“ผัก นม ไข่ ลูกหลานโตสมวัยไม่อ้วนเตี้ย”

โดย แพทย์หญิงนภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข   

ในยุคสมัยที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการบริโภคอาหาร จนทำให้เกิดภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนที่จำเป็นต้องมีภาวะโภชนาการที่สมดุลเพื่อให้เติบโตได้สมวัย ดังนั้นการได้รับอาหารที่เพียงพอและมีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจละเลย

เรื่องอาหารและโภชนาการในระดับสากลนั้น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันอาหารโลก เพื่อกระตุ้นให้นานาประเทศเห็นความสำคัญ เรื่องอาหาร-การพัฒนา-การร่วมกันต่อสู้กับความอดอยาก หิวโหย ทุพโภชนาการ และความยากจน ล่าสุดในปี 2557 FAO และ WTO ได้ร่างปฏิญญาสากลขึ้น ซึ่งทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของ UN จะต้องเข้ามารับรองว่า ถึงแม้ขณะนี้จะมีปัญหาเรื่องโภชนาการด้านขาด ยังมีปัญหาการกินอย่างไม่เหมาะสม ทำให้มีภาวะโภชนาการเกิน ต้องมีการประกาศเพื่อยุติปัญหาด้านโภชนาการทั้งขาดและเกินในทุกรูปแบบ ซึ่งในกระแสโลกเวลานี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ทุกๆประเทศต้องใส่ใจดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อขจัดปัญหานี้ให้หมดไป

 

สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยมีหน้าที่ส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด ด้วยการวางเป้าหมายการดูแลคนไทยตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ หรือที่บางคนเรียกว่า “ตั้งแต่เชิงกรานไปจนถึงเชิงตะกอน” โดยเน้นเรื่องส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัย ซึ่งรวมถึงโภชนาการเป็นสำคัญเพราะถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตที่ถูกต้องและเหมาะสม หากแม่อุ้มท้องได้รับโภชนาการที่ดีตั้งแต่เตรียมตัวก่อนอุ้มท้อง ตลอดการอุ้มท้อง จะทำให้เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักแรกเกิดเหมาะสมตลอดจนพัฒนาการที่ดี และพร้อมที่จะได้รับอาหารที่เหมาะสม นับตั้งแต่นมแม่ อาหารตามวัย รวมไปถึงเมื่อเข้าสู่วัยเรียนการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพด้านโภชนาการเหมาะสมในโรงเรียน และเมื่อเข้าสู่วัยทำงานสามารถเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ปริมาณเหมาะสมได้ เป็นประชากรไทยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้รัฐบาลเห็นความสำคัญจัดตั้งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านอาหาร 4 ด้านได้แก่ ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ คุณภาพอาหาร ความปลอดภัยอาหารและอาหารศึกษา ซึ่งมีการจัดทำ พรบ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เพื่อเชื่อมโยงการทำงาน 11 กระทรวง 30 กว่าหน่วยงาน มีเป้าหมายให้ประชาชนในประเทศเข้าถึงอาหารทีมีอย่างเพียงพอ อาหารมีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะสมตามวัย เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลตั้งแต่ปี 2535 จะเห็นว่าเด็กๆในสมัยนั้นต่างหิ้วปิ่นโตข้าวไปโรงเรียน การสำรวจพบว่าเด็กนักเรียนในยุคนั้นมีภาวะทุพโภชนาการด้านขาด คือมีลักษณะผอมและเตี้ยมาก รัฐบาลจึงมีนโยบายที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติว่า เด็กนักเรียนโดยเฉพาะระดับประถมศึกษาจะต้องได้รับอาหารกลางวันที่เหมาะสม โดยรัฐบาลตั้งงบประมาณให้เป็นรายปี เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนที่อยู่ในชั้นประถมศึกษาจะต้องได้รับอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดให้ แรกเริ่มได้แค่ 6 บาทต่อคนต่อวัน ต่อมาปรับเป็น 13 บาทต่อคนต่อวัน และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2556 มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 20 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเงินจำนวนนี้รวมค่าการจัดการต่างๆไว้แล้ว จากการคำนวณพบว่าเด็กจะได้รับอาหารที่เพียงพอและเหมาะสม

เรื่องของคุณค่าอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากจะแก้ปัญหาอาหารที่เด็กได้รับยังไม่เพียงพอ โดยให้มองในเรื่องของวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและมีประโยชน์ อย่างเช่น ไข่ไก่ โดยคณะกรรมการสำรวจและประเมินผลโครงการอาหารกลางวันนักเรียนที่รัฐบาลให้การสนับสนุน สรุปว่าควรส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้ทานไข่ สัปดาห์ละ 3 ฟองที่โรงเรียน เพราะผลจากการประเมินพบบางโรงเรียนจัดเมนูไข่น้อยเกินไป ครั้งละไม่ถึง 1 ฟอง สัปดาห์ละไม่ถึง 2 วัน ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อยากสนับสนุนให้ “เด็กทุกวัย กินไข่ทุกวัน วันละหนึ่งฟอง” โดยโรงเรียนควรใช้เงินในโครงการอาหารกลางวัน ให้เด็กนักเรียนทานไข่ที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 3 ฟอง รวมไปถึงคุณพ่อ คุณแม่ก็ต้องให้เด็กทานไข่อีก 4 ฟองต่อสัปดาห์ที่บ้านด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าเด็กนักเรียนไทย ขาดแคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินเอ และหากดูข้อมูลจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็พบว่าเด็กนักเรียนได้รับอาหารไม่เพียงพอเช่นกัน ซึ่งไข่เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย และมีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีมีคุณภาพ และยังเป็นแหล่งของวิตามินเอ วิตามินบีต่างๆ แคลเซียม ธาตุเหล็ก โฟเลท และไอโอดีนด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการอาหารสัตว์ของไทย ทำสูตรอาหารที่มีไอโอดีนให้ไก่กินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จึงอยากฝากถึงผู้ใหญ่ใจดีให้มาช่วยกันสร้างสุขภาพเด็กไทยให้เติบโตสมวัย โดยเฉพาะท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นคนถืองบประมาณโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ควรจัดสรรงบให้โรงเรียนโดยไม่ล่าช้า เพื่อใช้จัดการอาหารกลางวันได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งควรมีไข่ไก่ 3 ฟองต่อสัปดาห์ เพื่อให้เด็กแข็งแรงได้รับสารอาหารเพียงพอ ส่วนกรมปศุสัตว์ควรดูแลเกษตรกรให้สามารถผลิตไข่ไก่ปลอดภัยเข้าสู่โรงเรียน และกระทรวงพาณิชย์ ต้องดูแลเรื่องราคาและการกระจายไข่ไก่ไปได้ทั่วถึงทุกพื้นที่

เรื่องไข่นี้ยังมีประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับคอเรสเตอรอลในไข่ ซึ่งสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ร่วมกับสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ตั้งคณะกรรมการไขข้อข้องใจด้านอาหารและโภชนาการขึ้น พิจารณาประเด็นคำถามยอดฮิต 8 กลุ่มรวมถึงเรื่องไข่ด้วย โดยคณะกรรมการประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งที่เป็น แพทย์ นักโภชนาการ ที่มีประสบการณ์ทั้งกับคนไข้ การให้คำแนะนำ รวมถึงงานวิจัยต่างประเทศ โดยสรุปได้ว่า “สามารถกินไข่ได้ทุกวัน กินได้ทุกวัย ตั้งแต่ ทารก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ รวมไปถึงผู้สูงอายุ” ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง จะต้องจำกัดให้กิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ ร่วมกับการจำกัดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงด้วย

นอกจากไข่แล้ว อาหารที่จำเป็นต่อเด็กก็คือ นม ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนและแคลเซียมที่ดีมาก ถ้าเปรียบเทียบกับนมถั่วเหลืองแม้จะมีโปรตีน แต่แคลเซียมในนมถั่วเหลืองมีน้อย เพราะหายไปกับกาก สำหรับคนที่แพ้นมวัวสามารถดื่มนมถั่วเหลืองแทน แล้วทานอาหารให้ได้แคลเซียมเพิ่มเติมจากแหล่งอาหารอื่น เช่น เต้าหู้แข็ง ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียวเข้ม เช่นผักคะน้า เป็นต้น ดีกว่าการได้รับ แคลเซี่ยมในรูปแบบยาซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ ที่ดูดซึมได้ไม่ดี และจะตกตะกอนอยู่ในลำไส้ ขับออกมาทางอุจจาระ และอีกสูตรเด็ดที่อยากแนะนำ คือ สูตรกล้วยน้ำว้า 1 ใบ ไข่ 1 ฟอง นม 1 กล่อง สำหรับเด็กที่หย่านมแม่แล้ว ควรดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว เพราะถ้ามากเกินไปจะทำให้เด็กไม่อยากทานข้าว ทำให้ได้รับอาหารและมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม

สุดท้ายขอแนะนำสูตรเด็ดของการมีสุขภาพดี โดยการ “ลดหวาน มัน เค็ม เติมผักและผลไม้” ด้วยหลัก 6:6:1 โดยแต่ละวันควรบริโภค น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา เพียงทำตามคำแนะนำทั้งหมดนี้ สุขภาพที่ดีก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากอย่างแน่นอน