โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล็ก ต้องรีบรักษา

โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจจัดว่าพบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มโรคภูมิแพ้ทั้งหมด ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีมลพิษเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งทำให้การป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น

หากโรคเกิดกับผู้ใหญ่ก็ยังไม่แย่นัก เพราะผู้ใหญ่สามารถดูแลตัวเองได้ แต่หากโรคเกิดขึ้นกับเด็กตัวเล็ก ๆ พวกเขายังดูแลตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจมากเป็นพิเศษ

พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็กเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ เช่นเดียวกับโรคภูมิแพ้อื่น ๆ คือ

1.กรรมพันธุ์ หากพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ หรือโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ก็จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมากกว่าเด็กปกติที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้

2.สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ สุนัข แมว ละอองเกสร หรือสารก่อภูมิแพ้ซึ่งเป็นอาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี อาหารทะเล หรือสารระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป มลพิษต่าง ๆ และการติดเชื้อ

ในระบบทางเดินหายใจ เช่น อาร์เอสวี และไรโนไวรัส ก็ล้วนเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นสาเหตุร่วมกันในการเกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจในเด็กได้

โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจในเด็กที่พบบ่อยมี 2 โรค ได้แก่ โรคหืด และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

โรคหืด เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้ตั้งแต่เด็กวัยทารก ผู้ป่วยจะมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ หลอดลม มีอาการ ได้แก่ หายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ไอเรื้อรังช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย ซึ่งเกิดจากการที่มีหลอดลมตีบ

ส่วนโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคภูมิแพ้ที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเตาะแตะ คือ อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยอนุบาล โรคนี้เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูก ผู้ป่วยจะมีอาการคันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และอาจมีอาการร่วมของอวัยวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น คันตา คันในคอ หูอื้อ ร่วมด้วยได้

หลักในการรักษาโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็กมี 5 ข้อ คือ 1.หลีกเลี่ยงหรือควบคุมสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด 2.การดูแลสุขภาพทั่วไป คือ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบหมู่ 3.การใช้ยาบรรเทาอาการ โดยอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา 4.ล้างหรือพ่นจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูก คัดจมูก 5.ฉีดวัคซีนภูมิแพ้

มีข้อบ่งชี้ คือ หากหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ไม่ได้ หรือมีอาการรุนแรง หรือใช้ยาบรรเทาอาการแล้วไม่ได้ผล

หากคุมอาการของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจได้ไม่ดี จะเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคหืด หรือต่อมอะดีนอยด์และทอนซิลโต ภาวะนี้นำมาซึ่ง “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ” ซึ่งอาจเป็นอันตรายทำให้สมองขาดออกซิเจน มีผลต่ออวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น สมองและหัวใจ

ส่วนโรคหืด หากปล่อยให้อาการดำเนินไปโดยไม่ได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะอาการหืดกำเริบบ่อย และหากมีอาการหลอดลมตีบมากจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดออกซิเจน จนนำมาซึ่งภาวะการหายใจล้มเหลวเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

หากลูกมีอาการของโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน และยังช่วยเพิ่มโอกาสให้หายขาดได้ หากรักษาตั้งแต่ยังมีอาการไม่มาก