เจาะลึก “ยากูซ่า” อำนาจ-เงินตรา-ธุรกิจสีดำ กลุ่มอิทธิพล 300 ปีของญี่ปุ่น

ภาพจากเอเอฟพี

เรื่องโดย กนกวรรณ มากเมฆ

 

กลายเป็นเรื่องฮือฮาในประเทศไทย จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับกุม นายชิเกฮารุ ชิราอิ อายุ 72 ปี สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีข้อมูลว่าเป็นหัวหน้าแก๊งยากูซ่า “ยามากุชิ-กุมิ” แก๊งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ผู้ต้องหาฆ่านายคาซิฮึโกะ โอโตเบะ หัวหน้าแก๊ง “คามิยะ” แก๊งคู่อริและหนีมายังประเทศไทย แต่สื่อญี่ปุ่นหลายสำนักยืนยันว่านายชิเกฮารุไม่ใช่หัวหน้าแก๊ง และเป็นอดีตสมาชิกแก๊ง รวมไปถึงนายชิเกฮารุก็ยังให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

กระแสดังกล่าวทำให้คนไทยให้ความสนใจคำว่า “ยากูซ่า” ขึ้นมาอีกครั้ง “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มแก๊งที่มีอิทธิพลในญี่ปุ่นมาให้ผู้อ่านได้ลองรู้จักกัน

รู้จักกับ “ยากูซ่า”

“ยากูซ่า” (Yakuza) เป็นชื่อเรียกแก๊งก่ออาชญากรรมในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่แก๊งเดียว แต่แบ่งออกเป็นหลายแก๊ง ลักษณะจะคล้ายกับมาเฟีย ซึ่งอาชญากรเหล่านี้เรียกได้ว่ามีบทบาทกับสังคมญี่ปุ่นมากมาย ตั้งแต่นักพนัน, ทำธุรกิจการค้าประเวณี ไปจนถึงมีบทบาทในการเมืองระดับสูงและมีอิทธิพลทางการเงินด้วย

ยากูซ่า มีอีกชื่อว่า โกคุโด (gokudō) ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกพวกเขาด้วยศัพท์ทางกฎหมายว่า โบเรียวคุดัน (bōryokudan) หรือ “violence groups” เป็นกลุ่มแก๊งหรือองค์กรที่ก่ออาชญากรรมคล้ายมาเฟีย แต่สำหรับองค์กรอาชญากรรมที่มีรากฐานมายาวนาน คำดังกล่าวเป็นการหยามศักดิ์ศรีรุนแรง เพราะความหมายของโบเรียวคุดันนั้นผลักยากูซ่าลงเป็นเพียงมิจฉาชีพที่อาศัยความรุนแรงก่อเหตุธรรมดาๆ

ส่วนคำว่า “ยากูซ่า” เดิมทีมาจากการเล่นไพ่ของญี่ปุ่น “โออิโช-คาบุ” (Oicho-Kabu) ที่คล้ายคลึงกับไพ่บาคารา

โดยค่าของไพ่จะถูกบวกเข้าด้วยกัน และตัวเลขสุดท้ายของผลรวมจะถูกนับเป็นคะแนน ไพ่ที่ถือในมือที่แย่ที่สุดในเกมคือ ชุดของเลข แปด, เก้า และสาม ซึ่งจะให้ค่ารวมกันเท่ากับ 20 และคะแนนก็จะได้เท่ากับศูนย์นั่นเอง (ตัวเลขสุดท้ายของ 20 คือ 0) รูปแบบการนับดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั้น เรียกตัวเลขเหล่านี้ว่า ยา กู และซ่า ตามลำดับ (8, 9 และ 3) ด้วยเหตุนี้จึงเป็นต้นกำเนิดของคำว่า “ยากูซ่า” ส่วนในการนับตัวเลขของญี่ปุ่นสมัยใหม่นั้น 8, 9 และ 3 จะอ่านออกเสียงว่า “ฮาจิ-คุ-ซัน” ซึ่งเป็นชื่อที่ในบางครั้งยากูซ่า ก็ถูกเรียกในปัจจุบันนี้

พวกยากูซ่าเลือกใช้ชื่อนี้เพราะว่า คนที่ถือไพ่ ยา-กู-ซ่า (8, 9 และ 3) ในมือนั้นต้องการทักษะมากที่สุด และเป็นผู้ที่มีโชคน้อยที่สุดเพื่อที่จะชนะ ดังนั้นผู้ที่ชำนาญเท่านั้นที่จะสามารถแก้เกมเพื่อให้ชนะได้ ชื่อยากูซ่านี้ยังได้ถูกใช้เพื่อแสดงถึงความโชคร้ายที่อาจจะได้รับหากทำการต่อต้านกลุ่มด้วย

ยากูซ่าในยุคแรกเริ่ม

ต้นกำเนิดของยากูซ่านั้นเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายได้ชัดเจน เพราะแต่ละแก๊งก็มีที่มาจากหลากหลายแห่ง แต่ในมุมมองของพวกเขา ยากูซ่ามีเชื้อสายมาจากผู้มีเกียรติ คล้ายกับโรบินฮู้ดที่ปกป้องหมู่บ้านจากการโจรกรรมเร่ร่อน

แต่นักวิชาการบางคนค้นพบว่าต้นกำเนิดของพวกเขาเริ่มต้นที่ คาบุกิโมโน – kabukimono (พวกขี้เมา) หรือยังเป็นที่รู้จักว่าเป็น ฮาตาโมโตะ ยักโกะ – hatamoto yakko (คนรับใช้ของโชกุน) กลุ่มคนเหล่านี้เป็น โรนิน หรือเป็นพวกซามูไรที่ไร้เจ้านาย เกิดขึ้นหลังจากช่วงวุ่นวายทางการเมืองของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 17 มักจะทำทรงผมและการแต่งตัวแปลกๆ มีกิริยาที่รุนแรง พูดจาด้วยคำหยาบคาย และมีคำแสลงเฉพาะ มักจะถือดาบยาว อ้างตัวเป็นผู้รับใช้โชกุน เรียกร้องค่าคุ้มครองจากชาวบ้าน ประกาศตัวเป็นผู้พิทักษ์ รักษาระเบียบ และป้องกันชุมชนจากผู้คุกคามภายนอก เชื่อว่าตนเป็นประหนึ่งวีรบุรุษที่ยืนหยัดอยู่ข้างผู้ยากไร้และคนที่ไม่มีทางสู้ เช่นเดียวกับวีรบุรุษ

อย่างไรก็ตาม ตามประวัติศาสตร์หลายที่บอกว่า ยากูซ่าเริ่มต้นขึ้นในสมัยโชกุนโทกุงะวะ (ค.ศ.1603-1868) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มที่แยกกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มแรกมีชื่อว่า เทคิยะ (tekiya) เป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ที่เดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ขายสินค้าคุณภาพต่ำตามงานเทศกาลและตลาด

เทคิยะจำนวนมากจะอยู่ในชนชั้น บุระคุมิน คือกลุ่มที่ถูกขับไล่ออกจากชนชั้นเดิม คือเป็นชนชั้นล่างสุดในระบบศักดินาของญี่ปุ่น

รูปถ่ายครอบครัวแก๊งยามากุชิ-กุมิ – ภาพจากข่าวสด

ในช่วงต้นศตวรรษ 1700 พวกเทคิยะเริ่มจัดตั้งกลุ่มของตัวเองให้เป็นกลุ่มที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น จนมีเทคิยะหลายกลุ่ม ภายใต้การนำของหัวหน้ากลุ่มและสมาชิก โดยสมาชิกของกลุ่มยังเพิ่มขึ้นจากกลุ่มคนที่ถูกขับไล่จากชนชั้นที่สูงกว่า พวกเทคิยะเริ่มเข้ามามีบทบาทในอาชญากรรมด้วยการคอยเก็บเงินพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของตามเทศกาล และหาเงินด้วยการคุ้มครองทำเลขายสินค้าของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่จ่ายเงินให้ เพื่อไม่ให้ใครมาแย่งที่ขายของ โดยบางกลุ่มจะมีการจ้างคนเก็บกวาดร้านให้พ่อค้าแม่ค้าหลังเลิกงานด้วย

จนระหว่างปี ค.ศ.1735-1749 รัฐบาลโชกุนพยายามสงบศึกสงครามระหว่างเทคิยะแต่ละกลุ่ม และลดปริมาณการทุจริตของพวกเขา จึงแต่งตั้ง โอยะบุน (Oyabun) หรือหัวหน้าอย่างเป็นทางการ โดยโอยะบุนจะได้รับอนุญาตให้ใช้นามสกุลและถือดาบ ซึ่งก่อนหน้านี้อนุญาตให้เฉพาะซามูไรเท่านั้นที่ใช้ได้

ทั้งนี้ โอยะบุน มีความหมายว่า “พ่อแม่อุปถัมภ์” ซึ่งหมายถึงตำแหน่งหัวหน้าของพวกเขาซึ่งเปรียบดั่งหัวหน้าครอบครัวของพวกเทคิยะ

ยากูซ่ากลุ่มที่สองที่เกิดขึ้นคือกลุ่ม บาคุโตะ (bakuto) หรือนักพนัน ซึ่งการพนันเป็นสิ่งต้องห้ามในช่วงยุคโทกุงะวะ และยังคงผิดกฎหมายในญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน โดยพวกบาคุโตะนี้จะมีรอยสักสีทั่วร่างกาย ซึ่งนำมาสู่การสักสีทั่วร่างกายในยากูซ่ายุคปัจจุบัน

จากธุรกิจหลักของบาคุโตะที่เริ่มจากการพนัน พวกบาคุโตะยังแตกธุรกิจของเขาออกไปเป็นปล่อยเงินกู้, คุ้มครองบาร์, สถานบริการและซ่องโสเภณี, รับจ้างทวงหนี้ และกิจการผิดกฎหมายอื่นๆ อีกด้วย

แม้กระทั่งในปัจจุบัน แก๊งยากูซ่าที่มีความเฉพาะเจาะจงก็อาจจะให้คำนิยามตัวเองว่าเป็นเทคิยะหรือบาคุโตะ ซึ่งขึ้นอยู่กับการวิธีการหาเงินส่วนใหญ่ของพวกเขา ขณะเดียวกัน พวกเขายังคงรักษาประเพณีเก่าแก่ของกลุ่มไว้ด้วย

โครงสร้างของแก๊งยากูซ่า

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ายากูซ่ามีหัวหน้าอย่างเป็นทางการเรียกว่าโอยะบุน การนับถือกันนั้นก็จะนับถือกันตามความอาวุโส ซึ่งสมาชิกของแก๊งจะตัดขาดออกจากครอบครัว และมอบความจงรักภักดีให้กับหัวหน้าแก๊ง ให้ความเคารพสมาชิกในแก๊งเหมือนดั่งคนในครอบครัว

ทั้งนี้ ยากูซ่าส่วนใหญ่จะมีสมาชิกเป็นผู้ชาย โดยมีผู้หญิงจำนวนน้อยมากๆ ที่ได้รับการยอมรับเป็นภรรยาของหัวหน้าแก๊ง โดยหญิงในแก๊งยากูซ่าที่โด่งดังคนหนึ่งคือภรรยาของ คาซูโอะ ทาโอกะ หัวหน้ารุ่นที่ 3 ของแก๊งยามากุชิ-กุมิ ซึ่งหลังเขาเสียชีวิตลงในต้นทศวรรษที่ 1980 ภรรยาของเขาก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแก๊งแทน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม

รูปถ่ายครอบครัวแก๊งยามากุชิ-กุมิ / ภาพจากข่าวสด

อย่างไรก็ตาม ยากูซ่ามีโครงสร้างแก๊งที่ซับซ้อน หลักๆ แล้วจะปกครองแบบพีระมิด คือมีหัวหน้าใหญ่ สายตรงรองลงมาจะเรียกว่า saiko komon (ที่ปรึกษาอาวุโส) และ o-honbucho (หัวหน้าของสำนักงานใหญ่) สายที่สองคือ wakagashira ที่คอยควบคุมแก๊งหลายแก๊งในภูมิภาค กระจายอำนาจไปตามลำดับขั้น แต่ละสายก็จะมีหัวหน้าย่อย, รองหัวหน้า, ที่ปรึกษา, ฝ่ายบัญชี และลูกน้อง ซึ่งขั้นล่างๆ นั้นเรียกว่า โคบุน (kobun) คือลูกน้องสุดภักดีที่พร้อมสละชีพเพื่อหัวหน้า

จากการจัดโครงสร้างของยากูซ่า สามารถยากูซ่าออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.Family Yakuza หรือ ยากูซ่าที่มีการปกครองในแบบครอบครัว แบ่งอันดับชั้นตามผลงาน หรือจากการแต่งตั้งจากหัวหน้าใหญ่ การปกครองจะมีนายใหญ่ที่เรียกว่า “พ่อใหญ่” อันดับต่อมาคือ “พ่อเล็ก” และต่อมาคือ “ลูกๆ ” โดยสมาชิกทุกคนไม่มีคำว่า “กลัวตาย” และพร้อมจะรับคำสั่งจากพ่อใหญ่ โดยจะไม่ทำให้เกิดการผิดพลาด การจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มนี้จะมีการดื่มสาเกสาบานจากแก้วเดียวกันด้วย

2.Lone Yakuza หรือ ยากูซ่าไร้สังกัด จะไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มใด หรืออาจจะมีการรวมกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นโดยไม่มีการปกครองหลายชั้นเหมือนอย่างแรก แต่จะเป็นผู้มีอิทธิพลที่คอยเก็บค่าคุ้มครอง

สมาชิกยากูซ่า มาจากไหน?

การจะเข้ามาเป็นสมาชิกแก๊งยากูซ่าได้ พวกเขาไม่ได้สนใจว่าสมาชิกใหม่จะมาจากที่ไหน หรือมาจากชนชั้นอะไร สมาชิกของยากูซ่าอาจจะเป็นวัยรุ่นที่ถูกทอดทิ้งจากพ่อแม่ของเขา หรืออาจจะเป็นวัยรุ่นที่ได้รับความกดดันอย่างมากจากโรงเรียน หรือเป็นพวกผู้อพยพจากเกาหลีหรือจีน เป็นต้น

เจ้านายที่ใกล้ตัวของพวกยากูซ่ามากที่สุดนั้นจะกลายมาเป็นเหมือนพ่อ และเพื่อนของพวกเขาจะกลายมาเป็นเพื่อนพี่น้องกัน สิ่งที่ยากูซ่าเสนอให้ไม่ใช่เพียงมิตรภาพ แต่ยังให้เงินตรา ฐานะ และอำนาจ อย่างไรก็ตาม ไม่มีวิธีการเข้าสู่การเป็นสมาชิก หรือข้อกำหนดใดๆ แต่เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว สิ่งที่ตามมาคือต้องมีความเคารพเชื่อฟังต่อผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า

จำนวนยากูซ่า

ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ยากูซ่าแบบดั้งเดิมคือเทคิยะ/บาคุโตะ เริ่มลดลง ขณะที่ประชากรทั้งหมดของประเทศถูกระดมเข้าร่วมในสงคราม และสังคมญี่ปุ่นก็มาอยู่ใต้ความเข้มงวดของรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นสงคราม ยากูซ่าก็กลับมาอีกครั้ง

จากข้อมูลของตำรวจประมาณการว่า สมาชิกของแก๊งยากูซ่านั้นขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในต้นทศวรรษ 1960 มียากูซ่าพุ่งสูงสุดถึง 184,000 คน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของตำรวจญี่ปุ่นในขณะนั้นเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ในต้นศตวรรษที่ 21 จำนวนของพวกเขาลดลงเหลือเพียงประมาณ 80,000 คน และในปี 2015 ยากูซ่านั้นเหลืออยู่ราว 21 กลุ่มใหญ่ๆ สมาชิกรวมกว่า 53,000 คน โดย 3 กลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ

1.ยามากุชิ-กุมิ แก๊งที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกเกือบครึ่งหนึ่งของยากูซ่าทั้งหมด คือประมาณ 23,400 คน โดยเป็นแก๊งที่มีต้นกำเนิดจากเมืองโกเบ ก่อนจะแผ่ขยายไปทั่วญี่ปุ่น รวมถึงยังขยายเครือข่ายไปในเอเชียและสหรัฐอเมริกา โดยโอยะบุนหรือหัวหน้าใหญ่คนปัจจุบันของแก๊งคือ ชิโนบุ สึคาสะ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เคนอิชิ ชิโนดะ ซึ่งเขาทำตามนโนบายการขยายตัว และเพิ่มเครือข่ายในโตเกียวมากขึ้น

รูปถ่ายของสมาชิกแก๊งยามากุชิ-กุมิ ในเมืองโกเบ ถ่ายไว้เมื่อปี 2531 โดยนายโยชิโนริ วาตานาเบ เป็นหัวหน้ารุ่นที่ 5 ของแก๊ง / เอพี

2.ซุมิโยชิ-กาอิ แก๊งใหญ่อันดับ 2 จากโอซาก้า มีสมาชิกราว 8,500 คน หัวหน้าคนปัจจุบันคือ อิซาโอะ เซกิ

3.อินะงะวะ-กาอิ มีสมาชิกประมาณ 6,600 คน มีฐานที่ตั้งอยู่ในโตเกียว-โยโกฮาม่า และเป็นหนึ่งในยากูซ่ากลุ่มแรกๆ ที่ขยายเครือข่ายในต่างประเทศ

ลักษณะภายนอกของยากูซ่า

ข้อมูลบางส่วนอธิบายลักษณะของยากูซ่าในอดีตว่า จะเป็นการแต่งตัวที่ไม่เหมือนใคร สมาชิกมักจะสวมแว่นกันแดด สวมชุดสูทที่มีสีสันเพื่อให้ประชาชนรู้ทันทีว่าเขาเป็นอะไร

แม้แนวทางการดำเนินชีวิตของพวกเขาจะแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากพวกยากูซ่าจะเย่อหยิ่ง มีท่าทางหยาบกระด้าง แตกต่างจากชาวญี่ปุ่นทั่วไปที่มีท่าทางสงบเสงี่ยมและไม่อวดดีในการทำธุรกิจของตน แต่ในบางครั้งยากูซ่าจะแต่งตัวเหมือนคนปกติทั่วไป และเมื่อมีความจำเป็นจะโชว์รอยสักเพื่อบ่งบอกสังกัดของตัวเอง ในบางครั้งพวกเขายังสวมเข็มกลัดเครื่องหมายบนคอเสื้อนอก รวมไปถึงแก๊งยากูซ่าแก๊งหนึ่งจะพิมพ์จดหมายข่าวรายเดือน เพื่อแจ้งข่าวเกี่ยวกับการถูกจับกุม, การแต่งงาน, งานศพ, การฆาตกรรม และกวีจากผู้นำ

“รอยสัก” สัญลักษณ์ของยากูซ่า

อย่างที่เคยเห็นกันว่าสมาชิกแก๊งยากูซ่านั้นจะมีรอยสักสี โดยบางคนจะสักเป็นรูปมังกร, ปลาคาร์พ, เทพเจ้าจีน, ตัวละครในเทพนิยายที่มีความแข็งแกร่ง โดยมักจะสักที่หลัง, ไหล่, ต้นแขน หรือจุดใต้ร่มผ้าอื่นๆ บ่อยครั้งที่สถานที่เดียวที่จะเห็นรอยสักของยากูซ่าได้ก็คือโรงอาบน้ำสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม พวกยากูซ่ามักจะสักรอยสักที่เป็นสัญลักษณ์ของแก๊ง ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการสักสีในยากูซ่าเริ่มมาจากพวกบาคูโตะ ที่จะสักเป็นรูปวงแหวนสีดำรอบแขนสำหรับการก่ออาชญากรรมแต่ละครั้ง ภายหลังการสักก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง เพราะอาจต้องใช้เวลากว่า 100 ชั่วโมงในการสักทั่วแผ่นหลัง

ยากูซ่าส่วนใหญ่มักจะสักทั่วตัว โดยรอยสักนี้ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า อิเระซูมิ และยังคงเป็นการสักด้วยมือเท่านั้น คือไม่ใช้เครื่องสักนั่นเอง เป็นการนำหมึกเข้าสู่ผิวหนังโดยไม่ใช้ไฟฟ้า เข็มที่ใช้สักอาจเป็นไม้ไผ่หรือเหล็ก ซึ่งขั้นตอนการสักนี้มีราคาแพง เจ็บปวด และกว่าจะเสร็จสมบูรณ์อาจต้องใช้เวลาหลายปี

ภาพจากเอเอฟพี

เมื่อยากูซ่ามานั่งเล่นไพ่โออิโช-คาบุ ด้วยกัน พวกเขามักจะถอดเสื้อแล้วเอามาพันรอบเอว ทำให้พวกเขาสามารถโชว์รอยสักให้คนอื่นๆ เห็น ซึ่งน้อยครั้งนักที่ยากูซ่าจะโชว์รอยสักให้กันและกันดู พวกเขาจะปิดไว้ใต้ร่มผ้าเหมือนที่ไม่ให้สาธารณชนเห็น

ชาวญี่ปุ่นทั่วไปส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงการสัก เพราะอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเกี่ยวพันกับแก๊งยากูซ่าหรือเป็นสมาชิก นอกจากนี้ คนที่มีรอยสักทั่วร่างกายจะไม่ได้รับอนุญาตให้อาบน้ำในที่สาธารณะ ถึงแม้จะมีบางคนบอกว่าไม่ยุติธรรม เพราะไม่ใช่ว่าคนสักทั่วร่างกายทั้งหมดจะเป็นยากูซ่า และก็เป็นยากูซ่าบางคนเท่านั้นที่สักทั่วร่างกาย แต่กลับมีคนเอาสองสิ่งนี้มาเชื่อมโยงกันในภาพยนตร์

และเนื่องจากการที่รอยสักมีความเกี่ยวข้องกับยากูซ่า ทำให้บางครั้งช่างสักที่สักให้ยากูซ่าจะถูกตำรวจเรียกมาสอบถามในการสืบคดีอาชญากรรม

“ตัดนิ้ว” คำขอโทษจากสมาชิก

ประเพณีหนึ่งที่สำคัญอีกหนึ่งของยากูซ่า คือ ยูบิทสึเนะ (Yubitsume) หรือ การตัดนิ้วออกไป 1 ข้อ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความสำนึกผิดหรือเป็นการแสดงคำขอโทษ ซึ่งเมื่อเกิดความผิดครั้งแรก ผู้ที่ทำผิดจะต้องตัดข้อบนสุดของนิ้วก้อยข้างซ้าย นำกระดาษมาห่อส่วนที่ตัดออกและมอบให้แก่หัวหน้า เพื่อขอให้หัวหน้าให้อภัย และหากทำผิดอีก ก็จะกลายมาเป็นนิ้วก้อยอีกข้าง ทำให้จะเห็นว่ายากูซ่าในปัจจุบันบางคนมีนิ้วไม่ครบ

จุดเริ่มต้นของการตัดนิ้วเริ่มจากยากูซ่ากลุ่มบูคาโตะ ซึ่งเป็นนักพนัน โดยหากพวกเขาไม่สามารถจ่ายหนี้พนันได้ก็จะต้องถูกตัดนิ้วก้อย ทำให้การพนันกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในญี่ปุ่น

ภาพจากเอเอฟพี

และสำหรับยากูซ่า ผลของการถูกตัดนิ้วจะทำให้พวกเขาไม่สามารถถือดาบได้ถนัดเช่นเคย แนวคิดก็คือหากคนที่จับดาบได้ไม่ถนัดแล้วเขาก็ต้องมองหาความคุ้มครองจากคนอื่น การกระทำนี้ได้ทำเพื่อเป็นการขอโทษต่อการไม่เชื่อฟัง และสามารถทำเพื่อชดเชยการกระทำผิดอื่นๆ

การทำงานยากูซ่า

การทำงานยากูซ่านั้นเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งค้ายาเสพติดข้ามชาติ, ค้ามนุษย์, ฮั้วประมูล, ฟอกเงิน, ปล่อยเงินกู้ หรือลักลอบค้าอาวุธ

นอกจากนี้ ยากูซ่ายังเข้ามามีอิทธิพลกับการเมืองของประเทศ โดยปีเตอร์ เฮสส์เลอร์ เขียนในเดอะ นิวยอร์กเกอร์ ว่า “นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างน้อย 1 คน มีการเข้าสังคมกับยากูซ่า และนักการเมืองก็มีการติดต่อกับกลุ่มอาชญากรเพื่อที่จะทำลายอาชีพอื่นๆ” โดยในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 นายชิซูกะ คาเมอิ รัฐมนตรีกระทรวงส่งออกในขณะนั้น ยอมรับว่าเขารับเงินจากบริษัทของยากูซ่า แต่เขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมใดๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเสียชื่อเสียง

ยากูซ่ายังอาศัยคอนเน็กชั่นทางการเมืองหรือการข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น ในเรื่องสัญญาก่อสร้าง การไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ และหลีกเลี่ยงภาษี แลกเปลี่ยนกับเงินจากยากูซ่าและความช่วยเหลือจากยากูซ่าเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง และหากนักการเมืองยืมเงินจากยากูซ่าเพื่อมาใช้หาเสียง นักการเมืองจะต้องคืนเงินแก่ยากูซ่าเป็น 2 เท่าหากเขาชนะการเลือกตั้ง ซึ่งยากูซ่าจะให้เงินแก่นักการเมืองหลังจากที่นักการเมืองเชิญยากูซ่าไปงานแต่งงาน เสมือนว่ามอบเงินให้เป็นการช่วยงาน

ความดีจากอาชญากร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยากูซ่ายังเข้ามาทำธุรกิจที่ถูกกฎหมายด้วย เช่น การเข้าซื้อหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่, ดำเนินกิจการที่ถูกกฎหมาย เช่น ธุรกิจธนาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์

ที่น่าสนใจคือ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่โกเบเมื่อ 17 มกราคม ค.ศ.1995 ยากูซ่าแก๊งยามากุชิ-กุมิ ได้กลายมาเป็นยากูซ่าแก๊งแรกที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวในเมืองบ้านเกิดของแก๊งนี้ นอกจากนี้ หลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ยากูซ่าจากหลากหลายกลุ่มได้ส่งสิ่งของช่วยเหลือเข้ามาในพื้นที่ประสบภัย

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของยากูซ่าก็คือการปราบปรามอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ โดยในโกเบและโอซาก้าซึ่งเป็นเมืองที่ยากูซ่ายังมีอิทธิพล จนกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่โดยทั่วไปแล้วมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเหล่าโจรเล็กๆ ไม่กล้าก่อเหตุในพื้นที่ของยากูซ่า

แม้ว่ายากูซ่าจะมีประโยชน์ทางสังคมแบบแปลกๆ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามปราบปรามยากูซ่าแก๊งต่างๆ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยในเดือนมีนาคม 1995 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายต่อต้านการฉ้อโกงที่เรียกว่า พระราชบัญญัติการป้องกันกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยสมาชิกแก๊งอาชญากร

ในปี 2008 ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์โอซาก้า ได้กวาดล้างบริษัทที่ดำเนินการโดยยากูซ่าทั้งหมด และตั้งแต่ปี 2009 ตำรวจทั่วประเทศก็ออกจับกุมหัวหน้าแก๊งยากูซ่า และปิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแก๊ง

แม้ว่าในทุกวันนี้ตำรวจจะพยายามควบคุมกิจกรรมของยากูซ่าอย่างเข้มงวด แต่ดูเหมือนว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่ยากูซ่าจะหายไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขายังคงอยู่มาเป็นเวลากว่า 300 ปี และยังมีความเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลากหลายด้าน

 

ภาพบางส่วนจากเว็บไซต์ ข่าวสด