ECMO นวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย หัวใจ และปอด เมื่อเข้าขั้นวิกฤต

ผู้ป่วย

ECMO คือเครื่องมือที่ใช้ทดแทนการทำงานของปอดและหัวใจที่ทำงานผิดปกติ จนไม่สามารถประคับประคองด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจ โดยเครื่อง ECMO จะทำการช่วยเหลือผู้ป่วยไปจนกระทั่งผู้ป่วยผ่านพ้นภาวะวิกฤตและการบาดเจ็บรุนแรง 

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยว่า Extracorporeal membrane oxygenation (ECMO) หรือ extra corporeal membrane life support (ECLS) คือ เครื่องมือที่ใช้ทดแทนการทำงานของปอดและหัวใจที่ทำงานผิดปกติ จนไม่สามารถประคับประคองด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจ เพื่อรอให้หัวใจและปอดได้รับการรักษาจนกระทั่งกลับมาทำงานเป็นปกติ

โดยเครื่องจะทำหน้าที่ปั๊มเลือดทดแทนการบีบตัวของหัวใจร่วมกับทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนทดแทนปอด คือจะนำเลือดออกจากตัวของผู้ป่วยมาผ่านเครื่องปั๊ม (ทำหน้าที่แทนหัวใจ) แล้วนำไปฟอกผ่านปอดเทียม เติมออกซิเจน และนำคาร์บอนไดออกไซด์ออก (ทดแทนปอด) ก่อนนำเลือดดีกลับเข้าสู่ร่างกาย

โดยอาศัยหลักการเดียวกับเครื่องหัวใจและปอดเทียม (cardiopulmonary bypass machine) โดยแพทย์จะสอดใส่ท่อ cannula เข้าบริเวณหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่บริเวณขาหรือคอ

ข้อบ่งชี้ของการใช้เครื่อง ECMO

  1. ผู้ป่วยที่ต้องการการช่วยเหลือเฉพาะระบบการหายใจอย่างเดียว
  2. ผู้ป่วยที่ต้องการการช่วยเหลือทั้งระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจโดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรงมาก
  3. การช่วยเหลือขณะทำปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (cardiopulmonary resuscitation: CPR)

ภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อใช้เครื่อง ECMO

  1. มีโอกาสเกิดเลือดออก เนื่องจากการให้ยาเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัวในท่อทางเดินเลือด
  2. มีการติดเชื้อบริเวณแผลที่ทำการใส่ท่อทางเดินเลือด
  3. ปัญหาเกี่ยวกับการให้เลือด ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่ได้รับเลือดจากเครื่อง ECMO
  4. เกิดลิ่มเลือดหรือฟองอากาศในท่อทางเดินเลือด ในช่องหัวใจ หรือในปอดเทียม
  5. เพิ่มโอกาสการเกิด stroke ถ้ามีลิ่มเลือดในหัวใจช่องซ้าย
  6. ในผู้ป่วยที่ใส่ ECMO อาจพบภาวะไตทำงานบกพร่องร่วมด้วย
  7. ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดเลือดไปเลี้ยงบริเวณขาไม่เพียงพอจนทำให้เกิดภาวะขาดเลือด ซึ่งแพทย์ป้องกันได้โดยการใส่สายนำเลือดเล็กๆ ส่งเลือดไปขาข้างนั้น (distal perfusion)

เมื่อไหร่จึงหยุดใช้เครื่อง ECMO ได้

เครื่อง ECMO จะทำการช่วยเหลือผู้ป่วยไปจนกระทั่งผู้ป่วยผ่านพ้นภาวะวิกฤตและการบาดเจ็บรุนแรง ถ้าอาการต่าง ๆ ดีขึ้น แพทย์จะค่อย ๆ ลดการช่วยเหลือโดยเครื่อง ECMO ลงทีละน้อย ๆ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหรืออาการคงที่ อาจพิจารณาถอดท่อทางเดินเลือดและงดการใช้เครื่องในที่สุด และเปลี่ยนเป็นการใช้เครื่องช่วยหายใจแทน

คำแนะนำเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

โดยปกติจะไม่แนะนำให้ทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรใช้เครื่อง ECMO transport

ความสำเร็จจากการใช้เครื่อง ECMO

ผลการรักษาขึ้นอยู่กับความเร็วในการตัดสินใจใช้เครื่อง ECMO ข้อมูลจาก Extracorporeal Life Support Organization (ELSO) พบว่า
ECMO สำหรับหัวใจ รอดชีวิตร้อยละ 50
ECMO สำหรับระบบหายใจ รอดชีวิตร้อยละ 60
Extracorporeal cardiopulmonary resuscitation (ECPR) รอดชีวิตร้อยละ 30

หากไม่ใช้เครื่อง ECMO จะเกิดอะไรขึ้น

ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะสมองตายเนื่องจากขาดออกซิเจน และอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากหัวใจและปอดไม่ทำงาน