สำรวจเรื่องราวราชวงศ์อังกฤษ อะไรจริง อะไรแต่ง ในซีรีส์ THE CROWN

The Crown ซีรีส์ว่าด้วยเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษ ซีรีส์เรื่องดังของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่สร้างกระแสในทำนองการซุบซิบเรื่องฉาวของคนดังมาก่อนหน้านี้ 2 ซีซั่น ได้ปล่อยซีซั่นที่ 3 ออกมาให้ชมกันราว 1 เดือนแล้ว หลังจากปล่อยให้แฟน ๆ รอคอยมา 2 ปีเต็ม

การกลับมาครั้งนี้ของ The Crown ยิ่งสร้างประเด็นซุบซิบกันหนักกว่า 2 ซีซั่นแรก เพราะซีซั่นนี้นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1956-1977 เป็นการขยับเข้ามาใกล้ปัจจุบัน ซึ่งหลาย ๆ เรื่องเป็นเรื่องฉาวที่คนเคยสนใจข่าวเหตุการณ์จริงมาก่อนอยู่แล้ว

ขณะที่แก่นเรื่องราวหลักของเรื่องเป็นเรื่องของราชวงศ์ ฉากหลังที่ดำเนินไปควบคู่กัน คือ การที่อังกฤษอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น

สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้เมื่อคนดูดูหนัง-ละครที่เล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ หรือชีวประวัติบุคคล คือ คนดูมักจะเชื่อหรือคล้อยตามไปว่าเรื่องราวในหนัง-ละครเป็นเรื่องจริง คนดูบางคนดูแล้วอาจจะตรวจสอบเปรียบเทียบเรื่องราวในหนังกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าหนังนำเสนอตามข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน แต่คนดูที่ไม่ได้หาข้อมูลต่อและเชื่อไปเลยก็มีเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ โรแลนด์ เอมเมอริช (Roland Emmerich)ผู้กำกับหนัง MIDWAY ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สงครามโลก ครั้งที่ 2 กล่าวไว้ว่า “ทุกวันนี้คนต้องการความแม่นยำ ต้องการให้เล่าเรื่องราวออกมาตามจริง หนังประวัติศาสตร์บางเรื่องถูกใช้เป็นสื่อการสอน มันเลยเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องไม่ใส่อะไรที่ผิดที่ผิดทาง หรือไม่เป็นความจริงลงไป”

แต่ดูเหมือนว่า ทีมงานสร้างสรรค์ The Crown ไม่ได้ยึดหลัก “ความรับผิดชอบ” แบบเดียวกันนี้ เพราะรายละเอียดของเรื่องราวมากมายในซีรีส์ล้วนแต่แต่งขึ้นมา ซึ่งแม้แต่ โรเบิร์ต เลซีย์ (Robert Lacey) ผู้เขียนหนังสือ The Crown และที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ของซีรีส์ก็ยังเฉลยเองว่า หลายอย่างที่เกิดขึ้นในซีรีส์นั้นเป็นเรื่องแต่ง

ตรงกันกับที่ ฮูโก้ วิกเกอร์ส (Hugo Vickers) นักประวัติศาสตร์และนักเขียนหนังสือชีวประวัติราชวงศ์ให้สัมภาษณ์กับ Daily Express ว่า มีหลายอย่างในซีรีส์เรื่องนี้ที่ไม่ตรงกับความจริงที่เกิดขึ้น แต่เป็นการเอาเค้าโครงความจริงบางส่วนมาบิดและเติมแต่ง อย่างไรก็ตาม วิกเกอร์สไม่ได้ต้านซีรีส์เรื่องนี้ แต่เขายังบอกว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าดู และคนดูจะเพลิดเพลินกับมันด้วยหลาย ๆ องค์ประกอบ

สำหรับใครที่ชมซีรีส์เรื่องนี้แล้ว เรามาเช็กข้อมูลจากเหล่านักประวัติศาสตร์ราชวงศ์ว่า อะไรจริงแค่ไหน อะไรแต่งเติมแค่ไหน แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้ชม ขอแนะนำว่าควรไปชมก่อน เพราะเนื้อหาต่อจากนี้จะเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในซีรีส์ แต่ถ้าใครไม่ซีเรียสเรื่องโดนสปอยล์ก็อ่านต่อกันได้เลย

เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตไม่เคยขอตำแหน่งรัชทายาท

ซีรีส์นำเสนอว่า ในตอนเด็กเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตบอกกับเจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธว่า อยากเป็นพระราชินี และลงตัวกับที่พี่สาวก็คิดว่าตัวเองคงทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เจ้าฟ้าหญิงจึงไปคุยกับราชเลขาธิการในพระองค์ของพระบิดาว่า ขอให้พระองค์เองเป็นรัชทายาทแทน แต่ได้รับคำปฏิเสธ

แม้จะเป็นความจริงว่า เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตปรารถนาอยากอยู่ในตำแหน่งสำคัญ แต่เนื้อเรื่องจุดที่ว่าเคยขอตำแหน่งรัชทายาทนั้น เลซีย์ บอกกับ PEOPLE ว่า เป็นการแต่งขึ้น โดยจินตนาการจากสถานการณ์โดยนัยและความตึงเครียดระหว่างเจ้าหญิงทั้งสอง

บทบาทของเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตขณะเยือนอเมริกา เป็นเรื่องแต่งเกินจริง

ขณะที่เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา พระองค์เล่นโต้กลอนสดชนะประธานาธิบดีจอห์นสันของสหรัฐ และสร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก ทำให้สหรัฐยอมให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่อังกฤษ เปลี่ยนจากก่อนหน้านั้นที่ยืนกรานจะไม่ช่วยเหลือ

…นั่นคือสิ่งที่ซีรีส์นำเสนอ ซึ่งตรงกับความจริงที่เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตได้รับการตอบรับอย่างดี และอเมริกาให้อังกฤษกู้เงินจริง แต่เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตมีบทบาทมากแค่ไหน?

เลซีย์บอกว่า บทบาทของมาร์กาเร็ตในซีรีส์นั้นเกินจริง ตรงกับที่ฮูโก้ วิกเกอร์ส บอกกับ Daily Express ในประเด็นนี้ว่า “เป็นเรื่องไร้สาระ”

จดหมายปริ๊นซ์ชาร์ลสกับคิงเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ไม่มีจริง

ซีรีส์เผยให้เห็นว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลสได้ใกล้ชิดกับดยุกแห่งวินด์เซอร์ หรือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ในช่วงบั้นปลายชีวิต และแสดงให้เห็นว่าทั้งสองมีความผูกพันกันมากทั้งในฐานะตากับหลาน และในฐานะคนหัวอกเดียวกัน มีการเขียนจดหมายตอบกันไปมาหลายฉบับ และมีการเปิดเผยเนื้อหาจดหมายที่น่าเห็นใจเกี่ยวกับความรักที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลสมีต่อคามิลล่า หญิงสาวที่ราชวงศ์ไม่ปลื้ม

ตามคำบอกเล่าของวิกเกอร์ส ทั้งสองไม่มีการส่งจดหมายหากัน วิกเกอร์สยกไทม์ไลน์ขึ้นมาอธิบายว่า ดยุกแห่งวินด์เซอร์สิ้นพระชนม์ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1972 แต่เจ้าฟ้าชายชาร์ลสกับคามิลล่าเพิ่งจะเริ่มใกล้ชิดกันในช่วงปลายปีนั้น ซึ่งหมายความว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลสไม่มีโอกาสได้คุยเรื่องคามิลล่ากับดยุกแห่งวินด์เซอร์แน่นอน

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 มีความสัมพันธ์กับผู้จัดการม้าแข่งของพระองค์?

ซีรีส์บอกใบ้ชวนคิดว่า ควีนเอลิซาเบธที่ 2 มีความสัมพันธ์กับลอร์ดพอร์เชสเตอร์ ผู้จัดการม้าแข่งส่วนพระองค์ระหว่างเดินทางไปเยี่ยมชมคอกม้าที่ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา แต่วิกเกอร์สบอกว่า ไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ในความเป็นจริงทั้งสองไม่ได้ไปด้วยกันแค่สองคน แต่เป็นการเดินทางหลาย ๆ คน มีเลดี้พอร์เชสเตอร์หรือบางทริปก็มีเจ้าชายฟิลิป พระสวามี เดินทางไปด้วย

รักสี่เส้า เจ้าฟ้าหญิงแอน-แอนดรูว-คามิลล่า-เจ้าฟ้าชายชาร์ลส?

ในซีรีส์บอกว่าเกิดความรักสี่เส้าในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างเจ้าฟ้าหญิงแอนกับแอนดรูว ปาร์กเกอร์ โบวลส์ ซึ่งคบหากับคามิลล่าอยู่ก่อน แล้วคามิลล่าก็มามีความสัมพันธ์กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลสอีกคน

บรรดานักเขียนหนังสือราชวงศ์ไม่ปฏิเสธเรื่องที่เจ้าฟ้าหญิงแอนเคยเดตกับแอนดรูว แต่ระดับความสัมพันธ์จริงจังแค่ไหนนั้นไม่ชัดเจน หลายคนแสดงความเห็นตรงกันว่า มีเหตุผลง่าย ๆ ที่ความสัมพันธ์ของเจ้าฟ้าหญิงแอนกับแอนดรูวไม่สามารถจริงจังได้ เพราะแอนดรูวเป็นชาวคาทอลิก ขณะที่คนในราชวงศ์ไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานกับคนต่างศาสนา

ส่วนเรื่องเวลาจะตรงกันจนถึงขั้นเรียกว่า “รักสี่เส้า” หรือไม่นั้น แซลลี่ บีเดลล์ สมิธ (Sally Bedell Smith) นักเขียนหนังสือราชวงศ์บอกว่า ไม่มีหลักฐานว่าความสัมพันธ์สี่เส้าเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เท่าที่ทราบคือเจ้าฟ้าหญิงแอนกับแอนดรูวเดตกันตั้งแต่ปี 1970 ส่วนคามิลล่ากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลสเพิ่งเจอกันในปี 1972 จึงอาจจะเป็นแค่รักสามเส้าในช่วงที่ยังไม่มีเจ้าฟ้าชายชาร์ลสเข้ามาเกี่ยวข้อง