“กัตลัง” หนังที่ “เป็นเอก” บอกว่ามีแสงสว่างเกินกว่าคำวิจารณ์จะทำอะไรได้

ชื่อ “เป็นเอก รัตนเรือง” ยังขายได้เสมอในวงการภาพยนตร์ไทย แม้ว่าหนังของเขาจะทำเงินหรือไม่ แต่เขายังเป็นผู้กำกับที่ค่ายหนัง นายทุน โปรดิวเซอร์ ให้ทุนและเชิญชวนไปทำหนังด้วยเสมอ ๆ รวมถึงแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix เป็นเอกก็เคยได้รับคำเชิญชวนแล้ว

เมื่อต้นปี เขาส่งเรื่อง Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ เข้าฉาย และตอนนี้ เป็นเอกมีผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดเข้าฉายอยู่ ชื่อเรื่อง กัตลัง : ชะตาชีวิตต้องลิขิตเอง หรือ Gatlang : Happiness, hardship and other stories เป็นงานที่เป็นเอกกำกับร่วมกับ ภาสกร ประมูลวงศ์ ที่เคยร่วมงานกันมาในหนังสารคดีการเมืองเรื่อง ประชาธิป’ไทย แต่เรื่องนี้ ภาสกรบอกว่า “ผมปลดระวางอย่างสิ้นเชิง” ปล่อยให้เป็นเอกกำกับเป็นหลัก แม้ว่าตัวเองมีชื่อกำกับร่วม

กัตลัง : ชะตาชีวิตต้องลิขิตเอง เป็นหนังสารคดีเล่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนบนเทือกเขาสูง ณ หมู่บ้านกัตลัง ประเทศเนปาล หลังจากที่เนปาลประสบภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.8 แมกนิจูด เมื่อปี 2558

หมู่บ้านที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ บนเทือกเขาสูง 7,400 ฟิตแห่งนี้้มีอะไรน่าสนใจกว่าหมู่บ้านอื่น?

…ไม่ใช่แค่ผู้เขียนและผู้อ่านที่จะมีคำถามนี้ เพราะนายทุนก็ถามตั้งแต่ตอนที่โปรดิวเซอร์และผู้กำกับไปคุยของบฯ ซึ่ง ณ ตอนนั้น พวกเขาก็ตอบคำถามไม่ได้ แต่เมื่อหนังเสร็จแล้ว เมื่อได้ดูหนังแล้ว คำถามนั้นหายไป

เป็นเอก รัตนเรือง – ภาสกร ประมูลวงศ์

ภาสกร ประมูลวงศ์ โปรดิวเซอร์ ผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์นี้บอกว่า “มันมีเสียงเรียกผมไป” เขาไปกาฐมาณฑุ ตามคำชวนของเพื่อนชาวเยอรมัน จากนั้นมีไอเดียจะทำหนังสารคดี ตอนแรกเลือกหมู่บ้านอื่นไว้ แต่ด้วยความที่ชาวบ้านสร้างบ้านเรือนใหม่จนไม่เหลือเค้าโครงเดิม และหมู่บ้านนั้นมีขนาดใหญ่เกินไปจนไม่รู้จะโฟกัสตรงไหน อีกทั้งเส้นทางขึ้นเขาไปยังหมู่บ้านนั้นก็ยากเกินจะขนอุปกรณ์กองถ่ายขึ้นไปได้ ด้วยหลายเหตุผลจึงสรุปว่าต้องหาหมู่บ้านอื่น เพื่อนคนนั้นจึงแนะนำหมู่บ้าน “กัตลัง” แห่งนี้

ภาสกรชวนเป็นเอกมากำกับหนังเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลส่วนตัวว่า “ผมชอบทำงานกับพี่ต้อม เพราะว่าผมได้ความรู้” และอีกเหตุผลที่ไม่ส่วนตัว คือ “พี่ต้อมสามารถดึงความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ”

ผู้กำกับทั้งสองยอมรับว่า โครงสร้างของหนังที่เขียนกันตอนแรกนั้นหน่อมแน้มมาก เป็นการเล่าในมุมมองของคนกรุงที่ไปเจอสวรรค์ สโลว์ไลฟ์ เรียบง่าย แต่พอทำ ๆ ไป เรื่องราวของผู้คนที่นั่นก็เผยและบอกเล่าความจริงออกมา ทั้งคู่ก็พบว่ามันไม่ใช่สวรรค์อย่างที่คิด เพราะสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น เขาขาดทุกอย่าง

“ไอ้สวรรค์ที่เราคิดว่ามันเป็น ไอ้สโลว์ไลฟ์ ชีวิตความสุขอะไร ที่นั่นเขาไม่ได้มีอย่างที่เราคิด มันไม่ใช่สวรรค์ มันคือนรกสำหรับเขา โชคดีที่เราเปิดเรดาร์ แล้วเรดาร์มันตรวจจับได้ว่า อย่าไปทางนี้เด็ดขาด เราคิดว่าการ turn around ของหนังจากสิ่งที่เราคิดว่ามันหน่อมแน้มมาเป็นแบบนี้ได้ เพราะใจเรามันเปิดฟังชาวบ้าน ถ้าใจเราไม่เปิด เราก็จะไม่ได้ยินสิ่งที่เขาพยายามพูด เราก็จะพยายามตัดต่อหนังด้วยการบิดทุกอย่างให้ลงล็อก ให้เขาพูดแบบเดียวกับที่เราคิด มันก็คือการเปิดใจไว้เพื่อจะฟังจริง ๆ ว่า เขาไม่ได้พูดสิ่งที่เราคิดเลย …เราไปข่มขืนเขาไม่ได้” เป็นเอกว่า

ภาสกรเสริมว่า “เราจะถามให้ตายยังไง เขาก็ตอบแบบนั้น เราจะไปใช้เทคนิคการสัมภาษณ์ยังไงวะให้ได้อย่างที่เราต้องการ มันไม่มีทาง … ชาวบ้านพวกนั้น เขาไม่มีสารพัดเลยครับ ไม่มีเงิน ไม่มีม้า ไม่มีชีวิตที่ดี ไม่มีอะไรเลย แต่เขามีสตอรี่ที่ดีมาก แล้วเขาแชร์อย่างเต็มที่”

“เขามีความบริสุทธิ์ ความเยือกเย็น ใครก็ตามที่ปรากฏตัวในหนัง ไม่มีใครเยอะอ่ะ ไม่มีใครดีใจจนเกินเหตุ และไม่มีใครเสียใจจนเกินเหตุ ทุกคนมีความสงบนิ่ง ซึ่งสำหรับผมมันเป็นแก่นของหนังเลย มันทำให้คนที่นี่มีศักดิ์ศรี ไอ้ความนิ่ง ความสงบอันนี้ เขาไม่ได้มีความสุขนะ อาจจะมีความทุกข์มากกว่าด้วยซ้ำ แต่ว่าไม่มีใครร้องแรกแหกกระเชอกับชีวิต ไม่มีใครเรียกร้องอะไร ทุกคนมีหน้าที่อย่างเดียว คือ survive แบบมีศักดิ์ศรีไปเรื่อย ๆ แล้วผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่มันออกมาเองในหนัง หนังมันให้เราเอง” เป็นเอกเล่าต่อ

นอกจากเปลี่ยนมายาคติของคนเมืองอย่างเขาสองคนที่เคยมองว่า บ้านนอกคือสวรรค์ ชีวิตสโลว์ไลฟ์บนภูเขาคือความโรแมนติก ทั้งคู่บอกอีกว่าการได้เห็นชีวิตของคนหมู่บ้านกัตลังเหมือนผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว และได้เรียนรู้บางอย่าง…

“ความยากลำบากทางร่างกายมันสอนอะไรเราเยอะ การเป็นคนขี้บ่นมันหายไปเยอะ แต่มันไม่ได้เปลี่ยนเราหรอก มันแค่ทำให้มีวัคซีน เราเป็นคนใจร้อนก็ใจร้อนเหมือนเดิม แต่มันรู้ตัวเร็วขึ้นครับ แต่ว่าการเป็นคนมีศักดิ์ศรี เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ รู้เลยว่าคนมีศักดิ์ศรีมันเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน มันจะอยู่ด้วยความนิ่ง คนในหนังเรื่องนี้เขาไม่ได้อยากเป็นคนอื่นเลย เขาเป็นได้แค่ที่เขาเป็น และเขาก็เป็นอย่างที่มันเป็น ซึ่งมันพูดเข้าใจยาก ต้องมาดูหนัง ถ้าทำบุญมาพอ คุณก็จะเก็ตมัน ถ้าทำบุญมาไม่พอ ก็ไม่เก็ตก็ไม่เป็นไร” เป็นเอกจบประเด็นด้วยการหัวเราะ เหอะ ๆ ๆ ๆ อย่างเยือกเย็น

ความยากในการทำหนังเรื่องนี้ เป็นเอกบอกว่าเป็นความยากทางกายภาพซะส่วนใหญ่ อย่าง การเดินทาง ที่ต้องเดินทางขึ้นเขาระยะทางแค่ 100 กว่ากิโลเมตร แต่ต้องไปช้า ๆ ใช้เวลามากถึง 10 ชั่วโมง ส่วนความยากในการทำหนังคือ ตอนที่ไปดูโลเกชั่นยังรู้สึกไม่ค่อยเคลียร์ว่าจะพูดเรื่องอะไร รู้แค่ว่าภาพสวย แต่ไม่รู้จะเล่าอะไร

เรียกว่าความยากหรือเปล่าไม่รู้ หรือมันอาจเป็นธรรมชาติของการทำสารคดีก็ได้นะ บางทีเราก็ต้องปล่อยให้มันค่อย ๆ โชว์ตัวมันขึ้นมาทีละนิด ๆ”

ด้านภาสกรบอกว่า “ลำบากไปหมด ถ้าเราจะคิดถึงความลำบาก” แต่ทั้งสองเห็นตรงกันว่า มันเป็นความลำบากที่คุ้มค่า เพราะว่าผลลัพธ์ที่ออกมา หนังเรื่องนี้ดีเกินกว่าที่ตั้งใจไว้มาก ซึ่งเป็นเอกบอกว่า ได้มาประมาณสามเท่าของที่คาดหวังไว้

ภาสกรบอกว่า โชคดีและเป็นบุญที่หนังไม่ออกมาแบบดราฟต์แรก “ตอนนั้นคิดได้แค่นั้นจริง ๆ เราไม่มีอะไรในชีวิต เราก็จะค้นหาสิ่งนั้น”

แต่ถึงอย่างนั้น… เป็นเอกเชื่อว่าถ้าไม่เจอหนังเวอร์ชั่นนี้ แล้วทำออกมาได้เท่าที่ตั้งใจไว้ ก็ไม่แย่ “ถ้ามันอยู่ในมือเรา เราว่ามันไม่แย่หรอก แต่ว่ามันจะไม่ได้เลเวลนี้ อันนี้เรียกว่ามันพาตัวเองไปอีกขั้นหนึ่งฮะ”

เป็นเอกมองว่าคนที่หมูบ้านกัตลังมีแสงประกายในตัวเอง ซึ่งมันส่งผลให้หนังเรื่องนี้มีแสงประกายด้วย

“ตอนที่ไปคุยกับทรู มันมีคำถามหนึ่ง ซึ่งสร้างความกังวลให้เรามาก เพราะเราตอบไม่ได้ เขาถามว่าทำไมต้องให้เงินทำสารคดีหมู่บ้านนี้ ทำไมพี่ไม่ไปทำหมู่บ้านชาวประมงภาคใต้ หรือแม่ฮ่องสอน แล้วผมตอบไม่ได้ เพราะผมไม่รู้ว่าทำไม คนเขาจะควักเงินให้เราทำหนังเป็นล้าน เราจะบอกเขาว่า “มันมีเสียงเรียกจากที่นี่” มันไม่ได้ ระหว่างที่ทำมันมีอะไรอยู่ในหัวตลอดเวลา เครียด แต่พอหนังเสร็จแล้ว รู้เลยว่าไม่มีที่ไหนได้แบบนี้ พอให้คุณบอยดู (บอย-อรรถพล ณ บางช้าง ผู้บริหารทรูวิชั่นส์) คำถามนี้ไม่มีเลยครับ โดยที่ไม่ต้องตอบ ต่อให้หนังเสร็จแล้ว ก็สรุปเป็นคำตอบไม่ได้ สำหรับเรามันถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี”

ผู้กำกับชื่อดังพอใจผลงานเรื่องนี้มากและมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรทำให้ความพอใจของเขาลดลงไป

“หลังจากที่เราได้เห็นหนังเสร็จแล้ว เรารู้สึกว่ามันคอนเน็กต์กับเรามาก เราได้มากกว่าที่เราตั้งใจจะไปทำ มันมีความสว่างในตัว มันมีแสงที่จะไม่มีใครดับมันได้ จะไม่มีรีวิวแย่มาดับมัน ไม่มีทาง เพราะในตัวมัน illuminate มาก และมันไม่ใช่ของทุกคน คนที่ไม่มีบุญจะไม่เห็นแสงนี้ในหนังเรื่องนี้” เป็นเอก รัตนเรืองกล่าว

นอกจากความพอใจของสองผู้กำกับแล้ว หนังสารคดีเรื่องนี้ยังไปโดนใจคณะกรรมการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกาฐมัณฑุ หรือ Kathmandu International Mountain Film Festival (KIMFF) ให้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย

แค่ฟังผู้กำกับทั้งสองคนเล่าก็รู้สึกได้ถึงแสงและแรงดึงดูดให้อยากเข้าโรงหนังไปสัมผัสและปะทะกับเรื่องราวของชาวกัตลังมากจริงๆ 

ถ้าใครรู้สึกถึงแรงดึงดูดนี้เหมือนกัน สามารถไปชมได้ในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ (ฉายเฉพาะบางสาขาเท่านั้น โปรดเช็กที่เมเจอร์อีกที)