อาการปวดข้อ บ่งชี้ 4 โรค ที่คนวัยทำงานต้องตื่นตัว

คนในสังคมไทยกำลังประสบกับปัญหาโรคกระดูกและข้อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงาน ปัญหาที่พบมักจะเป็นอาการของการเจ็บปวดตามข้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อเท้าข้อเข่า หรือข้อสะโพกที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมหรือความสึกหรอของข้อในร่างกาย ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดที่เกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้นหรือบาดเจ็บจากการใช้งานเท่านั้น 

เมื่อมีปัญหาเจ็บปวด คนส่วนมากจะใช้วิธีรักษาด้วยตัวเองเช่น การกินยาบรรเทาอาการปวด หรือพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เจ็บปวด โดยผลที่ได้รับคืออาการปวดข้อต่าง ๆ หายไป แต่จะช่วยได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดข้อเหล่านี้อาจจะกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงอาจจะเป็นสาเหตุที่นำพาไปสู่โรคร้ายต่าง ๆ ได้

นพ.สุรราชย์ ธำรงลักษณ์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า อาการปวดตามข้อคือหนึ่งในลักษณะอาการที่บ่งบอกได้หลายโรค ปัจจุบันโรคข้อที่เป็นภัยคุกคามกลุ่มคนวัยทำงานมีด้วยกันหลัก ๆ 4 โรค ได้แก่

1.โรครูมาตอยด์ เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานอย่างหนึ่ง พบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ของประชากรในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางระบบภูมิต้านทานที่มีการทำลายและกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อต่อต่าง ๆ ส่งผลทำให้เกิดอาการปวด บวม และเคลื่อนไหวข้อลำบาก อาการเริ่มแรกจะเป็นแค่อาการปวดทั่วไป แต่ถ้าปล่อยไว้นานอาการอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นกระดูกถูกทำลายและผิดรูปได้ อาการปวดข้อมักจะมีโอกาสเกิดมากที่สุดในช่วงตอนตื่นนอน โดยอาการปวดอาจจะมีอยู่ 1-2 ชั่วโมง แล้วหายปวดหรืออาจจะปวดทั้งวันก็ได้

นอกจากนั้น อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ ๆ ตาแห้ง ปากแห้งผิดปกติ หรือพบก้อนใต้ผิวหนังบริเวณข้อศอกและข้อนิ้วมือ

การรักษาระยะแรกอาจจะมีความลำบากในการวินิจฉัย เนื่องจากการดำเนินของโรคมักเป็นไปอย่างช้า ๆ จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคเป็นผู้วินิจฉัย แต่จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในระยะหลังทำให้เกิดความเข้าใจถึงตัวแปรต่าง ๆ ในกระบวนการอักเสบมากขึ้น จนมีการค้นพบตัวยาใหม่ ๆ ที่จะยับยั้งกระบวนการอักเสบ และลดการทำลายของข้อได้ ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว จะสามารถยับยั้งการทำลายของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อได้

2.โรคเกาต์ เป็นโรคที่เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดมากเกินไป (hyperuricemia) ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากการรับประทานอาหารจำพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ เป็นต้น โดยปกติกรดยูริกจะสามารถขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะได้ แต่ในกรณีของบางคนร่างกายไม่สามารถขับกรดยูริกออกได้หมด จึงเกิดกรดยูริกสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดการตกผลึกของกรดยูริก ซึ่งกรดยูริกที่ตกผลึกจะเข้าไปกระตุ้นกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบและบวมปวดบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ในกรณีร้ายแรงอาจจะทำให้กระดูกถูกกัดกร่อนได้ รวมถึงอาจจะทำให้เกิดโรคข้างเคียงตามมาด้วย เช่น โรคเบาหวาน ไขมัน และความดัน

การรักษาหลัก ๆ คือ การควบคุมอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริก รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับแรงกดกระแทกตามร่างกายที่ไม่จำเป็น เช่น จากการกระโดด และควรหลีกเลี่ยงความร้อนด้วย เนื่องจากธรรมชาติของเกาต์ไม่ถูกกับความร้อน แต่ในกรณีที่เกาต์เกิดอักเสบขึ้นมาต้องรีบประคบเย็นทันที โดยประคบ 3-4 รอบต่อวันครั้งละ 15 นาที ใน 3-4 วันแรก แต่หากเกาต์มีอาการร้ายแรงอาจจะต้องมีการใช้ยาควบคุมอาการเกาต์โดยตรง หรือยาควบคุมระดับกรดยูริก

3.โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematous : SLE)หรือโรคพุ่มพวง คือ โรคเรื้อรังที่เกิดจากภูมิต้านทานทำร้ายตนเอง ซึ่งทำให้มีผลกระทบกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายโดยเฉพาะผิวหนัง ข้อ ระบบเลือด ไต และระบบประสาทส่วนกลาง พบมากในเพศหญิงโดยปกติภูมิคุ้มกันในร่างกายจะต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย หรือไวรัสจากภายนอกร่างกาย แต่ผู้ที่เป็นโรคเอสแอลอี ภูมิคุ้มกันกลับต่อต้านร่างกายของตัวเองแทน จนทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ ถ้าเป็นรุนแรงจะมีการทำลายอวัยวะภายในด้วย และถ้าเป็นถึงขั้นร้ายแรงอาจจะทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุหลัก ๆ เกิดมาจากพันธุกรรม, การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย, ฮอร์โมนเพศ (โดยเฉพาะเอสโตรเจน) และแสงแดด-สารเคมี โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ผื่นขึ้นที่ใบหน้า (รูปคล้ายผีเสื้อ) เกิดแผลในปาก ผมร่วง ปวดข้อมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด เป็นต้น

ปัจจุบันโรคเอสแอลอียังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบได้หากรักษาทันท่วงที การรักษา คือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง, งดอาหารเสริม, งดการใช้สารเคมี เช่น การย้อมสีผม, รักษาด้วยยา, รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ต่าง ๆ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง

4.โรคข้อเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อนของข้อเข่าหรือผิวข้อสึกกร่อน เป็นผลให้ข้อต่อเสียดสีกันจนเกิดการอักเสบ ปวด บวม เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในกลุ่มคนวัย 40 ปีขึ้นไป

โรคนี้เกิดจกความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น, น้ำหนักตัวที่ข้อจะต้องรองรับน้ำหนักมาก, กรรมพันธุ์, การเคลื่อนไหวเช่น การนั่งยอง ๆ กับพื้นนาน ๆ หรือการผุดลุกผุดนั่งบ่อย ๆ รวมถึงโรคประจำตัว เช่น โรครูมาตอยด์อาการของโรคข้อเสื่อม จะมีอาการปวดข้อแบบตื้อ ๆ มักเกิดตอนเช้าตรู่หรือตอนเย็น เกิดภายหลังจากการใช้ข้อ หรือสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว หรือบางคนมีอาการปวดตลอดเวลา มีอาการตึงขัดของข้อ ข้อบวม ข้อผิดรูป กำมือลำบาก เดินลำบาก

ทั้งนี้สามารถลดความเสี่ยง 4 โรคนี้ได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และที่สำคัญจะต้องหมั่นตรวจเช็กร่างกายมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่