ภาวะปอดรั่ว ภัยเงียบอันตรายที่เกิดจากหลายสาเหตุ คนสูบบุหรี่จัดระวังให้ดี

Models. (Photo By BSIP/UIG Via Getty Images)
ปอดเป็นอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินหายใจ เมื่อปอดมีปัญหาหรือเกิดโรคขึ้นที่ปอดจะกระทบต่อร่างกายมาก หนึ่งในอาการที่น่ากลัวคือ “ภาวะปอดรั่ว” เป็นภัยเงียบที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่สูบบุหรี่หนัก วัยทำงานที่ได้รับมลพิษทางอากาศ หรือวัยรุ่นโตเร็ว ผู้ป่วยมักไม่ปรากฏอาการ จะรู้ตัวอีกทีเมื่อพบว่าเหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือไอแห้งเฉียบพลัน หากรักษาไม่ทันเวลามีโอกาสเสียชีวิตได้


นพ.ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยศาสตร์ทรวงอกผ่าตัดส่องกล้องปอด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า โรคปอดรั่ว คือ ภาวะที่ถุงลมในปอดแตก ทำให้อากาศรั่วเข้าไปแทรกอยู่ในช่องอก จนเบียดเนื้อปอดและหัวใจ ทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการหายใจ เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เพราะภาวะดังกล่าวเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากลมที่รั่วนั้นกดเบียดหัวใจอย่างรุนแรง

อาการและสัญญาณเตือนของโรคปอดรั่วนั้นแตกต่างกันตามอายุ สำหรับคนไข้ที่อายุน้อยมักมาด้วยอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน และไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ โดยที่ไม่มี

อาการไข้หวัดมาก่อน มีอาการไอแบบหาสาเหตุไม่ได้ แต่หากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือสูบบุหรี่จัด มักมาด้วยอาการเหนื่อยหอบ ยิ่งคนที่สูบบุหรี่จัดที่มีโรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง เนื้อปอดที่ไม่ดีอยู่แต่เดิมถูกกดเบียดก็จะเหนื่อยง่าย และเหมือนหายใจไม่สุด ซึ่งอาการเจ็บหน้าอกจะต่างจากคนที่เป็นโรคหัวใจ ถ้าผู้ป่วยโรคหัวใจจะรู้สึกเจ็บแน่น ๆ เหมือนมีอะไรมาทับมากด แต่ถ้าปอดรั่วจะมีอาการเจ็บแปล๊บในหน้าอกข้างใดข้างหนึ่งตามการหายใจ

ภาวะปอดรั่วแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ 1.ภาวะปอดรั่วแบบปฐมภูมิ (primary spontaneous pneumothorax : PSP) คือ โรคปอดรั่วในคนที่ไม่ได้มีตัวโรคที่เนื้อปอด ซึ่งมักเกิดในผู้ป่วยที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จนถึง 30 ปี หรือช่วงวัยรุ่นที่ผอมสูงโตเร็ว มักพบว่ายอดปอดส่วนบนเป็นถุงลมโป่งพองเฉพาะจุด ซึ่งปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่จากการวิเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้ คือ อาจเป็นจากพันธุกรรม หรือช่วงที่วัยรุ่นโตเร็ว ปอดกับช่องอกขยายตัวไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ยอดปอดเกิดถุงลมโป่งพอง อีกกลุ่มหนึ่งคือ คนที่เกิดภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) มีชื่อเรียกว่า โรคลมรั่วตามรอบเดือน (catamenial pneumothorax) เป็นภาวะที่มีเซลล์เยื่อบุมดลูกฝังในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีลมรั่วในขณะที่มีประจำเดือน พบได้ไม่บ่อย แต่ต้องไปรับการผ่าตัดและการรักษาด้วยฮอร์โมน

2.ภาวะปอดรั่วแบบทุติยภูมิ (secondary spontaneous pneumothorax : SSP) มักเกิดในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด และเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคปอดอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งมักพบว่าถุงลมโป่งพองจะเป็นแบบกระจาย เมื่อแตกออกมา ลมรั่วเข้าช่องอก อาการรุนแรงกว่าปอดรั่วแบบปฐมภูมิ เนื่องจากการทำงานของปอดเสียไป

สำหรับในประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มภาวะปอดรั่วแบบทุติยภูมิมีจำนวนมากกว่าภาวะปอดรั่วแบบปฐมภูมิ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มทุติยภูมิ คือ การสูบบุหรี่จัด จนเป็นสาเหตุให้เกิดถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่มีผลกระทบทำให้ถุงลมโป่งพองได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการแบบเฉียบพลัน

แนวทางการรักษาในอดีต คือ การรักษาครั้งแรกยังไม่ต้องผ่าตัด แค่ใส่สายระบาย 3-7 วัน รูรั่วสามารถหายไปได้เอง แต่ปัญหาคือโอกาสเป็นซ้ำสูงถึง 30% ในปัจจุบันเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการผ่าตัดปอดรั่วที่มีการพัฒนาด้านการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดแผลเล็กแผลเดียว ขนาดใกล้เคียงกับการใส่สายระบาย จึงมีผู้ป่วยต้องการผ่าตัดอาการปอดรั่วตั้งแต่ครั้งแรกมากขึ้น ซึ่งการผ่าตัดแผลเล็กจะมีแผลขนาด 2-3 เซนติเมตร ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว

“ข้อควรระวังภายหลังการผ่าตัด คือ ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ห้ามคนไข้ยกของหนัก เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้แผลผ่าตัดภายในปริได้ ขณะที่แผลผ่าตัดภายนอกจะหายสนิทภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ควรงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงแหล่งมลพิษต่าง ๆ ไม่ควรวิ่งมาราธอน หรือออกกำลังกายภายนอกอาคารในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และควรใส่หน้ากากป้องกันหากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร” นพ.ผดุงเกียรติแนะนำ