่มีความกังวลเกี่ยวกับสังคมสูงวัยอย่างที่ว่าไป มองในอีกด้านหนึ่ง คนสูงวัยส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่มีกำลังซื้อสูง เพราะสะสมเงินทองทรัพย์สินมาตลอดชีวิตการทำงาน นี่จึงเป็นโอกาสในทางธุรกิจ สำหรับคนทำธุรกิจที่อยากจะเจาะตลาดคนรุ่นใหญ่ แต่การจะเข้าถึงใจคนรุ่นใหญ่ได้ก็ต้องมีหลายองค์ประกอบที่ “โดนใจ” หนึ่งในนั้นคือการดีไซน์ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เตะตา ดึงดูดใจ และให้ความรู้สึกดีตั้งแต่แรกเห็น

ในงานเสวนา “เปิดคัมภีร์เจาะกลยุทธ์…ถึงใจคนรุ่นใหญ่” จัดโดย Big Smile World มีผู้มากประสบการณ์แห่งแวดวงโฆษณาอย่าง สมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับโลกและผู้ก่อตั้ง Prompt Design มาบรรยายหัวข้อ “Design is a King…Packaging is a Must !”

สมชนะบอกว่า หลักการการออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าคือ จะต้องสื่อสารได้ชัดเจนว่าเป็นสินค้าสำหรับคนกลุ่มไหน อย่างสินค้าสำหรับเด็กมักจะมีตัวการ์ตูน หรือตัวอักษรที่บอกถึงบุคลิกภาพว่าเป็นสินค้าสำหรับเด็ก สินค้าสำหรับกลุ่มวัยรุ่น บรรจุภัณฑ์จะพูดคุยกับวัยรุ่นด้วยสีฉูดฉาด ด้วยองค์ประกอบที่มีความสนุกสนาน อย่างเช่นตัวอักษรที่เล่น ๆ ไม่เป็นทางการ สินค้าสำหรับผู้ชายวัยทำงาน จะดีไซน์ชัดเจนมากคือ ดูแมน เท่ สมาร์ท ใช้สีที่เรียบและมีความแข็งแรง สินค้าสำหรับผู้หญิงสาว จะมีความน่ารักสดใส ใช้รูปภาพและคู่สีซอฟต์ ๆ เข้ากับจริตจะก้านของผู้หญิง เช่น สีขาว สีชมพู

คำถามคือ ดีไซน์สำหรับคนรุ่นใหญ่หน้าตาเป็นอย่างไร

นักออกแบบมากประสบการณ์บอกว่า สินค้าสำหรับคนรุ่นใหญ่ไม่เหมาะที่จะมีรูปคนแก่ เพราะจะทำให้ผู้ซื้อรู้สึกไม่ดี คนที่ซื้อสินค้าไม่อยากยอมรับว่าตัวเองแก่เหมือนในรูป เขาบอกอีกว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์จะต้องคำนึงถึง 2 ด้าน คือ ด้านกายภาพ และด้านความรู้สึก

ด้วยความที่กายภาพของกลุ่มคนรุ่นใหญ่ทุกอย่างเสื่อมถอยลง ทั้งการรับรสชาติ การทำงานของกล้ามเนื้อ การมองเห็น ฯลฯ ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้องแก้ความเสื่อมถอยเหล่านั้น เช่น ตัวอักษรต้องใหญ่ ภาษาเข้าใจง่าย สีตัวอักษรกับสีพื้นหลังต้องต่างกันชัดเจน ข้อมูลสำหรับคนแพ้อาหารต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน

ส่วนด้านความรู้สึก ถ้าเป็นสินค้าสำหรับคนสูงวัยที่ยังพอเลือกซื้อสินค้าเองได้ ดีไซน์ต้องบ่งบอกไลฟ์สไตล์ มีความย้อนวัยกว่าวัยจริง ต้องสื่อสารบุคลิกภาพของคนที่รู้สึกไม่อยากแก่ แต่ถ้าเป็นสินค้าสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถไปซื้อของเองได้ ต้องมีคนไปซื้อแทน ดีไซน์ต้องสื่อสารชัดเจนว่าโปรดักต์ตอบโจทย์อะไร แก้ปัญหาอะไร เหมาะกับใคร นอกจากนั้น ผู้สูงวัยต้องการความมีระดับ ดังนั้นดีไซน์ต้องมีความพรีเมี่ยมด้วย

นอกจากนั้น สมชนะแชร์ข้อมูลว่า ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นที่ออฟฟิศของเขาเล่าให้ฟังว่า สินค้าสำหรับผู้สูงวัยที่ญี่ปุ่นกำลังเป็นตลาดที่เนื้อหอม เพราะว่าคนวัยกลางคน รวมถึงวัยรุ่นก็อยากใช้สินค้าของคนสูงวัย เพราะสินค้าสำหรับคนสูงวัยเป็นสินค้าที่ดูดีมีระดับ มีความพรีเมี่ยม กลุ่มคนวัยอื่นก็อยากมีความรู้สึก “มีระดับ” แบบนั้นบ้าง ดังนั้นสินค้าสำหรับผู้สูงวัยจึงมีอนาคตอีกไกล