“ขนมไหว้พระจันทร์” สัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคล แฝงความหมายกลมเกลียว

วันไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนเกิดขึ้นในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 24 กันยายน 2561

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ชาวจีนจะฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน บางประเทศ เช่น ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน

นอกจากเทศกาลไหว้พระจันทร์ของทุกปี ทุกบ้านจะซื้อ “ขนมไหว้พระจันทร์” มาไหว้พระจันทร์ พร้อมกับการชมพระจันทร์จนกลายเป็นประเพณีของจีนตลอดมา

ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นขนมที่มีต้นตำรับมาจากประเทศจีน เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคล ความปรารถนาดี และความสามัคคี  ขนมไหว้พระจันทร์ของจีนดั้งเดิมมีส่วนประกอบหลักๆอย่าง ถั่วแดง ถั่วจีน 5 ชนิด  เม็ดบัว เป็นต้น ในประเทศไทยก็มีส่วนประกอบที่แตกต่างออกไป เช่น การนำผลไม้ที่เป็นที่นิยมอย่างทุเรียนมากวนแล้วทำเป็นไส้ขนม หรือใส่วัตถุดิบอื่นๆ เช่น ไข่แดงเค็ม และเมล็ดแตงโม  และในปัจจุบันก็มีภัตตาคารร้านอาหารจีนมากมายที่คิดค้นและพัฒนาสูตรของไส้รูปแบบใหม่ หลากหลายรสชาติ วันนี้เราจะพาไปรู้จักความหมายของแต่ละไส้ยอดนิยมของขนมไหว้พระจันทร์ก่อนเลือกซื้อไปฝากญาติผู้ใหญ่กัน

ส่วนประกอบพื้นฐานของขนมไหว้พระจันทร์ คือ เนื้อแป้งที่เป็นเปลือกขนมซึ่งด้านบนจะปั้มลวดลายสวยงาม ส่วนไข่แดงเค็ม ที่อยู่ตรงกลาง ใช้สื่อความหมายถึงพระจันทร์

เม็ดบัว เป็นไส้ตำรับดั้งเดิมที่ถือว่าได้อารมณ์ของความเป็นขนมไหว้พระจันทร์มากที่สุด เม็ดบัวนี้ได้มาจากดอกบัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจิตใจบริสุทธิ อายุที่ยืนยาว เกียรติยศ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสงบสุข

ไส้โหงวยิ้ง คือ 1 ในไส้ยอดนิยมของขนมไหว้พระจันทร์ โหงวยิ้ง หมายถึงธัญพืช 5 ชนิด โดยมักจะใช้ถั่วและธัญพืชที่มีความหมายมงคล เช่น  เมล็ดแอลมอนด์, เมล็ดวอลนัท, เมล็ดม่วงหิมพานต์,เมล็ดมะกอก, เมล็ดแตงโม,งาขาว , แฮมยูนนาน, รากบัว, ใบมะกรูด เป็นต้น

เกาลัด คนจีนนิยมรับประทานเกาลัดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเกาลัดหมายถึง “ลูกชาย” และ “สิ่งอันเป็นที่รัก” ถือเป็นของมงคล โดยชาวจีนจะปลูกเกาลัดไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงนำไปใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาด้วย

ลูกพลัม คือ สัญลักษณ์ของความกล้าหาญและความหวัง ดุจดังดอกพลัมที่ชูช่อในฤดูหนาว ทั้งยังหมายถึงการเริ่มต้นตามปฏิทินจันทรคติ

บัวหิมะ เป็นขนมไหว้พระจันทร์อีกตำรับหนึ่งที่เป็นที่นิยมในช่วงค.ศ.1990 ได้ชื่อตามรูปร่างหน้าตาที่ดูอ่อนหวานนุ่มนวล บัวหิมะจะมีรสชาติหวานกว่าขนมไหว้พระจันทร์ตำรับดั้งเดิม ใช้การนึ่งและแช่เย็นแทนการอบ