รู้ทัน “ปอดบวม” โรคคุ้นเคยที่ไม่ควรมองข้าม

ทั้งสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า (Coronavirus) ที่ทั้งโลกกำลังตื่นตัว รวมถึงสภาวะฝุ่นควันที่กำลังเผชิญ ล้วนมีผลต่อสุขภาพของเราในหลาย ๆ ทาง หนึ่งในนั้นคือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคปอดอักเสบ” หรือ “โรคปอดบวม” ที่จะทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจอึดอัด หายใจลำบาก ในรายที่มีความรุนแรงมาก อาจมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สว่าง แสงหิรัญวัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า โรคปอดอักเสบ หรือโรคปอดบวม เป็นการอักเสบของเนื้อปอดและหลอดลม เกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลัก คือ

1.การติดเชื้อ มีทั้งเชื้อแบคทีเรียนิวโมค็อกคัส (Pneumococcus) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสซาร์ส (Sars) รวมถึงเชื้อรา พยาธิ ฯลฯ

2.การไม่ติดเชื้อ เช่น การสำลักอาหารเข้าปอด การหายใจเอาฝุ่นควันเข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก

3.การแพ้ภูมิตัวเอง ภูมิต้านทานต่ำ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE) ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแฝด เด็กขาดสารอาหาร ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์นาน ๆ หรือในบางกรณีอาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน ฯลฯ

ลักษณะอาการของผู้ที่เป็นโรคปอดอักเสบ คือ ไอ มีเสมหะ มีไข้สูง อาจตัวร้อนตลอดเวลา หนาวสั่นมาก หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว

อาจเจ็บแปลบหน้าอกเวลาหายใจเข้า อาจไอแรงร้าวไปที่หัวไหล่หรือสีข้าง ซึ่งในการวินิจจัย แพทย์จะดูจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยจะใช้เครื่องตรวจฟังเสียงปอด หรืออาจจะต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น การเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย

ส่วนการรักษา แพทย์จะพิจารณาตามอาการและสาเหตุเป็นหลัก หากเป็นโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่พบ และนัดติดตามอาการเป็นระยะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เหนื่อยหอบรุนแรง เจ็บหน้าอก และรับประทานอาหารลำบาก อาจต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ย่อมช่วยให้ห่างไกลจากโรคปอดอักเสบได้ นอกจากนี้ การพบแพทย์เพื่อตรวจพิจารณาเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการป้องกัน เพราะโรคปอดอักเสบเป็นโรคที่ไม่ควรละเลย การตรวจพบในระยะแรกเริ่มและทำการรักษาอย่างถูกต้องจะช่วยบรรเทาให้ดีขึ้น และช่วยให้หายขาดอย่างรวดเร็ว