โปรตีน เป็นสารอาหารกลุ่มพลังงานที่ร่างกายเด็กวัย 1-3 ขวบต้องการมาก เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายและสมองกำลังเจริญเติบโตเร็วมากอีกช่วงหนึ่งของชีวิต เด็กเล็กวัยนี้ต้องการพลังงานวันละ 1,000 กิโลแคลอรี สัดส่วนโปรตีนต่อวันไม่ควรเกินร้อยละ 15 ของพลังงานทั้งหมด หรือประมาณ 19 กรัมต่อวัน หรือเทียบเป็นปริมาณเนื้อสัตว์ประมาณ 3 ช้อนกินข้าว
แต่ในสารอาหารที่มีประโยชน์ก็มีโทษที่ต้องระมัดระวังด้วย เพราะหากเด็กได้รับโปรตีนมากเกินไป ไตของเด็กจะทำงานหนัก ส่งผลให้เด็กมีโอกาสโตเป็นคนอ้วน และมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCDs) หรือหากได้รับโปรตีนน้อยเกินไปก็อาจส่งผลให้แคระแกร็นได้
ประเด็นนี้มีข้อมูลรายงานการวิจัยสนับสนุน ดังผลสำรวจการได้รับพลังงานและสารอาหารหลักของเด็กไทยก่อนวัยเรียนอายุ 1-5 ขวบทั่วประเทศจำนวน 256 คน ช่วงปี 2554-2555 (Thai National Health Examination Survey IV) พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 เด็กไทยก่อนวัยเรียน
ได้รับโปรตีนมากกว่าเกณฑ์ที่แนะนำเกือบสองเท่า และมีข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยาในประเทศอังกฤษ พบว่าเด็กอายุ 21 เดือน ที่ได้รับอาหารกลุ่มพลังงานสูงจากโปรตีน จะมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักและดัชนีมวลกายที่มากขึ้น แต่ไม่สัมพันธ์กับความสูงที่เพิ่มขึ้น
พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ กุมารแพทย์ และผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็กบอกว่า เด็กเล็กที่ได้รับโปรตีนมากเกินไปจะเสี่ยงต่อภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
และเสี่ยงเป็นโรคในกลุ่ม NCDs ในวัยผู้ใหญ่ ส่วนเรื่องความสูง แม้ว่าโปรตีนจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อเพื่อการเจริญเติบโต แต่ความสูงคือการเติบโตของกระดูก ซึ่งโภชนาการสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตแข็งแรงของกระดูกคือแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินดี
แหล่งโปรตีนคุณภาพดีสำหรับเด็กเล็ก นอกจากเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ก็ยังมีนมและผลิตภัณฑ์นมรวมอยู่ด้วย การกินนมวันละ 2-3 แก้วหรือกล่องจะช่วยเติมเต็มโภชนาการที่เด็กได้รับไม่ครบถ้วนเพียงพอจากอาหารมื้อหลัก
นมสำหรับเด็กเล็กมี 2 ประเภท ได้แก่ นมวัว และนมดัดแปลงที่เติมสารอาหารซึ่งมีทั้งแบบผงและแบบยูเอชที โดยทั่วไป นมวัวมีโปรตีนสูงกว่านมเสริมสารอาหารสำหรับเด็กเล็กวัย 1-3 ขวบเกือบเท่าตัว
ดังนั้น หากอยากให้เด็ก ๆ ในการดูแลเติบโตอย่างมีสุขภาพดีก็ควรจัดโภชนาการให้เพียงพอและสมดุล ซึ่งคำแนะนำหลักการจัดอาหารโดยผู้เชี่ยวชาญบอกไว้ว่า เด็กเล็กควรกินไข่วันละฟองและดื่มนมทุกวัน กินปลา หมู ไก่ สลับกันไป หรือกินเต้าหู้ทดแทนเนื้อสัตว์ในบางมื้อ และควรได้กินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงด้วย เช่น ตับ เลือด ไข่แดง รวมทั้งผักใบเขียวเข้ม สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเพื่อป้องกันภาวะซีดจากโลหิตจาง